Highlight
- เอิน นลินรัตน์ เยาวชนที่ออกมาเปิดเผยเรื่องราวการถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยครูในโรงเรียน และเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการมีมาตรการป้องกันปัญหานี้อย่างจริงจัง
- การล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องปกติ และไม่ใช่เรื่องของความโชคร้าย แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างจากทัศนคติชายเป็นใหญ่และอำนาจนิยม
- สิ่งที่จะช่วยเยียวยาจิตใจของผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ คือการรับฟังเสียงของคนเหล่านี้อย่างไม่ตัดสิน
หากยังจำกันได้ เมื่อปี 2563 กระแสการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่สั่นสะเทือนสังคมในวงกว้าง นับตั้งแต่การเรียกร้องประชาธิปไตย ไปจนถึงประเด็นเรื่องสิทธิในเนื้อตัวร่างกายที่ถูกละเมิดโดยกฎระเบียบของโรงเรียน สิทธิเสรีภาพของผู้หญิงและ LGBTQ+ หรืออำนาจนิยมในครอบครัวและสังคม รวมไปถึงเรื่องการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งหนึ่งในผู้ที่ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้คือ “เอิน นลินรัตน์ ตู้ทับทิม” เจ้าของเรื่องราวในแฮชแท็ก #โรงเรียนแดงขาวย่านบางนา ที่ถูกแชร์บนโลกออนไลน์ และกลายเป็นกระแสโด่งดังอีกครั้ง เมื่อเธอตัดสินใจแสดงออกในที่ชุมนุมทางการเมืองในอีกไม่กี่เดือนต่อมา พร้อมป้ายกระดาษที่ระบุว่าเธอถูกครูทำอนาจาร
เป็นผู้หญิงที่ดีแล้วจะปลอดภัย
ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์อันน่าเศร้าดังกล่าว เอินเป็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องแบกความคาดหวังของสังคมในการเป็น “ผู้หญิงที่ดี” เช่นเดียวกับเด็กผู้หญิงคนอื่นๆ ทั้งการแต่งกาย ความประพฤติ และการใช้ชีวิต ซึ่งแม้ว่าเธอจะไม่เห็นด้วยและพยายามตั้งคำถาม แต่ก็ยังมีบางประเด็นที่เธอยังไม่เข้าใจ หนึ่งในนั้นคือการคุกคามทางเพศ
“เมื่อก่อนเราเป็นคนหนึ่งที่มีความคิดกล่าวโทษเหยื่อกับผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศ คือคิดว่าผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศในบาร์ก็ไปอยู่ในสถานที่สุ่มเสี่ยงเองน่ะ หรือเวลาเห็นข่าวเด็กนักเรียนถูกข่มขืนก็จะเป็นแบบ ดวงซวย กลับไม่ถึงบ้าน โดนข่มขืน มันเป็นฟีลแบบนี้ จนทำให้เรามองว่า คนที่ถูกคุกคามทางเพศ ถ้าไม่ดวงซวยก็เพราะว่าทำตัวเองไม่ดี” เอินเล่าถึงตัวเองในอดีต ที่สุดท้ายเธอก็ต้องเปลี่ยนความคิด เมื่อเผชิญกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศด้วยตัวเอง
“เราเคยเชื่อนะว่า ถ้าเราทำตามที่ผู้ใหญ่บอก เราจะไม่ถูกกระทำแบบนั้น ไม่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่วันนั้นน่ะ มันเป็นเหมือนกับวันที่พังทลายทุกอย่าง แล้วมันทำให้เราทำตรงข้ามทั้งหมด แต่มันเป็นการทำตรงข้ามที่เกิดจากการต่อต้าน ไม่ใช่จากความเข้าใจ เราไม่เชื่ออีกต่อไปแล้วว่ากระโปรงคลุมเข่า 4 ซม. จะทำให้เราปลอดภัยจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ เราไม่เชื่ออีกแล้วว่าเสื้อกล้ามตัวหนึ่งที่เราใส่คลุมยกทรงจะทำให้เราปลอดภัย เราไม่เชื่ออีกแล้วว่าโรงเรียนจะเป็นที่ที่ปลอดภัยที่สุด เราไม่เชื่ออีกแล้วที่คนที่เราไว้ใจมันจะน่าไว้ใจ”
บาดแผลจากโรงเรียน
จากเรื่องราวในสเตตัสของเอินที่โพสต์ไว้เมื่อปีที่แล้ว เอินถูกครูผู้ชายคนหนึ่งล่วงละเมิดทางเพศเมื่อหลายปีก่อน เวลานั้นเธอเลือกที่จะทำตัวให้เป็นปกติและปล่อยผ่านเรื่องนี้ไป เพราะกลัวเสียงประณามของสังคมว่าเธอเป็นผู้หญิงไม่ดีที่ปล่อยให้ผู้ชายลวนลาม ทว่าสภาพจิตใจของเธอกลับดิ่งลง เธอเริ่มโทษตัวเองว่าเป็นคนที่เปิดโอกาส หรือเป็นคนผิดที่ไม่ปฏิเสธการแตะเนื้อต้องตัว รวมถึงตั้งคำถามว่าตัวเองแต่งกายอย่างไรในวันนั้น
“เรารู้สึกผิดหวัง มันเป็นความรู้สึกผิดหวังในคนคนนั้นที่เราเชื่อใจ หลังจากนั้น หลายอาทิตย์ผ่านไป เราเริ่มมีอาการฝันร้าย เหมือนโดนทำแบบนั้นทุกคืน เริ่มกลัวผู้ชายที่หน้าคล้ายๆ เขา โดยที่เราก็ไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วเราก็ไม่พูดกับใคร เพราะว่าเราคิดว่าการไม่พูดกับใคร วันหนึ่งเรื่องนี้มันก็จะเงียบหายไป แล้วเราก็จะลืมมัน แต่มันเป็นการพยายามลืมที่มันจำแม่นทุกขณะ จำกลิ่นไอฝนวันนั้น ลมหายใจวันนั้น สัมผัสวันนั้น แสงวันนั้น สถานที่ตรงนั้น ความหนักของเท้าที่วางอยู่บนพื้น มันเป็นความพยายามที่เราจะลืมสัมผัสวันนั้น แต่มันยิ่งจำได้ว่ามันทำตรงไหนบ้าง สภาพบรรยากาศวันนั้นที่มันมืด แต่เรากลับจำได้ว่ามันสลัวแค่ไหน”
หลังจากเหตุการณ์ในวันนั้น เอินมีภาวะ PTSD และกลัวผู้ชายแปลกหน้า กลัวเสียงมอเตอร์ไซค์ เสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ซึ่งอาการเหล่านี้พัฒนามาเป็นโรคแพนิค
4 ปีต่อมาหลังจากเกิดเหตุ เอินได้เข้าพบผู้อำนวยการโรงเรียนเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัยของนักเรียน ทว่าทางโรงเรียนกลับบอกว่า โรงเรียนมีมาตรการอยู่แล้ว แต่ “ในหมู่คนดีย่อมมีคนไม่ดี” เพราะฉะนั้น แม้จะป้องกันแล้วก็ยังมีคนไม่ดีที่ฝ่าฝืนกฎ และระบุว่าทางโรงเรียนไม่สามารถออกมาตรการเฉพาะเพื่อใช้ภายในโรงเรียนได้ เนื่องจากเป็นสถานศึกษาภายใต้การควบคุมของกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งยังมีครูคนหนึ่งบอกว่า ครูหลายคนแตะเนื้อต้องตัวเด็กด้วยความเอ็นดู
เปิดไมค์ส่งเสียง
เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรมจากโรงเรียน เอินตัดสินใจผลักดันเรื่องนี้บนโซเชียลมีเดีย โดยเล่าเรื่องราวของเธอ พร้อมข้อเรียกร้อง 3 ข้อ เสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ 1. ขอให้ทุกโรงเรียนมีนโยบายอบรมครูเรื่องการรู้จักสิทธิในร่างกายนักเรียนอย่างเป็นรูปธรรม 2. ขอให้ทุกโรงเรียนมีหลักสูตรอบรมนักเรียนในสิทธิในร่างกาย และรู้วิธีการป้องกันตัว รวมถึงการปกป้องตัวเองหลังจากถูกคุกคามทางเพศ การทำอนาจาร และการข่มขืน 3. เรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโรงเรียนเอกชน ที่ครอบคลุมถึงเรื่องของการละเมิดทางเพศของเด็กนักเรียนทุกคน ไม่ว่าจะมาจากโรงเรียนภายใต้การกำกับของรัฐบาลหรือของเอกชนก็ตาม และให้อำนาจเต็มกับคณะกรรมการดังกล่าวในการฟ้องร้องให้บุคคล กลุ่มบุคคล หรือสถานศึกษามีความผิดได้ตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของเธอกลายเป็นกระแสที่ถูกแชร์ในโลกออนไลน์แค่ชั่วคราว ก่อนจะเงียบหายไปเช่นเดียวกับดราม่าอื่นๆ ดังนั้น เธอจึงตัดสินใจลุกขึ้นมาแสดงออกอย่างจริงจัง ในการชุมนุมทางการเมืองเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ภาพของเด็กสาวในชุดนักเรียน ปิดปากด้วยเทปกาว ร่างกายฟกช้ำ ถือป้าย “หนูถูกครูทำอนาจาร รร. ไม่ใช่สถานที่ปลอดภัย” กลายเป็นกระแสไวรัลในโลกออนไลน์ในชั่วข้ามคืน
Nalinrat Tuthubthim
“เรารอให้มีคนเปิดมาตลอด 5 ปี แล้วคนคนนั้นมันไม่เคยมาถึงเลย จนกระทั่งเราทนความเห็นแก่ตัวของเราไม่ไหว คือที่ผ่านมา เวลามีเด็กออกสื่อ มันเป็นภาพลักษณ์ของการถูกกระทำ ไม่ใช่การต่อสู้ มันเลยทำให้เราคิดว่า ถ้าคนนั้นมันไม่เคยมาถึงก็อาจจะต้องเป็นเรา แล้วเราก็ไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นกระแสขนาดนี้นะ เพราะว่าสิ่งที่เราเตรียมก็แค่ป้าย ใส่ชุดนักเรียนที่เราซื้อมาแล้วเอามาปัก วันที่ที่เป็น 16072563 คือวันแรกที่เราไปคุยกับทางโรงเรียน” เอินเล่าเรื่องราวในการชุมนุมเมื่อปลายปีที่แล้ว
ภาพของเอินในวันนั้นถูกเผยแพร่ในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง ตามมาด้วยเสียงให้กำลังใจและพร้อมอยู่เคียงข้างเธอ รวมทั้งมีเด็กและเยาวชนจำนวนมากเข้ามาบอกเล่าเรื่องราวที่พวกเขาถูกล่วงละเมิดทางเพศให้เธอฟัง ทว่าด้วยความที่เธอแสดงออกบนพื้นที่การชุมนุมทางการเมือง ก็ทำให้มีกลุ่มคนที่เห็นต่างเข้ามาโจมตีเธอเช่นกัน
“ข่าวของเราที่ถูกนำเสนอไม่ได้ถูกจัดเป็นข่าวอาชญากรรมนะ เป็นข่าวการเมือง แต่จริงๆ แล้ว เรื่องนี้ไม่ควรจะแบ่งขั้วการเมือง เพราะเราเคยพูดเรื่องนี้ตั้งแต่ที่มันยังไม่ใช่เรื่องการเมือง เราพูดเรื่องนี้มานานมาก แต่ไม่ว่าอยู่การเมืองฝ่ายไหน คนที่เป็นรัฐก็มีหน้าที่รับผิดชอบและดูแลผู้เสียหายด้วยมาตรฐานที่เท่ากัน ในเมื่อรัฐมีหน้าที่ดูแลประชาชน เราไม่ใช่ประชาชนเหรอ การดูแลมันเลือกข้างได้ด้วยเหรอ” เอินกล่าว
ถูกคุกคามทางเพศไม่ใช่เพราะดวงซวย
เมื่อถามถึงแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ เอินอธิบายว่า การถูกล่วงละเมิดไม่ใช่เป็นเพราะความโชคร้ายที่เจอคนไม่ดี และไม่ใช่เพราะผู้ถูกกระทำมีพฤติกรรมที่ไม่ดีในสายตาสังคม ต้นตอของการล่วงละเมิดทางเพศ คือทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่และการใช้อำนาจเหนือ ดังจะเห็นได้จากอำนาจที่ไม่เท่ากันระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่กับเด็ก หรือครูกับนักเรียน
“เราต้องเข้าใจความเป็นคน เข้าใจว่าคุณเป็นคนและเขาก็เป็นคน เมื่อคุณมองคนในฐานะที่เป็นคนเท่ากัน คุณจะเข้าใจเรื่องของการยินยอม คุณจะเข้าใจว่า เมื่อเขาบอกว่าไม่ได้คือไม่ได้ แล้วคุณก็จะให้เกียรติเขาโดยที่คุณไม่ต้องคิดว่าจะให้เกียรติไหม มันไม่มีแนวคิดอะไรมาก นอกจากว่าวันนี้คุณเห็นเขาเป็นคนเท่ากับคุณหรือเปล่า คุณเห็นเด็กคนหนึ่งเป็นคนที่มีค่าเท่ากับผู้ใหญ่ไหม คุณเห็นผู้หญิงคนหนึ่งมีค่าเท่ากับผู้ชายหรือเปล่า หรือเห็นผู้ชายคนหนึ่งมีค่าเท่ากับผู้หญิงทุกคนบนโลกไหม คือมันข้ามเรื่องเพศและเรื่องอายุไปแล้วนะ มันคือคน คุณเห็นเขาเป็นคนหรือเปล่า และคุณให้เกียรติเขาในฐานะมนุษย์ได้หรือเปล่า”
สำหรับปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน เอินเสนอว่าควรมีการแก้ไขเชิงระบบอย่างจริงจัง ตั้งแต่การตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของคนที่สมัครเข้ามาเป็นครูในโรงเรียน และโรงเรียนควรมีการพิจารณาเรื่องทัศนคติของคนเป็นครู ควบคู่ไปกับการทดสอบความรู้ รวมทั้งมีการประเมินพฤติกรรมของครู เช่นเดียวกับการประเมินคุณภาพการสอน นอกจากนี้ โรงเรียนควรมีกระบวนการรับฟังปัญหาของนักเรียนที่ดี และร่วมมือกับองค์กรภายนอกโรงเรียน เพื่อความโปร่งใสในการตรวจสอบ
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ระบบทางสังคมและกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถปกป้องคุ้มครองเด็กๆ ได้ เอินกล่าวว่า ครอบครัวควรจะเป็นที่พึ่งที่คอยพูดคุยและรับฟังเด็กๆ ทั้งในสถานการณ์ปกติและในกรณีที่เกิดเหตุแล้ว
“ในกรณีที่ความยุติธรรมมันไม่มีเลยนะ คนที่เป็นคนที่เขาเชื่อใจมากที่สุด ครอบครัวของเขา ที่ยังคงฟังเขา ไม่ปฏิเสธความรู้สึกของเขา ว่าเขาคิดมากเกินไป เขาปล่อยผ่านมันไม่ได้ พยายามที่จะบอกว่าความรู้สึกของเขามันไม่จริง หรือว่าควรจะรู้สึกอย่างอื่น การที่เห็นความทุกข์ในสายตาของเขา ในร่างกายของเขา มันอาจจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ณ วันที่กระบวนการกฎหมายไทยทำอะไรไม่ได้”
“คุณรู้ไหมว่า มันไม่ใช่ทุกคนนะที่จะได้รับเกียรติที่จะฟังเรื่องนี้ คนที่โดนเรื่องนี้เขาไม่ได้เล่าเรื่องนี้ให้ทุกคนฟังนะว่าฉันกำลังโดนอะไร เขาเลือกที่จะบอกคุณ เขาเลือกที่จะให้คุณรู้สิ่งที่เจ็บปวดที่สุดในใจเขา ที่เขาพยายามซ่อนมันจากมนุษย์ทุกคนบนโลก และเขาบอกคุณ นี่อาจจะเป็นความยุติธรรมที่สุดในวันที่เขาบอกความทุกข์นั้น แล้วคุณกอดความทุกข์นั้นไปกับเขา ไม่บอกว่าเขากำลังผิด ไม่บอกว่าเขาคิดมาก ไม่บอกให้เขาต้องสู้อย่างสุดตัว แต่ว่าฟังว่าในหัวใจเขากำลังต้องการอะไร” เอินกล่าว
การคุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องปกติ
สำหรับความหวังในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของสังคม ที่นำไปสู่ความเข้าใจปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศนั้น เอินมองว่า อาจจะต้องใช้เวลาหลายสิบปีกว่าสังคมไทยจะตระหนักและเข้าใจปัญหานี้อย่างจริงจัง แต่อย่างน้อย เมื่อมีการนับหนึ่งในเรื่องการตระหนักรู้ในความเป็นมนุษย์แล้ว สังคมก็ย่อมจะก้าวไปข้างหน้าอย่างแน่นอน
“เรารู้สึกว่าเด็กยุคใหม่จะต้องถูกฟอร์มมาในสังคมที่มีความคิดแบบนี้ใหม่มากกว่า หมายความว่า เขาต้องรู้ว่าการกระทำที่ไม่ได้เกิดจากความยินยอมมันไม่ปกติ คนที่เข้ามาลูบหัวเขาโดยไม่ยินยอม เขาสามารถปฏิเสธได้ เขาสามารถบอกคนที่เข้ามาถามว่าทำไมแต่งตัวแบบนี้ได้ว่า ก็สิทธิส่วนตัวค่ะ มากกว่าที่จะรู้สึกว่า หรือว่าฉันไม่ดีนะ ส่วนผู้ใหญ่เราไม่คิดจะเปลี่ยนอะไรเขา เราแค่เห็นว่าเขาคิดอย่างไร เข้าใจอย่างไร เราแค่เปิดไมค์บอกว่า การคุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องปกติในสังคม” เอินทิ้งท้าย