FootNote:การเมืองเรื่องของ การต่อรอง เลือกตั้งซ่อม สงขลา กับ ชุมพร
ท่าทีระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์ ในบรรยากาศแห่งการเลือกตั้งซ่อม ไม่ว่าจะที่เขต 1 ชุมพร ไม่ว่าจะที่เขต 6 สงขลา มากด้วยเงื่อนแง่อันสลับซับซ้อนในทางการเมือง
แม้จะยืนยันในการส่งลงชิงที่เขต 6 สงขลา แต่ก็ละเว้นการส่งลงชิงที่เขต 1 ชุมพร
สะท้อนให้เห็นว่า ข้อเสนอในเชิงเรียกร้องเรื่อง ‘มารยาททางการเมือง’ ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน อันมาจากพรรคประชาธิปัตย์อาจมีการขานรับ แต่เป็นการขานรับเพียงครึ่งเดียว
นี่ย่อมแตกต่างไปจากท่าทีของพรรคพลังประชารัฐ เมื่อมีการเลือกตั้งซ่อมที่นครศรีธรรมราช ยิ่งเมื่อมีการแต่งตั้ง นายสุชาติ ชมกลิ่น เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งยิ่งสลับซับซ้อนเป็นพิเศษ
เท่ากับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่เข้าไปแสดงบทบาทในฐานะเลขาธิการพรรคอย่างเต็มเปี่ยม เหมือนกับเป็นประนอมการเมือง
ประนอมโดยการพักยก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ชั่วคราว
ขณะเดียวกัน ก็เป็นการขยายบทบาทของ นายสุชาติ ชมกลิ่น ให้โดดเด่นขึ้นมาทดแทน
ท่าทีครึ่งๆกลางๆของพรรคพลังประชารัฐ ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งจากปมเก่าและปมใหม่ในท่าม กลางการเจรจาต่อรอง
คล้ายกับพรรคพลังประชารัฐจะยอมลดข้อเพื่อแสดงไมตรีให้กับพรรคประชาธิปัตย์อย่างเป็นพิเศษ
ในบรรยากาศที่พรรคประชาธิปัตย์เพิ่งเลือก นายเดชอิศม์ ขาวทอง ขึ้นเป็นรองหัวหน้าพรรคกำกับและรับผิดชอบงานการเมืองภาคใต้อย่างเบ็ดเสร็จ
และฉายชี้ให้เห็น ‘ไมตรี’ ระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับกลุ่มของ นายชุมพล จุลใส อย่างเป็นพิเศษและสุดยอด
เหมือนกับมี ‘ข้อตกลง’ ทางการเมืองที่จะตามมาใน ‘อนาคต’
ปฏิบัติการทางการเมืองเช่นนี้ อาจเป็นเรื่องแหลมคมหากมองจากบรรดาคอการเมืองรุ่นเก่า ที่ดำเนินไปในลักษณะการเกี้ยเซียะข้ามจังหวัดข้ามพรรค คือการยื่นหมู ยื่นแมวระหว่างกันในทางการเมือง
กลยุทธ์เช่นนี้อาจประสบผลสำเร็จสำหรับการเมืองยุคเก่า แต่จะมีประสิทธิภาพหรือไม่ต่อการเมืองยุคใหม่จำเป็นต้องให้เวลา
ไม่ว่าจะเป็นที่ ‘ชุมพร’ ไม่ว่าจะเป็นที่ ‘สงขลา’