ทำกันมาเป็นร้อยปี : จริงหรือที่การโหม่งบอล ทำลายสุขภาพของนักเตะ ?

Home » ทำกันมาเป็นร้อยปี : จริงหรือที่การโหม่งบอล ทำลายสุขภาพของนักเตะ ?
ทำกันมาเป็นร้อยปี : จริงหรือที่การโหม่งบอล ทำลายสุขภาพของนักเตะ ?

ลูกโหม่ง หนึ่งในจังหวะคลาสสิกที่อยู่คู่กับการเล่นฟุตบอลมาทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นจังหวะทำประตูสุดสวยด้วยท่า “ฟลายอิ้งดัตช์แมน” ของ โรบิน ฟาน เพอร์ซี่ย์ หรือช็อตใช้หัวสกัดลูกจากพื้นของ ฟิล โจนส์ จนกลายเป็นมีมที่โด่งดังมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม เรามักได้ยินข่าวของเหล่าตำนานนักเตะสมัยก่อน ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมเมื่อแก่ตัวลงอยู่บ่อยครั้ง ไล่ตั้งแต่ เดนนิส ลอว์, เซอร์ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน, และ เทอรี่ แม็คเดอร์ม็อตต์ จนทำให้เกิดการเชื่อมโยงกันว่า สาเหตุที่แท้จริงของอาการเหล่านี้ มาจากการโหม่งบอลที่มากเกินไปหรือไม่ ?

มาลองไขข้อสงสัยกันว่า การโหม่งบอลส่งผลต่อสุขภาพของนักเตะได้หรือไม่ แล้วมันมีผลร้ายแรงถึงขั้นทำให้เป็นโรคสมองเสื่อมได้เลยหรือ ?

 

ติดตามได้ที่นี่กับ Main Stand

เกิดอะไรขึ้นระหว่างโหม่งบอล

ฟุตบอล เป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมไปทั่วทุกมุมโลก โดยมีรายงานว่ามันถูกเล่นโดยประชากรมากกว่า 285 ล้านคน ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ชายหรือหญิง นักเตะอาชีพหรือผู้เล่นพาร์ตไทม์

พอพูดถึงจังหวะโหม่งลูกบอล แน่นอนว่ามันมีความแตกต่างไปตามระดับของการแข่งขัน ซึ่งในที่นี้ ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างกรณีการโหม่งบอลในลีกระดับอาชีพ อย่าง พรีเมียร์ลีก, ลา ลีกา, บุนเดสลีกา, ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก, และอื่น ๆ มาเป็นเคสตัวอย่างในการวิเคราะห์กัน

 

เริ่มจากปัจจัยแรกที่ส่งผลต่อการโหม่ง นั่นคือลูกฟุตบอล โดยในกรณีของพรีเมียร์ลีกจะใช้ลูกฟุตบอล Nike Flight ที่นอกจากจะมีการปรับลวดลายของบอลเพื่อช่วยลดแรงต้านอากาศ และทำให้มันเคลื่อนที่ได้เร็วและแม่นยำขึ้นแล้ว ก็ยังมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 70 เซนติเมตร ความดันเมื่อเริ่มการแข่งขันจะต้องอยู่ระหว่าง 0.6-1.1 ATM และมีน้ำหนักอยู่ที่ 450 กรัมด้วยกัน

หากใครที่เคยมีประสบการณ์ได้เล่นลูกฟุตบอลแบบที่ใช้ในลีกสูงสุดกันมาแล้ว ก็คงสัมผัสได้ถึงความหนักของลูก ซึ่งมากกว่าที่เราคาดคิดไว้พอสมควร ทีนี้ลองนึกภาพการโหม่งบอลจากลูกเปิดริมเส้น หรือโหม่งสกัดลูกยิงที่ซัดเข้ามาด้วยความเร็วระหว่าง 15-30 เมตร/วินาทีดู ว่าการโดนมวลหลักครึ่งกิโลกรัมเข้ามาเต็ม ๆ ที่บริเวณหน้าผาก จะเกิดอะไรขึ้นกับสมองของเราได้บ้าง

 

กรณีที่พบบ่อยที่สุด คงไม่พ้นอาการ Concussion หรือเป็นการกระทบกระเทือนกับศีรษะ ที่พบได้มากถึง 22% ของอาการบาดเจ็บระหว่างเกมฟุตบอล ซึ่งเกิดขึ้นได้เมื่อมีการกระทบกระทั่งกันอย่างรุนแรง ไม่ว่าระหว่างผู้เล่นกับผู้เล่น หรือขณะที่นักเตะกำลังขึ้นไปโหม่งบอลก็ตาม

ในปัจจุบัน พรีเมียร์ลีกค่อนข้างให้ความสำคัญกับอาการบาดเจ็บรูปแบบดังกล่าว โดยผู้ตัดสินสามารถเป่าหยุดเกมได้ทันทีที่มีผู้เล่นเสี่ยงเป็น Concussion เช่นเดียวกับทีมแพทย์ที่สามารถวิ่งเข้ามาในสนามได้โดยไม่ต้องรอสัญญาณนกหวีด พร้อมกับใช้เวลาประเมินอาการของผู้เล่นได้เต็มที่ เพื่อให้มั่นใจว่านักเตะจะไม่ต้องฝืนเล่นต่อพร้อมกับอาการบาดเจ็บดังกล่าว โดยสามารถเปลี่ยนตัวผู้เล่นจากโควตาปกติ 3 คน เพิ่มได้อีก 2 คน ในกรณีที่มีผู้เล่นต้องออกจากสนามเนื่องจากอาการกระทบกระเทือนที่ศีรษะ

 

หนึ่งในกรณีตัวอย่างของผู้เคยประสบกับอาการ Concussion คือ ลอริส คาริอุส ผู้รักษาประตูของลิเวอร์พูล ที่ถูกแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคาดกันว่าการโดนศอกของ เซร์คิโอ รามอส เข้าปะทะในระหว่างนัดชิงชนะเลิศของ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ฤดูกาล 2018-19 ที่เป็นต้นเหตุทำให้เจ้าตัวเกิดปัญหาในการรับรู้ระยะและทิศทางของลูกบอล จนนำไปสู่ความผิดพลาดง่าย ๆ จนเสียถึง 2 ประตู และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เจ้าตัวไม่สามารถฟื้นฟูความมั่นใจกลับมาสู่ระดับเดิมได้อีกเลย

 

แน่นอนว่าอาการ Concussion นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่ภัยที่อันตรายยิ่งกว่าคืออาการแบบ Subconcussive injuries ซึ่งผู้เล่นถูกกระทบกระเทือนบริเวณศีรษะที่ไม่รุนแรงถึงระดับ Concussion แต่ก็จะสะสมไว้จนกลายเป็นอาการแบบโรคเนื้อเยื่อสมองเสื่อมรุนแรงเรื้อรัง หรือ Chronic traumatic encephalopathy (CTE)

อาการของโรคสมองเสื่อม หรือ CTE ยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ในปัจจุบัน แต่มักพบมากในบรรดานักกีฬาที่มีการปะทะกัน เช่น มวยปล้ำ ฟุตบอล อเมริกันฟุตบอล รักบี้ และฮอกกี้น้ำแข็ง โดยอาการจะมีความรุนแรงที่ไม่เท่ากัน ไล่ตั้งแต่จัดการสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันไม่ได้ ไปจนถึงสูญเสียความทรงจำ หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว

ยิ่งโหม่งยิ่งเจ็บ

งานวิจัยของทีมจากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ แห่งสกอตแลนด์ ได้สำรวจข้อมูลของนักฟุตบอลอาชีพในประเทศมากกว่า 8,000 คน ระหว่างปี 1930-1990 พบว่าตำแหน่งการเล่นของนักเตะนั้น มีผลต่อความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมได้

 

ผู้รักษาประตูนั้น มีความเสี่ยงพอ ๆ กับประชากรทั่วไป ด้านผู้เล่นในตำแหน่งกองกลางและกองหน้าต่างมีความเสี่ยงพุ่งขึ้นมาถึง 4 เท่า ส่วนโอกาสเป็นสมองเสื่อมของกองหลังมีมากกว่าคนปกติถึง 5 เท่าด้วยกัน

นอกจากนี้ ทีมวิจัยกลุ่มดังกล่าวยังได้พบว่า จากกลุ่มตัวอย่างของอดีตนักฟุตบอลราว 7,500 คนในสกอตแลนด์ จะมีโอกาสเสียชีวิตด้วยโรคสมองเสื่อมมากกว่าผู้คนทั่วไปในช่วงวัยเดียวกันถึง 3.5 เท่า อย่างไรก็ตามบรรดาอดีตผู้เล่นอาชีพเหล่านี้ ก็จะมีความเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจและโรคปอดน้อยลงไปด้วย เนื่องจากสภาพร่างกายที่ได้รับการดูแลมาค่อนข้างดี

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ ยิ่งนักเตะเหล่านี้มีอาชีพการค้าแข้งยาวนานมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมได้มากขึ้นเท่านั้น โดยข้อมูลที่เปิดเผยผ่านเว็บไซต์ของศูนย์วิจัยโรคอัลไซเมอร์แห่งสหราชอาณาจักร ระบุว่านักเตะที่ลงเล่นนานกว่า 15 ปี จะเสี่ยงเป็น CTE มากกว่าคนที่ได้ลงเล่นเพียง 5 ปี โดยแทบไม่มีความแตกต่างตั้งแต่ยุค 1930s ถึง 1990s เลย

 

หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้นทีมชาติอังกฤษชุดแชมป์ฟุตบอลโลกปี 1966 ที่มีผู้เล่นมากถึง 5 ราย ประสบอาการสมองเสื่อม และทำให้เราต้องสูญเสียตำนานชุดนี้ไปแล้วถึง 4 คน จากโรคร้ายตัวนี้

 

เรย์ วิลสัน (เสียชีวิต กรกฎาคม ปี 2018), มาร์ติน ปีเตอร์ส (เสียชีวิต ธันวาคม ปี 2019), แจ็ค ชาร์ลตัน (เสียชีวิต กรกฎาคม ปี 2020), น็อบบี้ สไตล์ส (เสียชีวิต ตุลาคม ปี 2020), และ เซอร์ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน (ตรวจพบว่าป่วยเป็นโรคนี้ พฤศจิกายน ปี 2020) นี่คือส่วนหนึ่งของผู้เล่นที่ถูกอาการสมองเสื่อมเล่นงานในช่วงบั้นปลายของชีวิต

นอกจากพวกเขาเหล่านี้แล้ว 7 ผู้เล่นของสโมสรเบิร์นลี่ย์ ชุดคว้าแชมป์ดิวิชั่น 1 เมื่อปี 1960 ต่างเสียชีวิตจากโรคดังกล่าว เช่นเดียวกับ 6 นักเตะจาก แอสตัน วิลล่า ที่ได้แชมป์ เอฟเอ คัพ ในปี 1957 ก็ประสบปัญหาที่คล้ายคลึงกับ CTE จนนำไปสู่การเสียชีวิตด้วยเช่นกัน

 

เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว เราจะมีวิธีป้องกันหรือแก้ไขอย่างไรเพื่อไม่ให้บรรดาผู้เล่นอาชีพที่กำลังค้าแข้งอยู่ในปัจจุบัน ต้องประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับตำนานที่กล่าวมาในข้างต้นได้ ?

ว่าด้วยกฎการโหม่ง

สมาคมฟุตบอลอังกฤษ ได้เริ่มบังคับใช้กฎการโหม่งเป็นครั้งแรกในฤดูกาล 2021-22 ที่จะมีผลกับการแข่งขันทุกระดับตั้งแต่ลีกอาชีพไปจนถึงการแข่งแบบสมัครเล่นในประเทศ

 

ภายใต้การหารือและศึกษาร่วมกันกับคณะ PFNCC หรือ Professional Football Negotiating and Consultative Committee ที่ได้ตรวจดูข้อมูลการโหม่งบอลรูปแบบต่าง ๆ จากการแข่งขัน เพื่อนำมาปรับเป็นกฎที่ช่วยปกป้องนักกีฬาไปในตัว

กฎข้อแรกที่ถูกบังคับออกมานั้น คือการโหม่งลูกที่เดินทางด้วยความแรงสูง เช่น ลูกเปิดจากข้างสนาม, เตะมุม, ฟรีคิก, และลูกผ่านบอลยาวกว่า 35 เมตร ที่จะถูกจำกัดการฝึกซ้อมไว้ไม่เกิน 10 ครั้งต่อสัปดาห์เท่านั้น

ในกฎดังกล่าว ยังได้แนะนำเพิ่มเติมว่า ควรให้ทีมสตาฟโยนบอลด้วยมือแทนการใช้เท้า และควรโหม่งจากการยืนอยู่นิ่ง ๆ แทนที่จะเป็นการวิ่งเข้ามาโขกลูก เพื่อเป็นการลดแรงที่อาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อสมองของนักเตะในระยะยาวได้

 

นอกเหนือจากนี้ ยังมีการพบว่าความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อบริเวณคอ อาจช่วยลดอาการบาดเจ็บจากการโหม่งบอลในระยะยาวได้อีกด้วย โดยจะมีการศึกษาแบบละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้งก่อนที่ทางเอฟเอจะออกข้อบังคับ หรือคำแนะนำในการฝึกซ้อมให้เพิ่มเติมในลำดับถัดไป

โดยหนึ่งในสาเหตุของการเริ่มให้ความสำคัญกับการโหม่งของอังกฤษ คงไม่พ้นการเสียชีวิตของ เจฟฟ์ แอสเทิล อดีตศูนย์หน้าของ เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน ผู้ไม่เคยเกรงกลัวการขึ้นโหม่งบอลตลอดชีวิตการค้าแข้งของตน จนทำประตูไปได้ถึง 168 ลูกด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม เจ้าตัวกลับต้องเสียชีวิตลงเมื่อปี 2002 ด้วยวัยเพียงแค่ 59 ปีเท่านั้น โดยถือเป็นนักฟุตบอลคนแรกของเกาะอังกฤษ ที่ถูกตรวจพบว่าเป็นโรคสมองเสื่อม แต่ในตอนนั้นการเสียชีวิตของเขากลับถูกระบุว่าเป็น “อาการทั่วไป” ในวงการฟุตบอลอังกฤษเท่านั้น จนมีการทำแคมเปญเรียกร้องความเป็นธรรมขึ้นมา และทำให้การสืบสวนอาการของโรค CTE กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง


Photo : www.expressandstar.com

ทั้งนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านักฟุตบอลยุคปัจจุบัน ค่อนข้างได้รับการดูแลที่ดีกว่าสมัยก่อนเป็นอย่างมาก โดยเริ่มจากลูกฟุตบอลในยุคก่อนที่มีวัสดุเป็นหนัง ซึ่งมีน้ำหนักมากถึง 600 กรัม หรือหนักกว่ามากถึง 1 ใน 3 เลยทีเดียว และจะยิ่งมีน้ำหนักมากกว่าเดิมในช่วงที่มีฝนตกหรือชุ่มน้ำอีกด้วย

นอกจากน้ำหนักที่เบาลงจะช่วยลดแรงกระแทกได้แล้ว บรรดานักเตะอาชีพในยุคนี้ โดยเฉพาะผู้เล่นที่มีการโหม่งเป็นเครื่องหมายการค้าด้วยนั้น จะมีการฝึกเทคนิคของตนโดยเฉพาะ ว่าจะใช้พื้นที่ส่วนไหนของบริเวณศีรษะในการโหม่ง เพื่อทั้งควบคุมทิศทาง เสริมพลัง หรือปั่นลูกให้เคลื่อนที่ได้ตามต้องการ โดยไม่เกิดผลกระทบต่อสมองมากเท่าในสมัยก่อน

 

มากไปกว่านั้นยังมีการป้องกันผู้เล่นในระดับเยาวชนที่สมองยังอยู่ในช่วงการพัฒนาและยังไม่มีความแข็งแกร่งด้านกะโหลกหรือกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ มากนัก โดยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 ผู้เล่นอายุต่ำกว่า 12 ปีจะไม่ได้รับอนุญาตให้มีการฝึกโหม่งได้เลย และจะมีการจำกัดจำนวนครั้งการโหม่งของนักเตะวัย 12-16 ปี ให้อยู่ไม่เกิน 10 ครั้งในการฝึกซ้อม 1 ครั้ง/สัปดาห์

อย่างไรก็ตามก็มีประเด็นเกิดขึ้นกับทัพของ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ เมื่อ นูโน่ เอสปิริโต้ ซานโต ออกมาเปิดเผยว่า “ผมกังวลกับสถานการณ์ของโรคสมองเสื่อมและผลกระทบที่อาจมีต่อการโหม่งบอล แต่มันก็เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันนั่นแหละ”

“ผมยอมรับว่าผมไม่ได้นับว่าผู้เล่นของเราโหม่งบอลไปกี่ครั้ง ผมอาจลำบากจากการพูดแบบนี้ แต่ฟุตบอลมันก็ต้องมีการกระโดดโหม่งบอล มันเป็นส่วนหนึ่งของเกม”

“นั่นคือเหตุผลที่ทำไมเราฝึกซ้อมกันโดยไม่ให้คนภายนอกได้เห็น” 

สุดท้ายนี้มาตรการดังกล่าวก็ยังเป็นเพียงขั้นการทดลองเท่านั้น โดยจะถูกใช้ตลอดช่วงของฤดูกาล 2021-22 ก่อนที่ทางเอฟเอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะกลับไปพิจารณารายละเอียดและข้อมูลที่ได้รับกลับมา ว่าจะเดินหน้ามาตรการต่อไปในทิศทางไหน

แน่นอนแหละว่าการโหม่งบอลย่อมส่งผลกระทบต่อสมองของเราอยู่แล้ว แต่ก็ไม่แน่ว่าด้วยวิวัฒนาการของวิทยาศาสตร์การกีฬา ควบคู่ไปกับความรู้ความเข้าใจในร่างกายมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น สักวันหนึ่งมนุษย์อาจคิดค้นวิธีการโหม่งบอลที่มีประสิทธิภาพ โดยไม่เกิดผลรุนแรงต่อชีวิตในบั้นปลายขึ้นมาก็เป็นได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ