เจ้าของยอมทุบบ้านพักตากอากาศหรู ริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีฯ มูลค่า 30 ล้านบาททิ้งแล้ว หลังสู้คดีนานร่วม 7 ปี ชี้ยังมีอีกหลายที่ละเมิด ยันไม่ยอมถอยให้คนผิด
วันนี้ 13 ธ.ค.64 นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เปิดเผยว่า ตาม นโยบาย ทส.ยกกำลังเอกซ์ ของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวง นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ ให้ดำเนินการปราบปรามขั้นเด็ดขาดกับนายทุนผู้บุกรุกป่า แล้วยึดคืนเพื่อฟื้นฟูให้กลับมาเป็นป่าธรรมชาติดังเดิม นั้น
จากนโยบายของผู้บังคับบัญชาข้างต้นวันนี้ตนในฐานะ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) พร้อมด้วยนายยุทธพงค์ ดำศรีสุข หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ได้เข้าตรวจสอบควบคุมการทุบรื้อถอน “สวนพิศตะวันรีสอร์ท” ซึ่งมีสิ่งปลูกสร้างบ้านพัก ร้านอาหารขนาดใหญ่ จำนวน 17 รายการ บนพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ ซึ่งรีสอร์ทดังกล่าว อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ มีทำเลที่สวยงามเป็นอย่างมากเนื่องจากตั้งอยู่ริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ เขตท้องที่ป่าท่าแพขนานยนต์ หมู่ 6 ต.ด่านแม่แฉลบ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี
สำหรับจุดเริ่มต้นของคดีนั้น สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 25 ส.ค.2557 หรือประมาณ 7 ปีที่ผ่านมา คณะเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันออกปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ ภายในเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ พบบ้านพักตากอากาศชื่อ “พิศตะวันรีสอร์ท”สร้างรุกเขตอุทยานฯ โดยมีนายสมภพ มีชูเวท เป็นผู้ครอบครอง เจ้าหน้าที่จึงดำเนินการตรวจสอบพื้นที่รอบแปลงด้วย GPS คำนวนพื้นที่ที่ถูกบุกรุกได้ จำนวน 20 ไร่ ภายในมีสิ่งปลูกสร้างลักษณะ เป็น รีสอร์ท ขนาดใหญ่ จำนวน 17 รายการ มูลค่าประมาณ 30 ล้าน
เมื่อตรวจสอบแล้วเสร็จเจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งความดำเนินคดีต่อนายสมภพ มีชูเวศ เจ้าของรีสอร์ท ในความผิดฐาน บุกรุก ยึดถือครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติโดยมิได้รับอนุญาต ต่อพนักงานสอบสวน สภ.ด่านแม่แฉลบ
ต่อมาคดีอาญา อัยการจังหวัดกาญจนบุรีมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา โดยให้เหตุผลว่าขาดเจตนา กรมอุทยานฯจึงได้ฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน จำนวน 954,307 บาท แต่ระหว่างต่อสู้คดีผลปรากฎว่านายสมภพ มีชูเวท ได้เสียชีวิตลง แต่มีนางพิศมัย มีชูเวท เป็นผู้จัดการมรดกแทน
โดยพนักงานอัยการจังหวัดกาญจนบุรี ได้ยื่นฟ้องนางพิศมัย มีชูเวท ผู้จัดการมรดก เป็นคดีความแพ่ง คดีหมายเลขดำที่ 96/2561 ลงวันที่ 25 มี.ค.2561 ในระหว่างการพิจารณาของศาล นางพิศมัยฯ ได้ขอเจรจาไกล่เกลี่ยขอชดใช้ค่าเสียหายให้กับกรมอุทยานฯ เป็นเงิน จำนวน 600,000 บาท โดยขอผ่อนชำระเดือนละ 10,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 960/2561 ลงวันที่ 21 ส.ค.2561
สำหรับคดีทางปกครอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ได้ออกคำสั่งที่ 71/2557 ลงวันที่ 10 ต.ค.2557 ให้ผู้กระทำผิดรื้อทำลายสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งพืชผลอาสิน หรือสิ่งอื่นใดที่ผิดไปจากสภาพเดิมออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ หรือทำให้สิ่งนั้นกลับสู่สภาพเดิมแล้วแต่กรณี ภายในวันที่ 17 พ.ย.2557 ตามความมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และมีหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้กระทำผิดรื้อถอน ฉบับลงวันที่ 10 ต.ค.2557
แต่ต่อมาผู้กระทำผิดได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง โดยมีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในคดีหมายเลขดำที่ ส. 14/2558 โดยศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา ลงวันที่ 23 ก.ย.2564 ในคดีหมายเลขแดงที่ 154/2560 โดยศาลปกครองมีคำพิพากษา ให้รื้อถอนรีสอร์ทดังกล่าวได้ หลังจากมีคำพิพากษาออกมานางพิศมัย มีชูเวท ผู้จัดการมรดก ไม่ได้อุทธรณ์ จึงทำให้คดีทางปกครองถึงที่สุด
ซึ่งต่อมาหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ได้เจรจาไห้ผู้ครอบครองดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปเอง ซึ่งผู้ครอบครองได้ยินยอมและมีหนังสือขอรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกไปจากเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีฯ ทั้งหมดด้วยตนเอง โดยมีหนังสือ ฉบับลงวันที่ 17 พ.ย.2564 มาถึงอุทยานฯโดยเวลาในการรื้อถอนให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน หรือประมาณ 4 เดือน เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย.เป็นต้นมา และวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมนั้นเจ้าของได้นำรถแบคโฮ ขนาดใหญ่ จำนวน 2 คัน เข้ามารื้อทุบตัวอาคารขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่ริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ จำนวน 3 หลัง รวมทั้งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอื่นๆด้วย
จากการลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าในการรื้อถอนครั้งนี้ จะใช้เวลาไม่ถึง 1 เดือน ก็คงจะแล้วเสร็จ 100% จากนั้นเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ จะนำพื้นที่ที่ยึดคืนมาได้ จำนวน 20 ไร่ มาฟื้นฟูสภาพป่า และจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในรูปแบบลานกางเต้นท์เพื่อให้ประชาชน ได้พักผ่อนและชมทัศนียยภาพอันสวยงามของอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ต่อไป
นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผอ.สบอ.3(บ้านโป่ง) กล่าวว่า ทั้งนี้ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ยังมีแปลงตรวจยึดดำเนินคดีกับเจ้าของบ้านพักตากอากาศ หรือรีสอร์ท อีกจำนวนหลายแปลง ทั้งหมดอยู่ระหว่างต่อสู้คดีในชั้นศาลปกครอง คดีส่วนใหญ่ศาลปกครองกลาง จะมีคำสั่งยกฟ้อง และมีคำสั่งให้อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ดำเนินการรื้อถอนรีสอร์ท หรือบ้านพักตากอากาศของนายทุนในทุกคดี
ดังนั้นตนจึงขอฝากไปถึงผู้ประกอบการหรือนายทุนต่างๆ ว่าหากผู้กระทำผิดยินยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างด้วยตนเอง ทางกรมอุทยานฯ จะไม่ฟ้องร้องเรียกค่าดำเนินการในการรื้อถอน และทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างแต่อย่างใด โดยเจ้าของยังสามารถนำโครงสร้างของอาคาร รวมทั้งพืชผลอาสินชนิดต่างๆ กลับไปใช้ประโยชน์ได้ด้วย
ทั้งนี้แม้ปัจจุบันกรมอุทยานฯจะมีแนวทางผ่อนผันให้ราษฎรอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ ตามมาตรา 64 แห่ง พรบ.อุทยานฯ 2562 ได้ก็ตาม แต่พื้นที่แปลงตรวจยึดดำเนินคดี และเป็นของนายทุนที่ไม่ใช่ราษฎรที่ทำกินเดิม ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทมาก่อน ผู้ครอบครองจะไม่ได้รับสิทธิใดๆทั้งสิ้น” นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผอ.สบอ.3(บ้านโป่ง) กล่าว