ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันพุธ (17 มี.ค.) ว่าศาลปกครองสูงสุดนับอายุความของคดีค่าโง่โฮปเวลล์ผิดกฎหมาย คือนับจากวันที่ศาลปกครองเปิดทำการ ทั้งที่ควรนับจากวันที่ “รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี”
นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังวินิจฉัยอีกว่า มติที่ศาลปกครองสูงสุดนำมาที่ใช้อ้างอิงในการพิจารณาคดีนั้น ไม่ได้ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบและไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงนำมาบังคับใช้ไม่ได้
เหตุนี้ทำให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยื่นรื้อคดีใหม่ได้
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2532 สมัยรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัน กระทรวงคมนาคมมีแนวคิดสร้างทางรถไฟและรถยนต์ยกระดับในกรุงเทพมหานคร จึงเปิดให้เอกชนมาร่วมลงทุน แต่ขณะนี้มีเอกชนเพียงรายเดียวยื่นเอกสารร่วมลงทุน คือ บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิงส์ (ฮ่องกง) ทำให้บริษัทนี้ได้รับสัมปทานไป แต่หลังจากนั้นกลับพบว่าการก่อสร้างล่าช้ามาก
รัฐบาลนายชวน หลีกภัย จึงบอกเลิกสัมปทานเมื่อปี 2541 ขณะที่ รฟท. ก็จะนำโครงสร้างที่ก่อสร้างไปแล้วบางส่วนมาทำรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม ทำให้เอกชนรายนี้ไม่ยอม และให้คณะอนุญาโตตุลาการตัดสิน
อนุญาโตตุลาการก็มีมติเมื่อปี 2551 ให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท. จ่ายค่าเสียหายแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยวงเงิน 11,888 ล้านบาท และดอกเบี้ย 7.5% เพราะมองว่าภาครัฐบอกเลิกสัมปทานไม่เป็นไปตามขั้นตอน
เหตุนี้ทำให้ฝ่ายรัฐสู้คดีต่อ ทำให้ต่อมาศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของอนุญาโตตุลาการดังกล่าว กระทรวงคมนาคมและ รฟท. จึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย
ถึงอย่างนั้น เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2562 ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางให้ภาครัฐจ่ายค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยภายในเวลา 180 วัน กระทรวงคมนาคมและ รฟท. จึงเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้สู้คดีต่ออีก โดยหยิบยกประเด็นที่อ้างว่าโฮปเวลล์จดทะเบียนเป็น “บริษัทต่างด้าว” จดทะเบียนไม่ถูกต้อง มาต่อสู้ แต่ศาลปกครองสูงสุดไม่รับพิจารณาคดีใหม่
หลังจากหาช่องทางต่อสู้คดีได้ กระทรวงคมนาคม และ รฟท. จึงยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ให้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมติศาลปกครองสูงสุดว่าถูกกฎหมายหรือไม่ จนนำมาสู่การวินิจฉัยล่าสุดนี้