สายไฟไทยดังไกลถึงญี่ปุ่น เปิดภาพเห็นจะจะ พันกันยุ่งเหยิง จุดที่ รัสเซล โครว์ ถ่ายยังเหมือนเดิม
วันที่ 6 พ.ย.64 สายไฟในประเทศไทย ดังไปไกลถึงญี่ปุ่น ถึงขั้นน้ำเสนอข่าวเป็นเรื่องเป็นราว โดยเฟซบุ๊ก “Japan Guide Book” ได้โพสต์ว่า สายไฟไทยดังไกลถึงญี่ปุ่น สื่อญี่ปุ่นลงข่าวสายไฟรกรุงรังของไทย “80% คือสายไฟที่ไม่ได้ใช้งาน” “ใช้เวลาถึง 200 ปีในการเอาลงดิน” และการโยนหินเปิดประเด็นเรื่องนี้จากรัสเซล โครว์
สื่อญี่ปุ่น Abema Times ทำสกู๊ปข่าวและลงพื้นที่ พาชมสภาพสายไฟตามท้องถนนในไทย ในคลิปข่าวผู้สื่อข่าวได้รายงานว่าที่ไทยมีสายไฟจำนวนมากที่พันกันยุ่งเหยิงราวกับถักไหมพรม ดูเหมือนว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนไทยไปแล้ว แต่สายไฟเหล่านี้อาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงถึงชีวิตและเพลิงไหม้ได้
ผู้สื่อข่าวอธิบายว่า ภาพแบบนี้ไม่ได้มีแค่ในกรุงเทพฯ ส่วนสายไฟที่ยุ่งเหยิงพันกันนั้น เป็นสายที่มาจากหลายหน่วยงาน ทั้งสายโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต ทีวี เคเบิลทีวี และกล้องวงจรปิด เขาได้ไปถามผู้เชี่ยวชาญ ได้คำตอบว่าเกือบ 80% คือสายไฟที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว ถ้าถามคนในพื้นที่ บ้างก็จะตอบแนวประชดประชันว่า “แม้แต่ช่างไฟก็ยากที่จะบอกว่า อันไหนใช้ได้ อันไหนใช้ไม่ได้”
ผู้ประกาศข่าวในห้องส่งถามว่า “แล้วรัฐบาลไม่มีมาตรการแก้ปัญหาเรื่องนี้เลยเหรอ?”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่ารัฐบาลไทยวางแผนเรื่องนำสายไฟลงดินมาตั้งแต่ปี 2527 แล้ว เส้นทางที่จะเอาลงดินในพื้นเขตที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีระยะทางถึง 230 กม. แต่ตอนนี้ทำเสร็จไปแค่ 20% เท่านั้น
การที่เจ้าของสายไฟมาจากหลายหน่วยงาน และทางรัฐบาลเองก็ไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพที่สั่งการ ก็มีส่วนทำให้ไม่คืบหน้าด้วย ผู้เชี่ยวชาญกล่าวยังกล่าวว่า “ถ้าอยู่ในสปีดแบบปัจจุบันนี้ กว่าจะเอาสายไฟและอุปกรณ์ทั้งหมดลงใต้ดินได้ น่าจะใช้เวลากว่า 200 ปี”
การที่รัสเซล โครว์ โพส เปิดประเด็นเรื่องนี้ จะทำให้มันเร็วขึ้นมั้ย?
ปัญหาสายไฟถูกหยิบยกเอามาเป็นประเด็นเมื่อรัสเซล โครว์ ดาราฮอลิวูดชื่อดัง ได้มาถ่ายภาพสายไฟเอาไว้และเผยแพร่ไปทั่วโลกผ่านทางทวิตเตอร์ของเขา ก่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในไทย ในวันถัดมาการไฟฟ้าฯที่ดูแลสายไฟ ก็ทำการติดต่อไปยัง กสทช. ให้ดำเนินการแก้ไข ในขณะที่คนกรุงเทพฯ ก็ต่างพูดกันว่า “มันควรจะแก้ไขตั้งแต่ต้นแล้ว” และ “รู้สึกอาย”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความจริงก่อนหน้านี้ “บิล เกตส์” ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ ก็เคยโพสต์ภาพสายไฟพันกันลงในเฟซบุ๊กของเขา หลังจากโพสนั้นก็มีกระแสตอบกลับจากคนไทยว่า “ที่เห็นยุ่งเหยิงนั้นไม่ใช่สายไฟ” และงานฝังสายไฟลงใต้ดินก็คืบหน้าไปได้เร็วขึ้น
คราวนี้ก็เช่นเดียวกัน การไฟฟ้าฯ ก็ออกมาสั่งการในทันที ดังนั้นอาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นมา อย่างไรก็ตามทางรัฐบาลก็ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การจัดตั้งหน่วยงานดูแลเรื่องนี้เฉพาะ เวลาไปถามคนไทยก็จะคงจะตอบว่าไม่ได้คาดหวังอะไรมาก
มีหลายช่วงหลายตอนที่พอผู้สื่อข่าวตอบ เช่น ตัวเลข 200 ปี หรือ 80% คือสายไฟที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว ผู้ประกาศข่าวในห้องส่งถึงกับทำเสียงตกใจขึ้นมา แล้วเขาก็ถามว่า “แล้วตรงจุดที่ รัสเซล โครว์ ถ่ายภาพไว้ หลังจากนั้นมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมั้ย?”
ผู้สื่อข่าวชาวญี่ปุ่นตอบว่า “ไม่มีอะไรเปลี่ยนครับ” และเขายังบอกทิ้งท้ายว่า “ผมคิดว่ารัฐบาลควรจะต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบางสิ่งบางอย่าง ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นกว่านี้ อย่างเช่นการสร้างระบบการทำงานที่ต่างไปจากเดิม”
เสียงคอมเมนต์จากชาวเน็ตญี่ปุ่น
“ที่บอกว่ากรุงเทพฯใช้เวลา 200 ปี แต่ว่าที่ญี่ปุ่นด้วยสปีดปัจจุบันนี้ แม้จะใช้เวลาถึง 2,000 ปีก็ไม่เสร็จ ความจริงที่น่าตกใจ อัตราการเอาสายไฟลงดินของลอนดอน ปารีส ฮ่องกง อยูที่ 100% แต่ที่ญี่ปุ่นยังไม่ถึง 5% เลย”
“สู้ที่เวียดนามไม่ได้ 555”
“เพิ่งรู้ว่า 80% ที่ไม่ได้ใช้ ยังไงก็ตาม ไม่ใช่แค่ไทย ประเทศอื่นในอาเซียนก็คล้ายๆ กัน”
“มาตรการของรัฐบาลไทยคือ ไม่มีเลย”