FootNote:เอ็มโอยู จะนะ ธันวาคม 2563 ดำรงอยู่ เป็นสัจจะ ‘หลักฐาน’
ภาพอันเกิดขึ้น ณ บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ตอนกลางดึกของคืนวันที่ 6 ธันวาคม ในการเข้าสลายและจับกุมชาวบ้านจากจะนะเข้าไปคุมขัง เหมือนกับเป็นปฏิบัติการเล็กๆ ต่อผู้คนกว่า 30 คน
เมื่อหน่วยควบคุมฝูงชน (คฝ.) วางแผนอย่างรัดกุม ทั้งต่อผู้ชุมนุม และต่อสื่อก็ไม่น่าจะมีสถานการณ์บานปลายตามมา
กระนั้นผลอันปรากฏตั้งแต่กลางดึกของคืนวันที่ 6 กระทั่งรุ่งสางของวันที่ 7 และต่อเนื่องมายังวันที่ 8 ธันวาคม ถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์อันเหนือความคาดหมาย
ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความไม่พอใจในกลุ่มเอ็นจีโอสายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง หากแต่พรรคการเมืองระดับชาติอย่างพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย ก็เทคแอ็คชั่น
มีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาในขั้นกรรมาธิการไม่ว่าจะเป็น ด้านกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านตำรวจ
ปฏิบัติการของตำรวจตกเป็น ‘จำเลย’ ของ ‘สังคม’
ทุกสายตาทอดมองไปยังท่าทีและการเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยอัตโนมัติ
การเคลื่อนไหวตั้งแต่วันที่ 7 และต่อเนื่องตลอดวันที่ 8 ธันวาคม ทำให้ตัวละครอันมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะค่อยปรากฏขึ้น
เน้นย้ำให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ยังดำรงคงอยู่
แม้ว่าจะชี้ให้เห็นว่าเป็นความขัดแย้งจากความเห็นต่างในกรณี ของโครงการอุตสาหกรรมจะนะ แต่ก็ดำเนินไปในลักษณะเดียวกันกับที่เคยเกิดในเดือนกันยายน ตุลาคมที่ผ่านมา
เท่ากับเป็นการประลองกำลังภายในอีกครั้งหนึ่งระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า
เพียงแต่มีชาวบ้านจากจะนะ สงขลา เป็น ‘เหยื่อ’ เท่านั้น
จากนี้เป็นต้นไปเส้นสนกลในที่ดำรงอยู่ภายในการขับเคลื่อนผ่านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ สงขลา ก็จะถูกตีแผ่ เปิดโปงให้เห็นโดยละเอียดรอบด้าน
มี ‘เอ็มโอยู’ เมื่อเดือนธันวาคม 2563 เป็นเครื่องมืออย่างสำคัญ
ว่าเป็นเครื่องมือเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา หรือว่าเป็นเครื่องมือ เพื่อเตะถ่วงและอาศัยชาวบ้านมาเป็นเหยื่อสังเวย
คำถามก็คือ ใครคือผู้ใช้กลยุทธ์ ‘ลับ ลวง พราง’ กับ ‘ชาวบ้าน’