บิ๊กป้อม สั่งเร่งระบายน้ำท่วมค้างทุ่งลุ่มเจ้าพระยาขีดเส้นภายใน 22 ธ.ค.นี้ คลายทุกข์ส่งสุขปีใหม่ให้ประชาชน พร้อมคุมเข้มจัดสรรน้ำ ปลูกพืชในฤดูแล้งตามเป้าหมาย
เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2564 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผอ.กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.กอนช. เป็นห่วงประชาชนที่ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่ที่เหลือ จึงสั่งการและกำชับให้ กอนช. เร่งระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมถึงลุ่มน้ำชี-มูล ให้เข้าสู่ภาวะปกติก่อนสิ้นปี 2564 เพื่อของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน
พร้อมทั้งให้ติดตามการจัดสรรน้ำ การเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้ง และการดำเนินงานตามมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้งปี 2564/65 ทั้ง 9 มาตรการอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้
สำหรับปริมาณน้ำในทุ่งรับน้ำทั้ง 11 แห่งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุดเหลือปริมาณน้ำค้างทุ่ง 500 ล้าน ลบ.ม. โดยวางแผนจะระบายน้ำออกจากทุ่งให้เหลือค้างทุ่งที่ระดับความลึกไม่เกิน 30 เซนติเมตร เพื่อใช้เป็นน้ำต้นทุนปลูกข้าวนาปรัง และลดการใช้ปริมาณน้ำจาก 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ขณะนี้ทุ่งรับน้ำทั้ง 11 แห่ง ระบายน้ำออกได้ตามแผนแล้ว 8 แห่ง คือ ทุ่งบางระกำ ทุ่งเชียงราก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งบางบาล-บ้านแพน ทุ่งป่าโมก ทุ่งบางกุ่ม และทุ่งบางกุ้ง
ส่วนที่เหลืออีก 3 แห่ง คือ ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด และทุ่งโพธิ์พระยา เหลือปริมาณน้ำที่จะต้องระบายออกรวมกันประมาณ 73.56 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้ได้ระดมสรรพกำลังเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เพื่อช่วยเร่งนำน้ำออกโดยไม่ให้มีผลกระทบกับพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งจะเน้นระบายน้ำออกทางแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก
ส่วนแม่น้ำท่าจีน จะสูบน้ำออกในช่วงจังหวะน้ำทะเลลดต่ำลงเท่านั้น คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติ สามารถกักเก็บน้ำให้เกษตรกรพื้นที่ลุ่มต่ำได้ทำการเพาะปลูกข้าวนาปรังได้ภายในวันที่ 22 ธ.ค.นี้อย่างแน่นอน ขณะที่การระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 700 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ ต่ำกว่าตลิ่งแล้ว
เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า ส่วนลุ่มน้ำชี-มูล ขณะนี้ยังมีพื้นที่น้ำท่วมอยู่บ้างในพื้นที่ลุ่มต่ำจ.ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี โดยลุ่มน้ำชี ขณะนี้ได้ชะลอการระบายน้ำออกจากเขื่อนชนบท เขื่อนมหาสารคาม และเขื่อนวังยาง ด้วยการลดบานระบายน้ำเพื่อเริ่มกักเก็บน้ำไว้ในช่วงฤดูแล้ง เช่นเดียวกับลุ่มน้ำมูล ได้ชะลอการระบายน้ำของเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านท้ายน้ำ พร้อมควบคุมการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ และเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง คาดว่าจะระบายน้ำออกได้ทั้งหมดภายในเดือนธ.ค.นี้เช่นกัน จากนั้นจะเริ่มกักเก็บน้ำในลำน้ำหรือในพื้นที่เพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูแล้งถัดไป
สำหรับการปลูกพืชฤดูแล้งปี 2564/65 ได้มีการจัดสรรให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ซึ่งหลังสิ้นฤดูฝนเมื่อวันที่ 1 พ.ย. มีปริมาณน้ำเก็บกักทั้งประเทศรวม 72,596 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น ปริมาณน้ำในเขตชลประทาน 37,857 ล้าน ลบ.ม. และนอกเขตชลประทาน 34,739 ล้าน ลบ.ม. สามารถจัดสรรน้ำเพื่อการปลูกพืชฤดูแล้งได้ 11.65 ล้านไร่ แบ่งเป็นในเขตชลประทาน 6.95 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 4.7 ล้านไร่ โดยในส่วนนี้เป็นการทำนาปรังในเขตชลประทาน 6.41 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 2.61 ล้านไร่ และเป็นพืชไร่พืชผักในเขตชลประทาน 0.54 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 2.09 ล้านไร่ ขณะนี้การจัดสรรน้ำและการปลูกพืชยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้