การเสียชีวิตของชายหนุ่มที่บอกว่าเขาถูกล้อว่าดู “ตุ้งติ้ง” เกินไปนำมาสู่การพูดคุยถกเถียงเรื่องค่านิยมเรื่องเพศในสังคมจีน อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญไม่คิดว่ามันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรเนื่องจากรัฐจีนเองมีท่าทีต่อต้านผู้ชายที่มีลักษณะท่าทางอ่อนช้อยเหมือนผู้หญิง
“เด็กผู้ชายควรที่จะซน มีเรื่องชกต่อย แล้วก็พูดสบถ เด็กผู้ชายที่เงียบและสุภาพเกินดูสาวเกินไปและก็ถูกเรียกว่าเป็นสาว”
นี่คือสิ่งที่ โจว เผิง ชายวัย 26 ปี เขียนในจดหมายลาตายบนช่องทางออนไลน์ก่อนที่คนจะพบร่างไร้ชีวิตของเขาในมณฑลเจ้อเจียง
จดหมายลาตายฉบับดังกล่าวยังพูดถึงการที่เขาเป็นเด็กที่ “ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง” ในต่างจังหวัดโดยพ่อแม่ผู้อพยพที่ย้ายเข้าไปทำงานในตัวเมือง
แต่สิ่งที่ทำให้คนจีนคนอื่น ๆ รู้สึกสะเทือนใจคือการบรรยายว่าเขาถูกกลั่นแกล้งอย่างไรบ้าง เขาบอกว่าตอนเด็ก ๆ ตัวเองอาจจะดูเหมือนเป็นเด็กผู้หญิง แต่ก็ไม่ได้พยายามจะเลียนแบบท่าทางผู้หญิง
“แต่ผมก็ถูกแกล้งที่โรงเรียน ถูกละเมิดด้วยวาจา ถูกขับไล่ ข่มขู่ และก็โดนดูถูกด้วยคำต่าง ๆ นานา” โจว เผิง ระบุ เขาเป็นช่างภาพซึ่งใช้ชื่อนามแฝงว่า ลูเด่าซึน ด้วย
ตำรวจไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรไปกว่าบอกว่านี่ไม่ใช่เหตุฆาตกรรม แต่สำหรับผู้ใช้เวยป๋อ (หรือเวยโป๋ โซเชียลมีเดียยอดนิยมของจีน) จำนวนมาก นี่ดูเหมือนเป็นเหตุฆ่าตัวตายอันน่าสะเทือนใจ
โพสต์หนึ่งระบุว่า “มีเด็กผู้ชายอีกกี่คนที่ถูกหัวเราะเยาะเพราะท่าทางและเสียงที่อ่อนโยน เราเป็นใครถึงจะไปกำหนดได้ว่าอะไรเป็นเรื่องที่ยอมรับได้หรือยอมรับไม่ได้ พวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิดเลย”
อีกโพสต์หนึ่งบอกว่ากรณีนี้ทำให้นึกถึงความทรงจำ “อันน่าละอาย” ที่เขาและเพื่อนร่วมชั้นคอยไปแกล้งเพื่อนผู้ชายคนหนึ่งที่พวกเขาคิดว่าดู “ตุ้งติ้ง”
“เมื่อนึกย้อนกลับไป ผมรู้สึกอับอายมาก เราแค่ล้อเล่นกัน แต่มันอาจทำให้คนคนหนึ่งสะเทือนใจมาก ๆ”
ในจีนมีการเก็บข้อมูลเรื่องการกลั่นแกล้งคนอยู่น้อยแต่มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งโดยวารสารบริการด้านเด็กและวัยรุ่น (Children and Youth Services Review) จากปี 2019 ที่ส่งแบบสอบถามไปยังเด็กวัยรุ่น 3,000 คน ผู้วิจัยพบว่า 35% ของผู้ที่ตอบแบบสอบถามบอกว่าตัวเองเป็นเหยื่อที่ถูกกลั่นแกล้งในลักษณะที่เจอกับตัวจริง ขณะที่ 31% บอกว่าถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์
งานวิจัยชิ้นนี้บอกอีกว่า การอยู่โรงเรียนประจำ ผลการเรียนที่ไม่ดี และการมีความสัมพันธ์กับพ่อแม่ที่ไม่ดี เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้เด็กถูกแกล้ง
- สาวนักต่อสู้ #MeToo ที่ทางการจีนพยายามปิดปาก
- จีนใช้กระบวนการอะไรบ้างเซ็นเซอร์นักเทนนิสดัง
- “2,500 คนในร่างเดียว” หญิงถูกพ่อทารุณกรรมมีหลายบุคลิกเพื่อความอยู่รอด
- โลกโซเชียลจีนสงสัย หลังดาราสาวหายตัวปริศนา
ห้าม “ตุ้งติ้ง”
การไม่เปิดใจรับผู้ชายที่ดู “ตุ้งติ้ง” ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมจีนเท่านั้น แต่รัฐบาลจีนสนับสนุนท่าทีนี้อย่างเปิดเผยและถึงกับส่งเสริมเรื่องนี้เลยด้วยซ้ำ
ก่อนหน้านี้ปีนี้กระทรวงศึกษาธิการจีนสั่งให้โรงเรียนปฏิรูปการเรียนการสอนวิชาพละโดยประกาศเรื่องนี้อย่างชัดเจนผ่าน “ข้อเสนอเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กวัยรุ่นผู้ชายกลายเป็นเหมือนผู้หญิง” (The Proposal to Prevent the Feminisation of Male Adolescents)
เนื้อหาในข้อเสนอนี้แนะนำให้จ้างอดีตนักกีฬาและคนที่มีพื้นฐานด้านนี้มาช่วยพัฒนาด้านกีฬาเพื่อมุ่ง “ปลูกฝังความเป็นชายในนักเรียน”
ไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น ซือ ซือฟู ที่ปรึกษาการเมืองระดับสูง ออกมาแสดงความกังวลว่ามีแนวโน้มว่าชายหนุ่มจีนจะมีความเป็นหญิงมากขึ้น “ซึ่งห้ามไม่ได้เลยที่จะส่งผลกระทบอันตรายต่อการอยู่รอดและการพัฒนาของชาติจีน นอกเสียจากเรื่องนี้จะถูกจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ”
จากนั้นในเดือน ก.ย. ทางการจีนก็ประกาศห้ามไม่ให้ผู้ชายที่ดู “สาว” ออกทีวีหรือปรากฏบนเว็บไซต์ที่ให้บริการดูวิดีโอ
ดร.หวัง ชวยฉว่าย ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมดิจิทัลจากมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัมบอกว่า เขาตกใจมากที่ได้เห็นถ้อยคำที่ทางการใช้อย่างที่บอกว่าช่องโทรทัศน์ “ต้องหยุดการให้มีผู้ชายที่ออกสาวและความงามแบบผิดปกติอื่น ๆ”
“ตอนนี้ คนรุ่นใหม่ก็จะคิดว่าสามารถใช้คำดูถูกทางเพศในการโจมตีผู้อื่นได้” เขากล่าว “เพราะหากรัฐบาลสนับสนุนภาษาแบบนี้ ใครจะบอกได้ว่าเป็นเรื่องผิดที่จะใช้ในโรงเรียน”
ท่าทีแข็งกร้าวในเวทีโลก
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนบอกบีบีซีว่า นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่จีนต้องการส่งเสริมความเป็นชายพร้อมกับที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีท่าทีทางการทูตที่แข็งกร้าว เห็นได้จากตอนที่ผู้นำจีนแถลงเมื่อเดือน ก.ค. ว่าจีนจะไม่ยอมถูก “กลั่นแกล้ง” หรือ “กดขี่” โดยชาติมหาอำนาจตะวันตก
ดร.โจนาธาน ซัลลิแวน ผู้อำนวยการโครงการด้านจีนจากสถาบันวิจัยเอเชีย มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม บอกว่า เมื่อสร้างความรู้สึกว่าจีนกำลังต่อสู้กับทั้งโลกอยู่ มันก็ไม่ไปทิศทางเดียวกันกับอัตลักษณ์ทางเพศผู้ชายแบบที่ดูอ่อนโยน
ท่าทีนี้ต่างจากยุทธศาสตร์ของผู้นำจีนในอดีตอย่าง เติ้ง เสี่ยวผิง ที่พยายามให้ประเทศเก็บตัวเงียบ ๆ
การสั่งห้ามไม่ให้มีผู้ชายที่ดู “สาว” ออกทีวี มาในช่วงเดียวกันกับที่รัฐเดินหน้าจัดการกับบุคคลผู้มีชื่อเสียงและบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ ๆ ทั้งสองกรณีนี้ล้วนส่งผลต่อคนหนุ่มสาวเป็นอย่างมาก
ผู้สังเกตการณ์มองว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างวิสัยทัศน์แบบจีนของ ปธน.สี จิ้นผิง โดยเน้นความเป็นสังคมนิยมและลักษณะพิเศษแบบจีน โดยไม่เปิดทางให้กับอิทธิพลจากต่างประเทศ
แต่ก็มีบุคคลที่มีชื่อเสียงอย่างกลุ่มนักร้อง TFBoys หรือนักร้อง-นักแสดง ลู่ หาน ที่หน้าตาดูอ่อนโยนตามแบบฉบับเกาหลี ที่มีแฟน ๆ หลายล้านคอยสนับสนุนอยู่
ดร.หวัง บอกว่า คนเหล่านี้ตกเป็นเป้าเพราะว่าพวกเขาไปปรากฏบนเว็บไซต์ให้บริการดูวิดีโอที่บริษัทเทคโนโลยีเจ้าใหญ่ ๆ เป็นเจ้าของ ไม่ใช่ทางช่องโทรทัศน์ของรัฐ
เขาบอกว่า การควบคุมเรื่องเพศอาจเป็นอีกความพยายามหนึ่งของรัฐจีนที่พยายามจะควบคุมประชาชน เหมือนกับที่ก่อนหน้านี้ได้เดินหน้าจัดการกับบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ ๆ
ดร.หวัง บอกว่า ขณะที่บุคคลผู้มีชื่อเสียงสามารถปรับภาพลักษณ์ตัวเองได้ เขาเป็นกังวลที่สุดเรื่องความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป
“ความรุนแรง การคุกคาม และการกลั่นแกล้งที่มาจากเรื่องเพศ มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเพราะว่ารัฐบาลทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สามารถจะทำได้”
………………..
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว