การบังคับควบคุม (coercive control) ถือเป็นความรุนแรงในครอบครัวและความสัมพันธ์ของคู่รักอย่างหนึ่ง แม้บางครั้งความสัมพันธ์รูปแบบนี้อาจไม่ได้ทิ้งบาดแผลหรือรอยฟกช้ำทางร่างกาย แต่ความเสียหายที่เหยื่อได้รับ โดยเฉพาะทางด้านจิตใจ อาจรุนแรงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการถูกทุบตีหรือทำร้ายร่างกายจากน้ำมือของคนที่รัก
ตอนที่ซาราห์ (นามสมมุติ) อายุ 15 ย่าง 16 ปี เธอได้เริ่มใกล้ชิดกับ แซค (นามสมมุติ) เด็กผู้ชายชั้นปีเดียวกันที่โรงเรียน
หลังจากพูดคุยกันได้ไม่กี่สัปดาห์ เขาก็ชวนเธอไปดูคอนเสิร์ต ตอนนั้นซาราห์รู้สึกประหม่าเพราะไม่เคยไปไหนมาไหนตามลำพัง เธอจึงชวนเพื่อน ๆ ไปด้วย
“ผมอยากให้เราไปกันแค่สองคน” เธอยังจำคำพูดของแซคได้ เขายื่นคำขาดกับเธอว่าถ้าไม่ไปด้วยกันตามลำพัง ก็จะไม่มีโอกาสที่พวกเขาจะได้อยู่ด้วยกันอีก
ซาราห์เริ่มรู้สึกชอบแซค และเขาก็มักชวนเธอไปไหนมาไหนด้วยกันตามลำพัง เธอรู้ว่าแซคก็ชอบเธอเหมือนกัน ดังนั้นแม้จะรู้สึกกลัวที่ต้องเดินกลับบ้านคนเดียวตอนกลางคืน แต่ซาราห์ก็ยอมออกไปใช้เวลาร่วมกับเขา
ไม่กี่เดือนต่อมาทั้งคู่ก็กลายเป็นแฟนกันอย่างเป็นทางการ
- “สามีของฉันเคยเป็นเทพบุตร แต่แล้วเขากลับข่มขืนฉัน”
- จอง จุนยอง: เหยื่อสาวคลิปแอบถ่ายกับตราบาปที่ตามหลอกหลอนไม่จบสิ้น
- เธอถูกพ่อบังคับให้ทำจมูกตั้งแต่อายุ 13 และทำแท้งเมื่ออายุ 14
- “ผมไม่กล้าเลิกแฟนเพราะกลัวเธอจะฆ่าผม”
ก่อนจะออกไปงานสังสรรค์ที่บ้านเพื่อน ซาราห์มักชอบลองชุดที่จะใส่ไปงาน “ชุดนี้โป๊เกินไป” แซคบอก และด้วยความที่เชื่อความคิดเห็นของแฟนหนุ่ม ซาราห์จึงยอมเปลี่ยนชุด
เวลาที่ซาราห์คุยกับเพื่อนผู้ชายคนอื่นที่โรงเรียน แซคก็จะเริ่มพูดว่าเธอทำให้เขาหึง
“ไม่อย่างนั้นแล้วเธอจะคุยกับเขาทำไมล่ะ” แซคตัดพ้อ
ซาราห์รู้ดีว่าการพูดคุยดังกล่าวไม่มีอะไรแอบแฝง แต่เธอคิดว่าบางทีแซคอาจเป็นฝ่ายถูก ถ้ามันทำให้เขารู้สึกแบบนั้น
ตอนที่แซคเริ่มทดลองใช้ยาเสพติดเป็นประจำ ซาราห์บอกเขาว่าเธอเป็นห่วงเขา
“เลิกทำตัวบงการเสียที” แซคบอกเธอ
ยิ่งซาราห์ใช้เวลาอยู่กับแซคมากขึ้นเท่าไร เธอก็เริ่มห่างหายไปจากเพื่อนฝูงมากขึ้นเท่านั้น แซคบอกว่ามันเป็นเรื่องปกติของคู่รักที่เพิ่งคบกัน
“แต่ถึงยังไงผมก็ไม่ได้ชอบเพื่อนคุณอยู่แล้ว”
ในเวลาต่อมา ซาราห์ค้นพบว่าแซคแอบส่งข้อความถึงเพื่อน ๆ ของเธอเพื่อบอกว่า “ซาราห์เกลียดพวกเธอ และนินทาพวกเธอลับหลัง”
เมื่อถึงวัยที่ต้องเข้ามหาวิทยาลัย ซาราห์ได้รับคัดเลือกให้เข้าเรียนในสถาบันที่เธอเลือกไว้เป็นอันดับหนึ่ง ส่วนแซคตัดสินใจสอบใหม่
“อย่าไปเลย ทำไมคุณถึงจะทิ้งผมไว้ตรงนี้” แซคถามเธอ
เขาแสดงท่าทีไม่อยากให้ซาราห์ไปเรียนมหาวิทยาลัยมากขึ้นทุกที โดยบอกว่าไม่มีประโยชน์ที่เธอจะไปเรียนต่อ
“มันสิ้นเปลืองเงิน ยังไงผมก็ต้องเป็นคนทำงานหารายได้เลี้ยงครอบครัวอยู่แล้ว…” แซคอ้าง
ซาราห์ ซึ่งปัจจุบันอายุ 23 ปี บอกว่า ความสัมพันธ์ในช่วง 2-3 ปีแรกกับแซค “ไม่ได้แย่เท่าไหร่”
“ฉันหมายความว่ามันไม่ได้แย่เท่ากับช่วงท้าย ๆ” เธออธิบาย
การบังคับควบคุมจากคนรักคืออะไร
การบังคับควบคุมจากคนรักมักไม่สามารถบ่งชี้ได้ด้วยการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งในความสัมพันธ์ แต่เป็นหลาย ๆ อย่างรวมกัน ทั้งคำพูด พฤติกรรม คำข่มขู่ การทำให้อับอาย การทำให้โดดเดี่ยว และการควบคุมเหยื่อ ทำให้เหยื่อไม่มีอิสรภาพ และสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง
ผู้ตกเป็นเหยื่อมักอธิบายถึงการถูกทำร้ายทางจิตใจและอารมณ์ว่า เป็นการที่ถูกคู่รักทำลายอิสรภาพและความเชื่อมั่นในตัวเอง จน “สิ่งปกติ” เพียงอย่างเดียวที่คุณรู้จักคือคู่รักที่ทำร้ายคุณ
ธรรมชาติของการบังคับควบคุมคือ การที่ผู้ตกเป็นเหยื่อมักมองไม่ออก หรือยากที่จะมองออกถึงรูปแบบการทำร้ายจากน้ำมือของคู่รัก
“เขาบอกว่าเขาสามารถหักคอฉันได้ ถ้าเขาอยากทำ”
เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการทำร้ายในความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ รัฐบาลอังกฤษได้บรรจุเรื่อง “ความสัมพันธ์ศึกษา” ไว้ในหลักสูตรภาคบังคับในโรงเรียนเมื่อเดือน ก.ย.ปี 2020 ซึ่งมีเนื้อหาสอนให้เด็กนักเรียนสามารถบ่งชี้ถึงการทำร้ายด้านร่างกาย จิตใจ และการเงิน ในความสัมพันธ์ของวัยรุ่นและผู้ใหญ่
นี่คือสิ่งที่ซาราห์บอกว่า เธออยากได้เข้าถึงความรู้แบบนี้ก่อนที่จะคบหากับแซค สำหรับเธอแล้วความสัมพันธ์ของทั้งคู่เริ่มจาก “เธอสวยจัง” ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น “เธอโชคดีแค่ไหนแล้วที่ฉันยังอยู่กับเธอ เพราะไม่มีใครอยากได้เธอหรอก”
แซคมักบ่นว่าเขาไม่มีเงินซื้ออาหาร ดังนั้น ซาราห์จึงต้องคอยให้เงินจำนวนมากแก่เขา แต่เธอก็ไม่วายที่จะถูกลงโทษ
แซคมักบอกเธอว่า “คุณทำแบบนี้ เพื่อให้ผมรู้สึกแย่กับตัวเองนะสิ”
ช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย แซคที่ไม่ได้อยู่กับซาราห์ ยังคงเฝ้าบีบบังคับไม่ให้เธอออกไปสังสรรค์กับเพื่อน ๆ ตอนกลางคืน โดยมักบอกว่า “เธอจะถูกคนแปลกหน้าวางยาและข่มขืน” และมันจะทำให้เขาเป็นห่วงเธอมากจนนอนไม่หลับ
แต่ถ้าซาราห์ยังดึงดันที่จะออกไปเที่ยว ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เธอก็จะได้รับข้อความและสายโทรเข้าจำนวนมากจากแฟนหนุ่มที่ซักไซ้ไล่เลียงว่าเธออยู่ที่ไหนและกำลังทำอะไรอยู่
“ฉันเริ่มรู้สึกว่าชีวิตมหาวิทยาลัยของฉันถูกจำกัดมาก” ซาราห์เล่าถึงความรู้สึกตอนนั้น
“ฉันรู้สึกว่าไม่สามารถร่วมกิจกรรมต่าง ๆ หรือผูกมิตรกับเพื่อนใหม่ได้เลย และเพื่อนร่วมหอของฉันต่างคิดว่าความสัมพันธ์ของเราแปลกประหลาด เพราะฉันต้องคอยขออนุญาตเขาตลอดเวลา แต่ตอนนั้นฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ เขาโน้มน้าวใจให้ฉันเชื่อว่ามันเป็นเรื่องปกติ”
แต่ก่อนที่ซาราห์จะตระหนักถึงความผิดปกติในความสัมพันธ์นี้ เธอก็เริ่มรู้สึกกังวลกับความปลอดภัยของตัวเอง
ตอนที่เธอจำฝังใจที่สุดคือตอนที่แซคมาหาเธอที่มหาวิทยาลัย เธอออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้เขา และระหว่างที่ทั้งคู่นอนอยู่บนเตียงด้วยกันนั้น จู่ ๆ เขาก็พูดขึ้นมาว่า “ผมสามารถหักคอคุณได้ในตอนนี้ ถ้าผมอยากทำ”
ซาราห์บอกว่า พฤติกรรมชอบบีบบังคับของแซคยังลามไปถึงเรื่องบนเตียงด้วย “เขาชอบพูดเรื่องที่เขาดูหนังโป๊ที่มีความรุนแรง”
“ก็คุณไม่ยอมทำในห้องนอนนิ ผมถึงต้องไปหาจากที่อื่น” แซคพูด
ซาราห์บอกว่า รู้สึกกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตตัวเองมากกว่าหนึ่งครั้ง เพราะตอนที่แซคโมโหเขามักทุ่มเก้าอี้ ทุบทำลายข้าวของ และข่มขู่เธอ ราวกับเป็นเรื่องปกติแบบเวลาที่เขาจูบเธอ
“ฉันไม่อยากไปพบหน้าเขาอีกต่อไป ฉันรู้สึกกลัวเขา” ซาราห์กล่าว
แต่ถึงอย่างนั้นเธอยังคบแซคต่อ จนกระทั่งช่วงปีที่ 3 ในมหาวิทยาลัยที่เพื่อนร่วมหอจับซาราห์มานั่งคุย แล้วบอกว่าเธอเป็นห่วงซาราห์จริง ๆ ว่าความสัมพันธ์ที่บังคับควบคุมแบบนี้จะทำลายชีวิตของเธอในที่สุด
“ฉันไม่มีความสุขเลย และฉันยังไม่รู้ตัว ความสัมพันธ์ไม่ควรทำให้คุณต้องรู้สึกกังขาในตัวเองอยู่ทุกวัน”
“ฉันเฝ้าครุ่นคิดว่า ‘ฉันอยากอยู่แบบนี้ไปตลอดชีวิตเหรอ’”
โชคร้ายที่หลายครั้งการทำร้ายในความสัมพันธ์แบบนี้ไม่ได้หยุดลงไปพร้อมกับความสัมพันธ์ที่ยุติไปแล้ว
ความสัมพันธ์ที่แลกด้วยชีวิต
ข้อมูลจาก ดร.เจน มอคตัน สมิธ ผู้เชี่ยวด้านอาชญวิทยาระบุว่า ข้อมูลเมื่อปี 2019 พบว่าในอังกฤษและเวลส์มีผู้หญิงถูกฆาตกรรมจากความรุนแรงในครอบครัวสัปดาห์ละ 2 คน โดยบางรายเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์แบบบังคับควบคุม ซึ่งความสัมพันธ์รูปแบบนี้สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศ
การบังคับควบคุม กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายในอังกฤษเมื่อปี 2015 ภายใต้ความผิดฐาน “มีพฤติกรรมควบคุม หรือบีบบังคับในความสัมพันธ์แบบคู่รัก หรือความสัมพันธ์แบบครอบครัว”
การที่พฤติกรรมเหล่านี้จะเข้าเกณฑ์ความผิดทางอาญานั้น การบังคับควบคุมที่เกิดขึ้นจะต้องทำให้บุคคลรู้สึกกลัวว่าจะมีการใช้ความรุนแรงต่อพวกเขาอย่างน้อย 2 ครั้ง หรือทำให้เกิดความกลัวหรือความทุกข์ใจอย่างรุนแรง จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
ตอนที่ซาราห์ตัดสินใจบอกเลิกแซค เธอเลือกที่จะบอกเลิกเขากลางถนน เพราะอยากทำในที่ชุมชน เพื่อที่เขาจะไม่กล้าทำร้ายเธอ
ทว่าหลังจากนั้นหลายเดือน แซคยังคงไม่เลิกตามรังควานเธอ
“ถ้าฉันไม่ตอบเขา เขาก็ขู่ว่าจะฆ่าตัวตาย” ซาราห์เล่า
ตอนที่ซาราห์ตัดสินใจบล็อกเบอร์โทรศัพท์ของเขา แซคก็บุกไปหาเธอถึงบ้าน และมีครั้งหนึ่งที่บุกไปบ้านแม่ของเธอด้วย
“ฉันตระหนักได้ว่าคงไม่สามารถหลุดพ้นจากเขาได้ จนกว่าฉันจะย้ายไปอยู่ที่อื่น และเขาไม่รู้ที่อยู่ของฉันอีกต่อไป” ซาราห์บอก
เป็นเวลาร่วมสองปีมาแล้ว นับแต่ซาราห์หลุดพ้นจากประสบการณ์เลวร้ายนี้ เธอได้เข้าสังคมแบบหนุ่มสาวทั่วไป และมีความสัมพันธ์ที่มีความสุข และเธอยังบอกว่า เริ่มรู้สึกเป็นตัวของตัวเองอีกครั้ง
สัญญาญบ่งชี้การบังคับควบคุมจากคนรัก
Women’s Aid องค์กรการกุศลที่ให้ความช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว ได้ยกตัวอย่างพฤติกรรมที่เข้าข่ายพฤติกรรมบังคับควบคุมของคนรักเอาไว้ดังนี้
- กีดกันคุณออกจากเพื่อนฝูงและครอบครัว
- ไม่ให้คุณเข้าถึงความต้องการขั้นพื้นฐาน เช่น อาหาร
- เฝ้าตรวจสอบเวลาของคุณ
- เฝ้าตรวจสอบคุณผ่านอุปกรณ์สื่อสารทางออนไลน์ต่าง ๆ หรือสปายแวร์
- ควบคุมเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของคุณ เช่น สถานที่ที่คุณไป คนที่คุณพบ เสื้อผ้าที่คุณใส่ และเวลาที่คุณนอน
- ไม่ให้คุณเข้าถึงบริการช่วยเหลือต่าง ๆ เช่น บริการทางการแพทย์
- ทำให้คุณรู้สึกต้อยต่ำครั้งแล้วครั้งเล่า เช่น บอกว่าคุณไร้ค่า
- ทำให้คุณอับอาย ด้อยค่า และย่ำยีศักดิ์ศรีคุณ
- ควบคุมด้านการเงินของคุณ
- ข่มขู่ และทำให้คุณรู้สึกหวาดกลัว