บ่าวสาวควงมาจดทะเบียน พบมีนามสกุลเดียวกัน นายอำเภอสอบวุ่น-ก่อนรู้ความจริง ที่แท้ใช้นามสกุลของผู้นำหมู่บ้าน ไม่ได้เป็นญาติหรือพี่น้องกัน
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 18 พ.ย. ที่ทำการปกครองอำเภออุ้มผาง จ.ตาก ระหว่างที่นายรัตนกุล สังขศิลา ปลัดอำเภออุ้มผาง ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าฝ่ายทะเบียนและบัตรประจำอำเภออุ้มผาง กำลังปฏิบัติหน้าที่ให้บริการประชาชนตามปกติ มีชายหญิงวัยกลางคน พร้อมญาติผู้ใหญ่อีกหลายคน เดินเข้ามาที่ห้องทะเบียนและบัตร โดยชายหญิงทั้งสองคนแสดงความจำนงว่าจะมาขอจดทะเบียนสมรส
แต่เกิดเรื่องสุดแปลกเมื่อนายรัตนกุล ขอให้คู่สมรสคู่นี้แสดงเอกสารสำคัญและแสดงบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อใช้ประกอบการดำเนินการจดทะเบียนสมรส ปลัดอำเภออุ้มผางถึงกับงงและแปลกใจ เนื่องจากพบว่าบัตรประจำประชาชนของคู่สมรสมีนามสกุลเดียวกัน ซึ่งชื่อฝ่ายชายชื่อนายโจมาไน กาญจนเจริญชัย อายุ 42 ปี เป็นชาวบ้านหมู่บ้านแม่จันทะ หมู่ที่ 8 ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง ส่วนบัตรประจำตัวฝ่ายหญิงชื่อนางสาวหน่อไม้ กาญจนเจริญชัย อายุ 43 ปี เป็นชาวบ้านหมู่บ้านแม่จันทะ หมู่ที่ 8 ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง ซึ่งทั้งสองอยู่หมู่บ้านเดียวกัน
ปลัดอำเภออุ้มผางจึงต้องเรียกสอบพยานแวดล้อมเป็นผู้ใหญ่บ้านและพยานบุคคลอื่นๆ อีกหลายคน เนื่องจากเกรงว่าคู่บ่าวสาวทั้งสองอาจจะจะเป็นพี่น้องร่วมสายเลือดเดียวกัน อันเป็นข้อต้องห้ามในการจดทะเบียนสมรส จนเจ้าหน้าที่ประจำห้องทะเบียนของอำเภออุ้มผางต้องสอบถามหาที่ไปที่มาของการที่ทั้งสองมีนามสกุลเหมือนกันและอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน
นายโจมาไน ให้การกับเจ้าหน้าที่ว่า ตนเองเกิดและโตมาในหมู่บ้านแม่จันทะ ซึ่งภรรยาของตนชื่อ น.ส.หน่อไม้ ก็เกิดในหมู่บ้านเดียวกัน หมู่บ้านอยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญการเดินทางยากลำบาก ปัจจุบันตนและภรรยาได้อยู่ร่วมครอบครัวเดียวกันมานานถึง 25 ปี และตนทั้งสองใช้นามสกุลจากผู้นำหมู่บ้านมาจากอดีตและไม่ได้คิดว่าจะมีปัญหาอะไร ไม่ค่อยได้เดินทางมาติดต่อทางราชการในเมืองเลย เนื่องจากการเดินทางลำบากจนวันนี้ต้องมาขอจดทะเบียนสมรส เนื่องจากบุตรชายต้องใช้เอกสารของพ่อแม่ไปใช้ในการศึกษา
ด้านนายรัตนกุล กล่าวว่า ทั้งสองคู่สมรสคู่นี้มีบ้านพักอยู่กลางป่าบนดอยสูงและห่างจากที่ว่าการอำเภออุ้มผางไปไกลกว่า 100 กิโล ติดแนวชายแดนไทย-เมียนมา และได้สอบข้อเท็จจริงว่าสาเหตุที่ทั้งสองมีชื่อนามสกุลเดียวกันนั้น เนื่องจากเมื่อครั้งที่ทั้งสองกำเนิดนั้นได้รับการเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้าน ซึ่งครั้งแรกทั้งคู่ขอใช้ชื่อนามสกุลร่วมกับผู้นำหมู่บ้านและใช้กันมานานหลายสิบปี ทั้งสองได้ร่วมแต่งงานตามประเพณีชนเผ่าในพื้นที่ป่าดอย แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย จนทั้งสองมีบุตรและบุตรชาย ต้องใช้เอกสารการสมรสของคู่บิดามารดา เพื่อรับรองบุตรตามกฎหมาย ทั้งสองจึงตัดสินใจเดินทางลงดอยใช้เวลานานนับวัน เพื่อมาขอนายทะเบียนขอจดทะเบียนสมรส
จากการสอบสวนพยานหลายปากที่คู่สมรสพามาด้วยนั้นให้การสอดคล้องกันและสามารถพิสูจน์ได้ว่าทั้งสองคู่สมรสไม่ได้เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันและไม่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดเดียวกัน ทางนายทะเบียนอำเภออุ้มผางจึงจดทะเบียนสมรสให้ทั้งสองเป็นคู่สามีภรรยากันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สร้างรอยยิ้มแห่งความดีใจให้ทั้งสองสามีภรรยาคู่รักชาวดอยคู่นี้ได้สมหวังมีใบทะเบียนสมรสแบบถูกต้องตามกฎหมายสร้างรอยยิ้มแห่งความรักไปทั่วห้องทะเบียนที่ว่าการอำเภออุ้มผางแบบชื่นมื่น