เกาหลีเหนือ : ภาวะขาดแคลนอาหารขณะที่ฤดูหนาวกำลังใกล้เข้ามา

Home » เกาหลีเหนือ : ภาวะขาดแคลนอาหารขณะที่ฤดูหนาวกำลังใกล้เข้ามา


เกาหลีเหนือ : ภาวะขาดแคลนอาหารขณะที่ฤดูหนาวกำลังใกล้เข้ามา

ลอรา บิกเกอร์

ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำกรุงโซล

เสียงบอกเล่าจากทั้งในและนอกเกาหลีเหนือบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าผู้คนในประเทศกำลังจะต้องเผชิญกับฤดูหนาวอันยากลำบาก ผู้แปรพักตร์ที่อาศัยอยู่ในเกาหลีใต้บอกกับบีบีซีว่าครอบครัวพวกเขาที่ยังอยู่ในเกาหลีเหนือกำลังจะเผชิญกับความอดอยาก

“มีปัญหาต่าง ๆ อาทิ มีเด็กกำพร้าบนท้องถนนมากขึ้น และก็มีรายงานมาอย่างต่อเนื่องว่ามีคนเสียชีวิตเพราะความอดอยาก” ลี ซัง ยง บรรณาธิการเว็บไซต์ข่าวเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ Daily NK กล่าว เขาบอกว่าคนที่มีฐานะยากจนต้องทุกข์ทรมานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะภาวะขาดแคลนอาหารรุนแรงกว่าที่คาดไว้

North Korean farmers work in the fields near Sinuiju, opposite the Chinese border city of Dandong

Getty Images
ชาวไร่ในเกาหลีเหนือไม่มีเทคโนโลยีในการทุ่นแรง (แฟ้มภาพ)

พรมแดนเกาหลีเหนือถูกปิดลงตั้งแต่เดือน ม.ค. ปีที่แล้วเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การรับส่งข้อมูลจากข้างในประเทศยิ่งเป็นไปด้วยความยากลำบากมากกว่าเดิม การส่งสารไปบอกสมาชิกครอบครัวที่แปรพักตร์ออกไปแล้วเป็นเรื่องเสี่ยงมาก

คนที่ถูกจับได้ว่ามีมือถือโดยไม่ได้รับอนุญาตอาจถูกส่งตัวเขาค่ายแรงงานได้ อย่างไรก็ดี ชาวเกาหลีเหนือบางคนก็ยังพยายามส่งจดหมายหรือเข้อความเสียงผ่านมือถือไปยังคนที่พวกเขารักและสื่อต่าง ๆ ในกรุงโซล

ข้าวทุกเม็ด

Kim Jong-un

BBC

เกาหลีเหนือเคยเผชิญหน้ากับภาวะขาดแคลนอาหารมาแล้ว แต่การระบาดใหญ่ทำให้ทุกอย่างแย่ยิ่งกว่าเดิม คิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ เปรียบเทียบสถานการณ์ปัจจุบันกับวิกฤตเมื่อปี 1990 ที่มีคนหลายแสนเสียชีวิตเพราะอดอยาก

แม้มีสัญญาณว่าเกาหลีเหนือจะเปิดพรมแดนกับจีนอีกครั้ง แต่ก็ไม่แน่ใจว่าการค้าและความช่วยเหลือที่ได้จะช่วยได้แค่ไหน ฤดูเก็บเกี่ยวปีนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญหลังจากที่ปีที่แล้วพายุไต้ฝุ่นหลายระลอกสร้างความเสียหายต่อพืชผลเป็นอย่างมาก โดยสหประชาชาติประเมินว่าเกาหลีเหนือขาดแคลนอาหารอย่างน้อย 2-3 เดือน

มีรายงานว่ามีการส่งคนหลายหมื่นคน รวมถึงกองทัพด้วย ไปช่วยกันเก็บเกี่ยวข้าวและข้าวโพด และนายคิม จอง-อึน สั่งให้เก็บข้าวทุกเม็ด และบอกว่าใครก็ตามที่กินข้าวต้องไปช่วยกันเก็บเกี่ยวด้วย

นายลี จาก Daily NK บอกว่า เกิดบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวขึ้นเพราะมีการสั่งลงโทษอย่างเข้มงวดหากมีใครขโมยหรือโกงขณะไปช่วยเก็บเกี่ยวผลผลิต

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส.ส. ที่เข้าร่วมการประชุมสภาแบบปิดของเกาหลีใต้เล่าว่า หน่วยข่าวกรองแห่งชาติของเกาหลีใต้ (NIS) บอกว่า นายคิมรู้สึกว่าตัวเองกำลังเดินอยู่บนน้ำแข็งบาง ๆ หรืออยู่ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมเพราะสภาพเศรษฐกิจ นอกจากนี้ หน่วยข่าวกรองแห่งชาติ ยังบอกว่า ภาวะขาดแคลนยาและสิ่งจำเป็นอย่างอื่น ๆ ยังทำให้โรคระบาดอื่น ๆ อาทิ ไข้ไทฟอยด์ ยิ่งระบาดหนักเข้าไปใหญ่

  • คิม จอง-อึน เตือนให้รับมือ “ทุพภิกขภัย” ครั้งใหญ่
  • เกาหลีเหนือแสดงแสนยานุภาพท้าทายว่าที่ ปธน.สหรัฐฯ คนใหม่
  • หนังสารคดีเปิดโปงเกาหลีเหนือ “ค้ายาและอาวุธ” เมินคว่ำบาตรจากนานาชาติ
  • เกาหลีเหนือสั่งลงโทษเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เหตุรับมือไต้ฝุ่นไมสักล้มเหลว

การทำไร่แบบสมัยใหม่

SK harvest

BBC
ชาวไร่ในเกาหลีใต้มีเครื่องจักรทันสมัยในการช่วยทุ่นแรง

ปัญหาใหญ่ของเกาหลีเหนือมี 2 ประการด้วยกัน

ประการแรกคือ เทคโนโลยีและเครื่องไม้เครื่องมือในภาคเกษตรกรรม ขณะที่ประเทศทุ่มทุนพัฒนาเทคโนโลยีทางการทหาร ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเกาหลีใต้กลับไม่มีเครื่องจักรสมัยใหม่ที่จะช่วยให้ทำการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างรวดเร็ว ต่างจากในเกาหลีใต้

นอกจากขาดเทคโนโลยีและเครื่องจักรในการทำไร่แล้ว ปัญหาในระยะยาวสำหรับเกาหลีเหนือคือ หน่วยข่าวกรองต่าง ๆ ของสหรัฐฯ บอกว่าพวกเขาเป็น 1 ใน 11 ประเทศที่อยู่ในภาวะเปราะบางเสี่ยงได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุด และพื้นที่ในการเพาะปลูกที่มีอยู่อย่างจำกัดก็อาจได้รับผลกระทบมากที่สุด

นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมเกาหลีเหนือส่งเอกอัครราชทูตประจำสหราชอาณาจักรของประเทศไปร่วมการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ด้วย

ชอย ยองโฮ จากสถาบันเศรษฐกิจชนบทเกาหลี บอกว่า เกาหลีเหนือเสี่ยงโดนภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ฝนจากพายุมรสุม และพายุไต้ฝุ่น ในทุก ๆ ปีที่ส่งผลต่อผลผลิตโดยตรง และทำให้เกิดปัญหาศัตรูพืชในทางอ้อม

เกาหลีเหนือ : ภาวะขาดแคลนอาหารขณะที่ฤดูหนาวกำลังใกล้เข้ามา

Getty Images
คนเกาหลีเหนือกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนอาหารอย่างหนัก โดยเฉพาะเมืองในแถบชายแดนที่ติดกับจีน

แม้ว่าเกาหลีเหนือแทบจะไม่ยอมมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก แต่พวกเขาก็ทำงานร่วมกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ในการเขียนรายงานระหว่างปี 2003 ถึง 2012 และก็ส่งตัวแทนไปร่วมการประชุมพิธีสารเกียวโตและข้อตกลงปารีสฯ ท่าทีเหล่านี้อาจเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกส่งผลต่อการผลิตอาหารของพวกเขาเป็นอย่างมาก

รายงานเมื่อปี 2019 ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของเกาหลีเหนือสูงขึ้นถึง 1.9 องศาเซลเซียสระหว่างปี 1918 ถึง 2000 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียประเทศหนึ่ง

รายงานโดยกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund) คาดว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในเกาหลีเหนือจะสูงขึ้นอีก 2.8-4.7 องศาเซลเซียสภายในทศวรรษ 2050

ระหว่างการประชุม COP26 มีความพยายามจากฝ่ายรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศกับตัวแทนจากเกาหลีเหนือแต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้น

หากตัวแทนจากเกาหลีเหนือฟังสุนทรพจน์ในการประชุมที่กลาสโกว์ พวกเขาจะตระหนักว่า ประเทศจะเผชิญกับความยากลำบากอยู่ดีแม้ว่าการระบาดของโควิดจะดีขึ้นและกลับไปทำการค้าขายกับจีนได้อีกครั้ง

พวกเขาไม่สามารถเอาชนะอุปสรรคนี้ได้โดยการพึ่งตัวเองอย่างเดียว

……..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ