กรมป่าไม้ ร่วมสำรวจพบต้นยางนา 115 ต้นบนถนนเชียงใหม่ – ลำพูน ต้องเข้าดูแลป้องกันล้มท้บ พร้อมวางแผน 3 ระยะ อนุรักษ์ต้นยางนาเคียงคู่กับถนนสายประวัติศาสตร์
เมื่อวันที่ 9 พ.ย. นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า ภายหลังเกิดเหตุต้นยางนาอายุกว่า 100 ปี บนริมถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน โค่นล้มทับบ้านเรือนเนื่องจากลมพายุและฝนตกหนักลมแรง ในช่วงเดือนต.ค. 64 ที่ผ่านมา นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. ได้สั่งการให้กรมป่าไม้ โดยเจ้าหน้าที่รุกขกร สำรวจต้นยางนา หาแนวทางการดูแล ฟื้นฟู บำรุงรักษา และประเมินความเสี่ยงของต้นยางนาให้ปลอดภัยต่อประชาชน
นายสุรชัย กล่าวอีกว่า ตนจึงได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า ร่วมกับนายคงศักดิ์ มีแก้ว ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยการจัดการป่าไม้ และนายสมบูรณ์ บุญยืน ผอ.ส่วนส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ นำเจ้าหน้าที่รุกขกรเข้าสำรวจต้นยางนาและประเมินความเสี่ยงครบทุกต้น พร้อมประชุมหารือร่วมกับนายเลอยศ พุทธชิโนรสสกุล นายอำเภอสารภี นายวรเดช เต็มดี นายกเทศมนตรีตำบลสารภี นายเสริมยศ สมมั่น ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดจังหวัดเชียงใหม่ นักวิชาการจากสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อจัดทำแผนการจัดการฟื้นฟู ดูแลรักษาต้นยางนาให้แข็งแรง ร่มรื่น สวยงาม และปลอดภัย สร้างประโยชน์และสร้างคุณค่าต่อประชาชนในพื้นที่
โดยวางแผนการบริหารจัดการ ออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1.ระยะเร่งด่วน กรมป่าไม้ดำเนินการสำรวจและประเมินความเสี่ยงต้นยางนา นำทีมรุกขกรดำเนินการตัดแต่งกิ่งและเรือนยอดต้นยางนาที่มีความเสี่ยงสูง พร้อมทั้งมีแผนจัดอบรมรุกขกร นอกจากนี้ ได้หารือร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ในการสนับสนุนการจัดหาเครื่องสแกนต้นไม้ (Tree Radar Scan) เพื่อสำรวจหาโครงสร้างภายในและระบบรากของต้นยางนาทั้งหมด พร้อมทั้งทำประชาพิจารณ์และจัดตั้งคณะทำงาน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
2.ระยะปานกลาง เสนอให้มีการวิจัยทำรากเทียมเพื่อเป็นรากแขนง เพื่อให้มีแรงในการยึดเกาะให้ป้องกันการล้มของต้นยางนาในอนาคต ส่งเสริมให้มีการปลูกต้นยางนาทดแทน รวมทั้งตัดแต่งกิ่งและเรือนยอดเมื่อครบกำหนดเวลา และจัดให้มีระบบเตือนภัยให้ประชาชนรับทราบหากเกิดเหตุ
3.ระยะยาว เสนอให้มีการศึกษาวิจัยอนุรักษ์ต้นยางนา การให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนเกิดความรักและหวงแหนต้นยางนา และส่งเสริมให้เกิดเป็นถนนสายวัฒนธรรม พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนโครงสร้างของถนนให้รากต้นยางนาสามารถเจริญเติบโตได้ พร้อมแนะแนวทางการจัดการต้นยางนาให้กับเจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) ร่วมกับภาคเอกชน และเครือข่ายภาคประชาชน
“จากการสำรวจและร่วมประเมินความเสี่ยงพบต้นยางนาที่ต้องเข้าไปดูแลรักษา จำนวน 115 ต้น ที่จะต้องเข้าไปดำเนินการ ซึ่งกรมป่าไม้จะได้เสนอข้อมูลให้จังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนเข้าไปดำเนินการต่อไป”
อีกทั้งจะเร่งดำเนินการตามแนวทางที่ได้สำรวจและประเมินไว้ และสิ่งที่สำคัญคือให้เจ้าหน้าที่สร้างการมีส่วนร่วม สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนและเครือข่ายในพื้นที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ต้นยางนาให้แข็งแรง สามารถเติบโตเคียงคู่กับถนนสายประวัติศาสตร์ของประเทศ