FootNote:จับตาทิศทางของ ‘เพื่อไทย’ บนหนทางแก้ ‘รัฐธรรมนูญ’
จังหวะก้าวทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยต่อ ‘รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560’ น่าศึกษาและทำความเข้าใจอย่างเป็นพิเศษ
เริ่มจาก ‘หัวหน้าพรรค’ ตามด้วย ‘เลขาธิการพรรค’
ในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยในบท ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ ประกาศมติของพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นชอบและพร้อมรับร่างของ ‘รี-โซลูชั่น’
ในที่ประชุมรัฐสภาไม่ว่าการอภิปรายจาก นายสมคิด เชื้อคง ไม่ว่าการอภิปรายของ นายรังสิมันต์ โรม ไปในทิศทางเดียวกันกับมติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน
และเมื่อผลการลงมติปรากฏออกมาในวันที่ 17 พฤศจิกายน เป็น 473 ต่อ 206 อันส่งผลให้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน มีอันต้องตก เพราะไม่ผ่านความเห็นชอบในวาระ 1
คำประกาศของ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง มีความแจ่มชัด
แจ่มชัดว่า ทิศทางของพรรคเพื่อไทยคือ ทิศทางที่จะแก้ไขเพิ่ม เติมรัฐธรรมนูญ ‘ทั้งฉบับ’ อย่างแน่วแน่และมั่นคง
ทิศทางนี้คือ การยกระดับอย่างก้าวกระโดดของพรรคเพื่อไทย
แต่เดิมภายในพรรคร่วมฝ่ายค้านมีความเห็นต่างระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล ต่อความต้องการที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 อย่างมีนัยสำคัญ
นั่นก็คือ พรรคเพื่อไทยต้องการเว้นหมวด 1 และหมวด 2 ขณะที่พรรคก้าวไกลยืนยันแก้ไขได้ทุกหมวด
จากพื้นฐานความเห็นต่างเช่นนี้เองทำให้เกิดการเสนอร่างแก้ไข เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่แตกต่างกัน และมีการกระทบกระทั่งกันบ้างเล็กน้อยในระหว่างการต่อสู้ในเรื่องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
แต่มติ 473 ต่อ 206 ในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกา ยนได้ก่อ ‘เอกภาพ’ ในทางความคิดภายในพรรคร่วมฝ่ายค้านขึ้น
กลายเป็นพันธมิตรในแนวร่วมทางการเมืองอันแข็งแกร่งพลัน
ไม่ว่าจะต้องการหรือไม่ต้องการ แต่การตัดสินใจในที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ได้ก่อให้เกิดพันธมิตรในทางการเมืองขึ้นมาแล้ว 2 แนวทาง
แนวทาง 1 ต้องการพิทักษ์ แนวทาง 1 ต้องการแก้ไข
เหมือนกับจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่แท้จริงแล้วคือการพิทักษ์ระบอบประยุทธ์อันมีรากฐานมาจาก ‘รัฐประหาร’
การต่อสู้ 2 แนวทางนี้จะเข้มข้นยิ่งในการเลือกตั้งครั้งหน้า