ชุมชน-ประเทศ : บทบรรณาธิการ

Home » ชุมชน-ประเทศ : บทบรรณาธิการ


ชุมชน-ประเทศ : บทบรรณาธิการ

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ชุมชน-ประเทศ

การชุมนุมของกลุ่มประชาธิปไตยกับการชุมนุมของกลุ่มจะนะ มีหัวข้อต่างกัน มีเป้าหมายแตกต่างกัน แต่มีจุดร่วมเดียวกันคือการเรียกร้องให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนท่าทีต่อการบริหารราชการ

ประเด็นสำคัญที่สุดของทั้งสองการเคลื่อนไหวคือรัฐต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินนโยบายและอนาคตของตนเอง

โครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต มีชื่อโครงการชัดเจนว่าเป็นเรื่อง “อนาคต” ฉะนั้นจะตัดสินโดยรัฐบาลหรือคณะใดคณะหนึ่งไม่ได้

และจะตัดประชาชนในท้องถิ่นที่จะได้รับผล กระทบโดยตรงออกไปไม่ได้เช่นกัน

ไม่ว่าใครในรัฐบาลจะเคยไปตกลงหรือไม่ตกลงอะไรไว้กับประชาชนก็ตาม

ประเด็นปัญหาสำคัญของโครงการจะนะคือรัฐบาลใช้และเชื่อหน่วยงานราชการมากเกินไป และไม่ได้ฟังข้อเรียกร้องโดยตรงจาก ชาวบ้าน

โดยเฉพาะเมื่อมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างหน่วยราชการกับชาวบ้าน เกิดความไม่ไว้เนื้อ เชื่อใจกัน

แม้รัฐบาลอ้างว่าจะจัดให้การทำประชาพิจารณ์ และการจัดทำผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อขั้นตอนดังกล่าวกำลังถูกตั้งคำถามจากคนในพื้นที่อย่างกว้างขวาง

ยิ่งเมื่อชาวบ้านเดินทางจากท้องถิ่นเข้ามาเพื่อส่งเสียงตรงถึงรัฐบาล การกวาดจับดำเนินคดียิ่งไม่เป็นผลดีต่อการคลี่คลายปัญหา กลับเพิ่มความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้านขึ้นมาอีก

ส่วนการเรียกร้องของกลุ่มประชาธิปไตยให้รัฐแก้ไขกฎหมายที่เปิดช่องให้ใช้อำนาจครอบจักรวาล และปล่อยนักโทษทางการเมือง เป็นส่วนหนึ่งของผลักดันให้ประเทศไทยปรับตัวสู่หลักนิติธรรมสากล เป็นที่ยอมรับในโลก

เพราะกฎหมายบางมาตรา ถูกโลกภายนอกมองว่าเป็นเครื่องมือสำหรับฝ่ายมีอำนาจทางการเมือง มากกว่าจุดประสงค์ของกฎหมาย

การถกเถียงถึงประเด็นนี้จึงต้องอาศัยการรับฟังใช้เหตุผลและข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับโครงการจะนะ

รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์จากความเชื่อที่มุ่งแบ่งแยกแตกขั้วอย่างที่ เป็นมา

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ