‘รุ้ง-เบนจา’ ส่งจดหมาย วอนขอสิทธิประกันตัว ชี้อยู่ในคุก ได้รับอุปสรรคการเรียน ทั้งที่ไม่เคยคิดจะหลบหนี หรือไม่เคยที่จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
7 พ.ย. 2564 – จากกรณีศาลอาญากรุงเทพใต้ มีการนัดคุ้มครองสิทธิคดี ม.112 การชุมนุมนุม ใส่เสื้อครอปท็อป ที่สยามพารากอน ซึ่งมี เบนจา อะปัญ – รุ้ง ปนัสยา – ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก – เพนกวิน พริษฐ์ และอีก 1 จำเลย รวม 5 ราย ถูกฟ้อง ซึ่งจำเลยทั้ง 5 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ถูกคุมขังอยู่ 4 ราย แถลงว่าไม่ได้รับสิทธิการปรึกษาทนายอย่างเต็มที่ ขอให้ศาลบันทึกไว้ ด้านศาลได้หมาย เพื่อตรวจพยานต่อไปวันที่ 24 ม.ค. 65
ต่อมา เฟซบุ๊ก ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ได้เผยแพร่ข้อความจดหมายที่เขียนด้วยลายมือของตน พร้อมกับลงชื่อร่วมกับ เบนจา อะปัญ ที่เป็นเนื้อหาข้อความที่ได้แถลงต่อศาลเอาไว้ว่า หนูชื่อ เบนจา อะปัญ อายุ 22 ปี เป็นนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล อายุ 23 ปี เป็นนักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษวิทยา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เช่นกัน
หนูถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลางมาแล้ว 50 วัน และ รุ้ง 12 วัน โดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ทั้งที่เราไม่เคยคิดจะหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไม่เคยที่จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นแต่อย่างใด
เหตุผลในการฝากขังหนูหลายครั้ง ในคดีดำ 373/2564 บ้างให้เหตุผลว่ารอส่งสำนวน บ้างให้เหตุผลว่าอยู่ในระหว่างเสนอสำนวน หรือรอส่งสำนวนให้ผู้บังคับบัญชา ซึ่งตัวหนูไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการทำงานส่วนนี้อยู่แล้ว การฝากขังหนูแต่ละครั้งจึงไม่เป็นประโยชน์อันใด ทั้งยังเป็นการพรากอิสรภาพจากมนุษย์คนหนึ่ง ที่ยังไม่ถูกตัดสินว่าเป็นการกระทำผิดอีกด้วย อิสรภาพของหนูขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่เลื่อนลอย การที่ศาลทำแบบนี้ เสมือนกับว่าพวกหนูนั้นได้กระทำความผิดไปแล้ว
ส่วนรุ้งเองนั้น ก็ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ในคดีคร็อปท็อป ทั้ง ๆ ที่จำเลยคนอื่น ๆ ในคดีนี้ ก็ได้รับประกันตัว อย่างเบนจาเองก็คือหนึ่งในจำเลยที่ได้รับประกันตัวในคดีนี้เช่นกัน การที่ศาลขังพวกเราไว้แบบนี้ ทำให้พวกเราต้องเผชิญกับอุปสรรคในการเรียนอย่างร้ายแรง อย่างรุ้งเองก็อยู่ในระหว่างการทำวิจัยที่เป็นงานกลุ่มกับเพื่อน ก็ไม่สามารถทำต่อได้ และในอีก 1 อาทิตย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมีการจัดสอบปลายภาค ซึ่งเป็นการสอบที่สำคัญมาก และหนูคิดว่าศาลก็คงเข้าใจดีเพราะเคยเป็นนักศึกษามาก่อนเหมือนกัน
ถ้าศาลสงสัยว่าถ้าพวกหนูสนใจอยากจะเรียนมาก แล้วจะออกมาทำกิจกรรมการเมืองทำไม ? หนูก็อยากจะตอบให้ศาลฟังว่า ที่พวกหนูมาเล่าเรียนหาวิชาความรู้ เพราะพวกหนูอยากใช้ความรู้ที่พวกหนูมีในการพัฒนาและสร้างสรรค์สังคม หนูเรียนวิศวกรรมเครื่องกลเพื่อที่จะต่อยอดในสาขาวิชาวิศวกรรมอวกาศ เพราะเล็งเห็นว่าวงการอวกาศ อุตสาหกรรมอวกาศ หรือการเรียนรู้ศึกษาเกี่ยวกับอวกาศในประเทศไทยนั้น ยังล้าหลังและต้องได้รับการพัฒนาอีกมาก จึงอยากนำความรู้ที่ตนได้ศึกษามาพัฒนาประเทศไทย ให้ทัดเทียมเท่าทันกับต่างประเทศ เช่นประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น
รุ้ง เลือกเรียนคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เพราะหนูเชื่อว่า การจะแก้ไขปัญหาสังคมได้นั้น เราจำเป็นที่จะต้องมีความเข้าใจในมนุษย์ก่อน ดังปรัชญาของคณะหนูที่ว่า “เข้าใจ เคารพ เปลี่ยนแปลง” คือการเข้าใจในมนุษย์ วัฒนธรรม สังคม เคารพในความแตกต่างหลากหลาย และเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้นได้ และไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหน เราก็มุ่งหวังที่จะใช้ความรู้ ความสามารถทั้งหมดที่เรามีในการช่วยพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น เพราะเราคงไม่อาจอยู่เฉยได้ หากในสังคมนี้ยังมีความผิดปกติ ที่จะเป็นการฉุดรั้งความเจริญของประเทศเรา ที่พวกเราทำไปทั้งหมดก็เพียงเพราะเราใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดีกว่านี้ ก็เพียงเท่านั้น
พวกหนูอยากบอกกับศาลด้วยว่า การขังพวกหนูไว้ในเรือนจำนั้น หากศาลยังมองว่าพวกหนูคืออาชญากรที่เป็นภัยต่อความมั่นคงระดับประเทศ หนูก็คงต้องถามศาลต่อว่า ทำไมถึงมีประชาชนจำนวนมากที่เรียกร้องให้ปล่อยตัวพวกหนู ทั้งคนทั่วไป ศิลปิน ผู้แทนราษฎร หรือองค์กรสิทธิอย่าง Amnesty หลายสาขาทั่วโลก เช่น ออสเตรเลีย ไต้หวัน อเมริกา อังกฤษ และอีกหลายประเทศก็เรียกร้องให้หยุดดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรมและขอให้ปล่อยตัวพวกหนู หรือ UN เอง ก็แสดงความกังวลถึงกรณีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมในประเทศเราอีกด้วย
ในจดหมาย บรรยายต่อไปอีกว่า การขังพวกเขาไว้แบบนี้ ไม่ได้เป็นประโยชน์อันใดเลย หากเพียงแต่เป็นการพรากอิสรภาพและทำลายอนาคตของพวกเขา เพื่อคงไว้ซึ่งผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่ไม่ต้องการให้เราออกมาวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเท่านั้น การขังพวกเขาไว้ไม่ได้หยุดยั้งความคิดของประชาชนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง ซ้ำยังทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนคนไทยและสายตาของประชาคมโลก ที่มีต่อศาลและกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยอีกด้วย
“ท้ายที่สุดนี้ วันนี้เป็นวันคุ้มครองสิทธิ เช่นนั้นหนูก็อยากจะร้องขอให้ศาลช่วยคุ้มครองสิทธิในการประกันตัวของพวกหนูด้วยค่ะ” ก่อนที่จะลงชื่อท้ายจดหมายโดย เบนจา อะปัญ และ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ซึ่งเขียนขึ้นที่ศาลอาญากรุงเทพใต้