ไต้หวันโชว์เครื่องบินขับไล่ “เอฟ-16 วี” รุ่นใหม่ ท่ามกลางภัยคุกคามจากจีน

Home » ไต้หวันโชว์เครื่องบินขับไล่ “เอฟ-16 วี” รุ่นใหม่ ท่ามกลางภัยคุกคามจากจีน


ไต้หวันโชว์เครื่องบินขับไล่ “เอฟ-16 วี” รุ่นใหม่ ท่ามกลางภัยคุกคามจากจีน

ไต้หวันอวดเครื่องบินขับไล่ – วันที่ 19 พ.ย. ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 พ.ย. ไต้หวันมีการจัดแสดงอุปกรณ์ทางทหารรุ่นใหม่ล่าสุด. นั่นคือเครื่องบินขับไล่เอฟ-16 รุ่นอัพเกรด ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญของการป้องกันไต้หวันในกรณีที่จีนโจมตีทางอากาศ.

ฝูงเครื่องบินขับไล่เอฟ-16 ส่งเสียงไปทั่วท้องฟ้าที่ฐานทัพอากาศเจียอี้ บนชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของไต้หวัน ขณะที่นักบินซ้อมรบทางอากาศเพื่อแสดงความสามารถของฝูงบินเอฟ-16 วี หรือไวเปอร์ (Viper) ที่ผลิตในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นฝูงบินแรกของไต้หวัน. และมีการจัดแสดงเครื่องบินขับไล่เอฟ-16 มากกว่า 20 ลำด้วย.

 

ประธานาธิบดีไช่ อิง-เหวิน ผู้นำหญิงของไต้หวัน กล่าวในพิธีการทำข้อตกลงว่าจ้างผลิตเครื่องบินขับไล่เอฟ-16 วีว่า การก่อตั้งกองบินต่อสู้เอฟ-16 วี รุ่นใหม่แสดงถึงมิตรภาพที่ลึกซึ้งระหว่างไต้หวันและสหรัฐ.

“ทีมงานของล็อกฮีด มาร์ติน (ผู้ผลิตเอฟ-16 วี) ให้ความช่วยเหลืออย่างมากในการอัพเกรดแล้วเสร็จ. สิ่งนี้ไม่เพียงแต่ส่งสัญญาณถึงความก้าวหน้าต่อไปของมิตรภาพระหว่างไต้หวันกับสหรัฐ แต่ยังแสดงถึงความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ต่อความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับสหรัฐ” ประธานาธิบดีไช่กล่าว

AP

ผู้นำไต้หวันยังกล่าวขอบคุณกองทัพอากาศที่ทำงานทั้งวันทั้งคืนเพื่อปกป้องไต้หวัน.

“ไม่ว่าการบุกรุกใดๆ กองทัพอากาศของเราสามารถขึ้นไปบนท้องฟ้าเพื่อสกัดกั้นและขับไล่ผู้บุกรุกทันที. นี่แสดงถึงความมุ่งมั่นของเราที่จะปกป้องน่านฟ้าของเรา. ดิฉันเชื่อว่าตราบใดที่เรายังคงปกป้องค่านิยมเสรีและประชาธิปไตย ประเทศที่มีอุดมการณ์คล้ายคลึงกันจะยืนเคียงข้างเรามากขึ้น” ประธานาธิบดีไช่กล่าว

AP

สำนักข่าวกลาง (ซีเอ็นเอ) ของไต้หวันรายงานว่า เครื่องบินขับไล่เอฟ-16 วี อัพเกรดจากเครื่องบินขับไล่เอฟ-16 เอ/บี รุ่นเก่า (ไต้หวันได้มาในทศวรรษที่ 1990) และติดตั้งระบบเรดาร์ขั้นสูงและคอมพิวเตอร์ภารกิจใหม่. ไต้หวันยังมีแผนอัพเกรดเครื่องบินขับไล่ 141 ลำ เป็นรุ่นใหม่กว่าภายในปี 2566.

ก่อนหน้านี้ มีการอัพเกรดเครื่องบินขับไล่เอฟ-16 มากกว่า ลำ 60 ไปแล้ว และไต้หวันยังสั่งซื้อเครื่องบินขับไล่เอฟ-16 วี จากล็อกฮีด มาร์ติน ในสหรัฐ ส่วนการส่งมอบคาดว่าจะเริ่มต้นในปี 2566.

AP

พรรคคอมมิวนิสต์ของจีนเพิ่มแรงกดดันทางทหารต่อไต้หวัน รวมถึงการส่งเครื่องบินรบ 150 ลำใกล้เกาะไต้หวันในเวลาเพียง 5 วัน ในเดือนต.ค. ทำให้ไต้หวันออกคำเตือนทางวิทยุและเคลื่อนระบบขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศเพื่อตรวจสอบกิจกรรมทางทหารของจีน.

เมื่อมีการประกาศขายเครื่องบินขับไล่ 66 ลำแก่ไต้หวันเมื่อปีที่แล้ว นักวิเคราะห์กล่าวว่า จะมีการจัดหาเครื่องบินที่มีความสามารถเพื่อแข่งขันกับจีน ขณะเดียวกัน เป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่นักบินรบของไต้หวันด้วย.

ทางการจีนไม่ได้ปฏิเสธการใช้กำลังเพื่อยึดครองไต้หวัน แม้จะไม่เคยปกครองไต้หวันมาก่อน. ไต้หวันซึ่งเป็นเกาะประชาธิปไตยมีรัฐบาลและกองทัพเป็นของตัวเอง ตั้งแต่สิ้นสุดสงครามกลางเมืองจีนเมื่อกว่า 70 ปีที่แล้ว.

การขายอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพสหรัฐแก่ไต้หวันได้รับการรับรองภายใต้รัฐบัญญัติความสัมพันธ์ไต้หวัน ปี 2522 ตราบใดที่การขายดังกล่าวมี “ลักษณะการป้องกันตนเอง”. รัฐบัญญัติดังกล่าวมีการลงนามในกฎหมายหลังรัฐบาลสหรัฐสถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตกับจีนแผ่นดินใหญ่ โดยมีข้อแม้ว่าการกำหนดอนาคตของไต้หวันจะต้องเป็นไปด้วยสันติวิธี.

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ