OFFSIDE COUTURE คือ แบรนด์เสื้อผ้าน้องใหม่ที่กำลังเติบโต และมีการส่งออกไปทั่วโลก โดยผู้ก่อตั้งไม่ใช่ใครที่ไหน เขา คือ เคย์น วินเซนต์ อดีตนักฟุตบอลทีมชาตินิวซีแลนด์ที่เคยค้าแข้งในไทย
เส้นทางชีวิตของเคย์นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เขาไม่ได้เป็นนักบอลที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับทวีป หรือ มีความเชี่ยวชาญชั้นเซียนเกี่ยวกับวงการแฟชั่น แต่ก้าวมาถึงทุกวันนี้ได้ เพราะความมุ่งมั่นในสิ่งที่เขาทำ
จากเรื่องเล่าสู่ประสบการณ์จริง
“ผมเติบโตที่เมืองออกแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ จริงๆ แล้วผมมีโอกาสเล่นกีฬาหลายประเภทตั้งแต่ 7-8 ขวบ แต่สองกีฬาที่ผมตั้งใจเล่นมากที่สุดก็คือ ฟุตบอล กับ เทนนิส จนมาถึงช่วงมัธยมปลาย ผมตัดสินใจที่จะเลือกเดินในเส้นทางของการเป็นนักฟุตบอลอาชีพครับ” เคย์นเล่าเรื่องราวของเขา
ความมุ่งมั่นของนักเตะลูกครึ่ง นิวซีแลนด์-ญี่ปุ่น รายนี้ ทำให้เขาได้รับโอกาสไปเล่นนอกประเทศตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น
ในปี 2007 เคย์นได้ไปค้าแข้งกับทีม ไกนาเระ ต็อตโตริ ที่อยู่ชายฝั่งทางเหนือของตอนกลางประเทศญี่ปุ่น แต่การไปครั้งนี้ กลับเป็นสถานที่ที่ทำให้เขาได้เรียนรู้เกี่ยวฟุตบอลไทย
“ตอนนั้นผมอายุ 19 และโค้ชของทีมก็คือ โค้ชเฮง วิทยา เลาหกุล (ประธานพัฒนาเทคนิคฟุตบอลทีมชาติไทย) ซึ่งเขาชอบเข้ามาชวนผมคุย แล้วเขาก็เป็นคนที่นิสัยดี เป็นกันเองมาก ๆ”
“ส่วนเพื่อนร่วมทีมผมอีกคนหนึ่งก็คือ อดุล หละโสะ ซึ่งเป็นนักเตะในตำแหน่งกองกลาง เขามีการเล่นที่ดีและเราค่อนข้างสนิทกันนอกสนามด้วย”
“การได้ร่วมงานกับทั้งโค้ชและนักเตะชาวไทย ที่ประเทศญี่ปุ่นครั้งนั้น ทำให้ผมเริ่มมีความสนใจที่อยากจะมาค้าแข้งที่ประเทศไทย”
นอกจากเคย์นจะได้เรียนรู้เรื่องวงการลูกหนังไทยผ่านเรื่องเล่าของโค้ชเฮง กับ อดุล แล้ว การได้ไปเที่ยวที่ประเทศไทยอยู่บ่อย ๆ กับครอบครัว ก็เพิ่มความหลงใหลประเทศไทยของเขาอีกด้วย
“ผมได้มีโอกาสมาเที่ยวเมืองไทยอยู่หลายครั้ง ชีวิตความเป็นอยู่ของคน วัฒนธรรมของประเทศ และ ทิศทางของฟุตบอลไทย ล้วนแล้วทำให้ผมอยากมาใช้ชีวิตที่นี่ครับ”
โอกาสนั้นเป็นจริง เมื่อทีม สงขลา ยูไนเต็ด ได้เซ็นสัญญาคว้าตัวเคย์นในปี 2014 และทำให้เขาเป็นนักเตะชาวนิวซีแลนด์คนแรกของลีกไทย
จากคู่แข่งสู่เพื่อนสนิท
การย้ายมาค้าแข้งในต่างแดนย่อมนำไปสู่การได้พบเจอกับผู้คนใหม่ ๆ เคย์นใช้สนามฟุตบอลเป็นมากกว่าแค่สังเวียนในการลงทำการแข่งขัน เพราะสำหรับเขา มันเป็นโอกาสได้รู้จักกับเพื่อนร่วมอาชีพ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพที่เขามีกับสองนักเตะอย่าง มิก้า ชูนวลศรี นักฟุตบอลลูกครึ่งไทย-เวลส์ และ เมลวิน เดอ ลูว์ นักฟุตบอลชาวดัตช์ ที่ค้าแข้งในเมืองไทยมาหลายปี
“ผมได้โอกาสแข่งกับ มิก้า หลายครั้งในไทยลีกครับ ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ผมเล่นที่ สงขลา, บุรีรัมย์ หรือ การท่าเรือ ส่วน เมลวิน ผมรู้จักเขาตอนผมย้ายมาเล่นที่ เกษตรศาสตร์ และ ศุลกากร เราเจอกันบ่อยมาก ๆ”
“การที่เราเป็นคู่แข่งกันในสนามอยู่หลายครั้ง เปิดโอกาสให้เราได้เป็นเพื่อนกันนอกสนามครับ”
ความสนิทสนมของ เคย์น มิก้า และ เมลวิน ก็เพิ่มขึ้นตามกาลเวลาที่ผ่านไป
“พอผ่านไป 2-3 ปี เราก็ได้นัดเจอกันบ่อยมาก ๆ เรานัดกันไปกินข้าว และ เที่ยวด้วยกันในช่วงวันหยุด เราทั้งสามคนมีความสัมพันธ์ที่ดีมาก ผมดีใจที่ฟุตบอลให้โอกาสผมเจอเพื่อนสนิทครับ”
ชีวิตการค้าแข่งในไทยของ เคย์น ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งเลยทีเดียว เขาคว้า 3 แชมป์ ไทยลีก, เอฟเอคัพ, ลีกคัพ ร่วมกับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในปี 2015 รวมถึงช่วยพา แอร์ฟอร์ซ เซ็นทรัล เอฟซี เลื่อนชั้นสู่ ไทยลีก 1 ในฐานะรองแชมป์ไทยลีก 2 ในปี 2017 รวมถึงโอกาสลงเล่นให้อีกหลายทีม และเมื่อเข้าสู่วัยที่ย่าง 30 เขาเริ่มที่จะมองไปถึงอนาคตของตัวเองหลังเลิกเล่นฟุตบอล
เปิดประตูเส้นทางใหม่
อาชีพการค้าแข้งของนักฟุตบอลเป็นสิ่งไม่แน่นอนและไม่สามารถมีใครกำหนดได้ โดยสำหรับเคย์นแล้ว เขาก็ได้มีการคุยเรื่องนี้อยู่บ่อยครั้งกับเมลวิน
“ตอนนั้นปี 2017 ผม กับ เมลวิน เข้าใกล้สู่ช่วงท้ายของอาชีพการเล่นฟุตบอลแล้ว เราเลยลองมาวางแผนเรื่องอนาคตของเรากันดู”
การพบเจอกันครั้งนั้นของเพื่อนสองคน ก็เหมือนการนัดเจอกันในทุก ๆ ครั้ง ไม่ได้เป็นทางการอะไรมาก แต่เหมือนโชคชะตาจะรู้ว่าชีวิตของ เคย์น วินเซนต์ ไม่ควรแค่ได้รับการจดจำในฐานะนักฟุตบอลทั่ว ๆ ไป เพราะวันนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของบทต่อไปในชีวิตของเขา
“ผมจำได้ว่าวันนั้น เรากำลังพูดคุยกันเรื่องเสื้อผ้า ผมบ่นให้เมลวินฟังว่า ‘ผมโคตรเบื่อเสื้อที่ซื้อมาแล้วใส่ไม่กี่ครั้งคุณภาพก็ดร็อป’ คุณลองคิดดู มีหลายคนที่ต้องตั้งใจทำงานหาเงินเพื่อที่ซื้อเสื้อผ้าดี ๆ ใส่ คนพวกนี้ไม่สมควรที่จะต้องมาเสียตังค์กับอะไรที่ใส่แล้วไม่คุ้ม แป๊บเดียวก็ต้องทิ้งไป”
“ผมเลยลองเสนอไปว่า ‘งั้นเราทำแบรนด์ของเราเองเลยไหม ?’ จะได้ไม่ต้องไปซื้อของแพง ๆ ที่ไม่คุ้มราคาใส่กัน เริ่มเลยจะได้ไม่ต้องเสียเวลาอีกแล้ว”
ซึ่งหลังจากที่เคย์นได้พูดไป เมลวินก็ไม่รอช้าที่จะตอบตกลงกับเขา ทว่าทันใดนั้นปัญหาแรกที่พบเจอ คือ การที่เขาทั้งคู่ไม่ได้มีสัญชาติไทย อีกทั้งแทบจะไม่มีความรู้เรื่องการทำธุรกิจในไทยเลย
“การที่เราจะทำให้แบรนด์เสื้อผ้าของเราอยู่ในเมืองไทยนั้น เราอยากให้มีคนไทยมาเป็นส่วนหนึ่งด้วย ผมจึงตัดสินใจชวนเพื่อนที่สนิทอย่าง มิก้า มาร่วมทีมอีกคน”
ไอเดียของการทำแบรนด์เสื้อผ้าเลยเกิดขึ้นจากความไม่พอใจในคุณภาพของเสื้อผ้าที่มีอยู่ สามเพื่อนสนิทเลยเลือกที่จะรวมหัวศึกษาวงการแฟชั่น เริ่มจากการนำแนวเสื้อผ้าที่ชอบใส่มารวมกัน และพยายามหาข้อดีของแต่ละตัว
“ระหว่างการลงมือดีไซน์ ผมกับเมลวิน ก็ได้มีการแซวกันเล่นว่า ต่างคนต่างเป็นกองหน้าที่โดนกรรมการจับล้ำหน้าอยู่บ่อยๆ งั้นเรียกแบรนด์ของเราว่า OFFSIDE เลยก็แล้วกัน (หัวเราะ)”
คุณภาพที่ใครก็เข้าถึงได้
หลังจากใช้เวลาประมาณปีกว่า ๆ ในการรักษาสมดุลระหว่างการเล่นฟุตบอล ควบคู่ไปกับการศึกษาวงการแฟชั่น ความมุ่งมั่นของเคย์นก็ทำให้เขาถึงเป้าหมายที่ต้องการ ในช่วงเดือนมิถุนายนปี 2018 OFFSIDE COUTURE ได้ถูกวางขายอย่างเป็นทางการ
“เป้าหมายของผมก็คือ การสร้างแบรนด์เสื้อผ้าที่เน้นเรื่องคุณภาพเป็นหลัก เสื้อผ้าของเราเมื่อคนใส่แล้วต้องสบาย ดูดี และ ใส่ได้บ่อย ๆ มันจะเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้คนใส่แล้วอยากใส่อีก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้าง Brand Loyalty ระหว่างผู้บริโภคกับแบรนด์ของเราในระยะยาวครับ”
“โดยหากดูจากดีไซน์ของ OFFSIDE แล้ว จะเห็นได้ชัดว่าเราทำออกมาได้เหมาะสมกับคนหลายไลฟ์สไตล์”
OFFSIDE มีตัวเลือกสินค้าที่มากมาย มีเสื้อผ้าหลากหลายดีไซน์ Slim Fit, Oversize, แขนสั้น, แขนยาว รวมถึง ฮูดดี้ มีสีให้เลือกแบบไม่ซ้ำกัน ตั้งแต่ ขาวกับดำ จนถึง ฟ้ากับชมพู แล้ว ยังมีครบสำหรับทั้งเพศชายและหญิง
นอกจากนั้นในปีที่ผ่านมา ได้มีการผลิตกางเกงทั้งในแบบขาสั้นและขายาว พร้อมกับ ACCESSORIES อย่างอื่นเช่น หมวก กับ หน้ากากผ้า อีกด้วย
“ผมอยากให้แบรนด์มีความหลากหลายครับ ผมอยากให้ลูกค้าเราเปิดตู้เสื้อผ้ามาแล้วมีแต่ OFFSIDE เต็มไปหมด”
ส่วนในเรื่องของราคา OFFSIDE ก็ตั้งใจที่จะตั้งราคาให้คนส่วนมากจับต้องได้
“ตอนแรกผมเคยคิดว่าอยากจะทำเสื้อผ้าที่ค่อนข้าง EXCLUSIVE และอยู่ในราคาที่สูงในตลาด HIGH-END แต่ ผมกลับมองว่าการทำให้สินค้าของเราอยู่ในราคาที่คนส่วนใหญ่จับต้องได้ น่าจะตรงกับเป้าหมายของเรามากกว่า”
โดยหลัก ๆ แล้วเสื้อจะตั้งอยู่ในราคาที่ไม่เกิน 800 บาท มีบริการจัดส่งทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นผ่านทาง INSTAGRAM หรือ WEBSITE ของ OFFSIDE COUTURE ก็แล้วแต่
MARKETING ที่แปลกใหม่
นอกจากคุณภาพเสื้อผ้าแล้ว อีกหนึ่งเอกลักษณ์ ของ OFFSIDE ที่ทำให้แตกต่างจากแบรนด์ทั่ว ๆ ไปก็คือการใช้นักฟุตบอลเป็นเครื่องหมายการค้าในการดึงดูดให้คนหันมาสนใจแบรนด์
“การที่เราทั้งสามคนเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ทำให้เรารู้จักคนในวงการนี้เยอะ เราจึงตัดสินใจใช้วิธี MARKETING ผ่านนักฟุตบอล”
เห็นได้ชัดจาก INSTAGRAM ของ OFFSIDE ว่าหลัก ๆ แล้ว นายแบบที่สวมใส่เสื้อจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพ
เคย์น, มิก้า และ เมลวิน ก็จะทำหน้าที่เป็นนายแบบเองบ้าง ส่วนที่เหลือจะมีนักฟุตบอลไทยชื่อดัง อย่างเช่น ชาริล ชัปปุยส์, ชนาธิป สรงกระสินธ์ กับ ธีราทร บุญมาทัน มาช่วยโปรโมทด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น นักฟุตบอลระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น ชินจิ คางาวะ อดีตนักฟุตบอล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, อารอน แรมซีย์ กองกลาง ยูเวนตุส เพื่อนสนิทของ มิก้า สมัยเป็นนักเตะเยาวชนทีมชาติเวลส์ หรือแม้กระทั่ง มาริโอ บาโลเตลลี่ อดีตกองหน้าทีมชาติอิตาลี ก็เคยทำหน้าที่เป็นนายแบบให้กับ OFFSIDE มากันหมดแล้ว
“ในรายของนักเตะต่างชาติ เราแต่ละคนรู้จักเป็นส่วนตัวครับ (เคย์น เคยเป็นนักฟุตบอลเยาวชนร่วมทีมเดียวกับ ชินจิ คางาวะ) เลยลองส่งไปให้เขาใส่กันดู ผมรู้สึกภูมิใจมาก ที่แต่ละคนชอบเสื้อผ้าที่เราส่งไปให้ มันบ่งบอกว่าเรากำลังเดินไปในทางที่ถูกต้องครับ”
อนาคตที่มองไว้
หลังจากลงเล่นไปกว่า 230 นัด และ ทำประตูได้ 107 ลูก ตลอดอาชีพการค้าแข้งของเขา เคย์นได้ตัดสินใจแขวนสตั๊ดในวัย 32 ปี เมื่อช่วงสิ้นปี 2020 ที่ผ่านมา
ตอนนี้เขาได้กลับไปใช่เวลาอยู่กับครอบครัวที่บ้านเกิด เมืองออกแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์แล้ว โดยการตัดสินใจครั้งนี้ จะทำให้เขาได้มีเวลาดูแล OFFSIDE แบบเต็มตัว
เคย์นมีมุมมองต่อโลกของวงการกีฬากับวงการแฟชั่นว่ามันกำลังจะเป็นหนึ่งเดียวกันในอีกไม่นาน และนี้คือสิ่งที่เขาต้องพยายามนำไปใช้กับแบรนด์ OFFSIDE ให้ได้
“ผมมองว่าโลกของกีฬากับแฟชั่นกำลังรวมกันเป็นหนึ่งครับ เห็นได้ชัดจากการที่แบรนด์เสื้อผ้าทั่วไป เริ่มหันมาผลิตเสื้อผ้าใส่เล่นกีฬา เช่นเดียวกับแบรนด์กีฬาดัง ที่ทำเสื้อผ้าสายสตรีทออกมาขายมากขึ้นด้วย”
“ในอนาคต ผมเชื่อว่า OFFSIDE จะต้องเป็นแบรนด์ที่ขึ้นชื่อในเรื่องคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นสำหรับคนในสายแฟชั่น สายกีฬา หรือ สายอื่น ๆ ก็แล้วแต่ ผม มิก้า และ เมลวิน จะคอยพัฒนาต่อไปครับ” เคย์นกล่าวทิ้งท้าย