นายโอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเยอรมนีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 8 ธ.ค. ถือเป็นการสิ้นสุดยุคสมัยของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ที่ครองอำนาจมายาวนาน 16 ปี
รัฐสภาเยอรมนี มีมติรับรองด้วยเสียงข้างมาก ให้นายชอลซ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 9 นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง และถือเป็นการเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองครั้งสำคัญ ที่ปิดฉากอาชีพทางการเมือง 31 ปีของนางแมร์เคิล
- พรรคโซเชียลเดโมแครต คู่แข่งพรรคของอังเกลา แมร์เคิล ชนะเลือกตั้งเยอรมนี
- อังเกลา แมร์เคิล ในสายตาของชาวเยอรมัน
- ใครคือผู้สืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนี หลัง “อังเกลา แมร์เคิล” อำลาการเมือง
การก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของนายชอลซ์ มีขึ้นหลังจากเขานำพรรคโซเชียลเดโมแครต (SPD) เอาชนะพรรคสหภาพคริสเตียนเดโมแครต (CDU) ของนางแมร์เคิล ได้อย่างเฉียดฉิว ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา และได้จัดตั้งรัฐบาลผสมเสียงข้างมากร่วมกับพรรคกรีน และพรรคประชาธิปไตยเสรี (FDP)
นายชอลซ์ วัย 63 ปี ผู้นั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลของนางแมร์เคิล มา 3 ปี ได้ให้คำมั่นกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่าจะบริหารประเทศด้วยความต่อเนื่องจากอดีตผู้นำหญิงสายอนุรักษนิยม แม้ว่าเขาจะเป็นคู่แข่งจากพรรคการเมืองฝ่ายนิยมซ้ายก็ตาม
นายชอลซ์ได้รับคะแนนนิยมอย่างล้นหลามจากการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 โดยเน้นการปฏิบัติได้จริง
จัดการวิกฤตโควิด
เมื่อคราวดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายชอลซ์มีหน้าที่ดูแลเงินงบประมาณฉุกเฉินมูลค่า 750,000 ล้านยูโร (28.5 ล้านล้านบาท) ของรัฐบาลกลางเยอรมนีเพื่อใช้สำหรับช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจและลูกจ้างในประเทศให้อยู่รอดในช่วงเกิดโรคระบาดใหญ่
“นี่คือบาซูกาที่ต้องใช้เพื่อบรรลุเป้าหมาย…เราเอาอาวุธทุกอย่างที่มีออกมาเพื่อแสดงให้เห็นว่า เราแข็งแกร่งพอที่จะเอาชนะความท้าทายทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากปัญหานี้” นายชอลซ์ กล่าวในตอนนั้น
เขายังบริหารจัดการเงินสวัสดิการรัฐก้อนโตเพื่อเยียวยาความเดือดร้อนจากวิกฤติโควิดในทุกรูปแบบ และต่อสู้เพื่อความสมานฉันท์ในสังคม อันเป็นอุดมการสำคัญของพรรคฝ่ายนิยมซ้ายของเขา
ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับฝรั่งเศส
นายชอลซ์ ได้ร่วมมือกับฝรั่งเศสในการออกแบบแผนงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิดของสหภาพยุโรป ที่มีมูลค่า 750,000 ล้านยูโร (28.5 ล้านล้านบาท)
และหลังจากความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างเยอรมนีกับฝรั่งเศสในยุคของนางแมร์เคิล นายชอลซ์ ก็มุ่งมั่นที่จะรักษาความสัมพันธ์ที่อบอุ่นนี้เอาไว้
นายบรูโน เลอ แมร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังของฝรั่งเศส ไม่เพียงจะชื่นชมนายชอลซ์ที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับฝรั่งเศส แต่ยังยกย่องน้องชายของเขา คือ นพ.เยนส์ ชอลซ์ ที่มีส่วนช่วยผู้ป่วยโควิดอาการวิกฤตชาวฝรั่งเศส 6 คน ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในเมืองคีล ของเยอรมนี ซึ่งเป็นภารกิจช่วยชีวิตราคาแพงที่รัฐบาลเยอรมนีช่วยออกค่าใช้จ่ายให้
ความขัดข้องใจของฝ่ายซ้าย
ในสายตาสมาชิกพรรค SPD บางส่วน นายชอลซ์ถูกมองว่าเป็น “คนหัวอนุรักษนิยม” โดยเขาบริหารพรรคร่วมกับผู้นำอีก 2 คน คือ นางซัสเกีย เอสเกน และนายโนร์แบร์ต วาลเตอร์-โบร์ยานส์ ซึ่งต่างมีแนวคิดเอียงไปทางซ้ายมากกว่า
นายชอลซ์ ซึ่งแต่งงานกับนางบริตตา แอนสต์ นักการเมืองร่วมพรรค SPD เติบโตมาในนครฮัมบูร์ก เริ่มเข้าสู่แวดวงการเมืองในฐานะผู้นำเยาวชนสังคมนิยม และศึกษาด้านกฎหมายแรงงาน
เขาเคยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครฮัมบูร์ก ระหว่างปี 2011 – 2018 และได้รับเลือกเข้าสู่รัฐสภาของเยอรมนีครั้งแรกในปี 1998
ในช่วง 8 ปีหลังที่ผ่านมา พรรค SPD ถือเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นรองพรรค CDU ของนางแมร์เคิล และสมาขิกพรรค SPD หลายคนต่างแสดงความไม่พอใจที่นโยบายที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลผสมนี้มีความเอนเอียงไปทางฝั่งอนุรักษนิยมมากเกินไป
คาเทีย อัดเลอร์ บรรณาธิการข่าวประจำยุโรปของบีบีซี ระบุว่า แม้นายชอลซ์จะให้คำมั่นว่าจะบริหารประเทศด้วยความต่อเนื่องจากยุคของนางแมร์เคิล แต่ทั้งสองพรรคก็มีแนวทางที่แตกต่างกัน ซึ่งนี่จะเป็นสิ่งที่พันธมิตรและคู่ค้าของเยอรมนีจับตามองอย่างใกล้ชิด
นับจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลผสมเสียงข้างมากของเขาต้องจัดการเป็นอันดับต้น ๆ ก็คือ
- ปัญหาโควิด-19 ซึ่งเยอรมนีกำลังเผชิญการระบาดระลอกที่ 4 และกำลังพิจารณาการบังคับให้ประชาชนฉีดวัคซีน
- ภัยคุกคามจากรัสเซียที่รุกรานยูเครน
- ที่ผ่านมานางแมร์เคิล ถูกกล่าวหาว่า ให้ความสำคัญกับการค้าก่อนการเมือง ซึ่งคาดว่ารัฐบาลของนายชอลซ์จะมีท่าทีแข็งกร้าวต่อรัฐบาลรัสเซีย และรัฐบาลจีนมากขึ้น แม้อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจเยอรมันก็ตาม แต่ก็อาจช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ได้
…………
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว