“อย่าเรียกพวกเขาว่าคนเคนยา ให้เรียกพวกเขาว่า คาเลนจิน”
นี่คือสิ่งที่ จอช คิรากู โค้ชทีมวิ่งระยะไกลของประเทศเคนยา กำลังจะเริ่มต้นบอกเล่าเรื่องราวความพิเศษด้านพันธุกรรมเกี่ยวกับลูกทีมของเขาที่มาจากเผ่าที่ชื่อว่า “คาเลนจิน”
เหนือฟ้ายังมีฟ้า ยิ่งกว่าเคนยา คือ คาเลนจิน … ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ? ติดตามได้ที่นี่
ริฟต์ วัลเลย์ ที่ราบสูงที่สร้างยอดนักวิ่ง
ชาว คาเลนจิน (Kalenjin) นั้นถือสัญชาติ เคนยา และอาศัยอยู่แถบ “ริฟต์ วัลเลย์” (Rift Valley) อันเป็นพื้นที่ที่ติดกับประเทศ เอธิโอเปีย ที่นี่ได้เปรียบเรื่องสภาพอากาศ เพราะมีปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อการทำการเกษตรและปศุสัตว์ได้ตลอดทั้งปี ซึ่งมันคืออาชีพหลักของผู้คนที่นั่น … และสิ่งนี้ส่งผลไปถึงเรื่องการวิ่งด้วย
ด้วยภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่ราบสูง และการต้องทำการเกษตรและปศุสัตว์บนพื้นที่เช่นนี้ ทำให้ชาวเผ่าคาเลนจิน อันเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในประเทศเคนยา (ราว 6.3 ล้านคน) ต้องใช้แรงเยอะมากตั้งแต่เด็กในแต่ละวันสำหรับการประกอบอาชีพของพวกเขา
พวกเขาจะต้องหาบน้ำ, ดูแลและเก็บผลผลิตที่เป็นพืชผัก รวมถึงวิ่งต้อนฝูงวัว ทั้งหมดล้วนเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้การวิ่งขึ้น ๆ ลง ๆ เขาทั้งนั้น นั่นทำให้กล้ามเนื้อ และพันธุกรรมของพวกเขา “เกิดมาเพื่อวิ่ง”
ชาว คาเลนจิน เลี้ยงวัวต่างกับเผ่าอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น เผ่า มาไซมารา พวกเขาเลี้ยงในทุ่งกว้าง แต่ชาว คาเลนจิน ไปเลี้ยงสัตว์ไว้บนเขา และพวกเขาจะวิ่งขึ้นไปหามัน … นั่นคือการใช้แรงมากกว่าแน่นอน
“มันเป็นความจริงที่นักวิ่งพวกนี้เติบโตมากับการเลี้ยงวัว ต้องวิ่งไล่มันไปบนพื้นที่สูง พวกเขาเจอกับความชันในแบบของ ริฟต์ วัลเล่ย์ และทำให้พวกเขามีลักษณะทางชีววิทยาที่ต่างจากเผ่าอื่น ๆ … นั่นคือพวกเขามีกระดูกบริเวณโคนขายาวกว่าชาวเคนยาปกติ” คิรากู ให้สัมภาษณ์กับ Active.com
Photo : www.aljazeera.com
โค้ช คิรากู อาจจะพูดเหมือนอวยลูกทีมตัวเองไปสักหน่อย แต่ความจริง ทีมนักวิ่งของ เคนยา นั้นมีสมาชิกจากเผ่า คาเลนจิน แทบทั้งนั้น และส่วนใหญ่พาความสำเร็จมาให้กับชาติได้มากมาย
ปี 2013 วิลสัน คิปแชง ชนะ เบอร์ลิน มาราธอน ด้วยเวลาสถิติโลก, 1 ปีถัดมา เดนิส คิเมตโต ทำลายสถิติโลกวิ่งมาราธอนของ คิปแชง ที่ เบอร์ลิน เช่นกัน ก่อนที่ เฮลิอุด คิปโชเก จะก้าวขึ้นมาครองสถิติวิ่งมาราธอนคนปัจจุบัน จากการชนะรายการนี้เมื่อปี 2018 และสร้างประวัติศาสตร์ เป็นมนุษย์คนแรกที่วิ่งมาราธอนด้วยเวลาต่ำกว่า 2 ชั่วโมง … มีอีกเยอะที่มีต้นกำเนิดจากที่ราบสูง ริฟต์ วัลเลย์ แห่งนี้
พวกเขาแค่ใช้ชีวิต แต่สภาพทางภูมิศาสตร์ต่างหากที่ทำให้พวกเขาเข้มแข็งเกินมนุษย์ทั่วไป พวกเขาอยู่บนที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมาก … นั่นทำให้ปอดแข็งแรงกว่าปกติ
พวกเขาต้องวิ่งขึ้นวิ่งลงเขาตลอดทั้งวันเพื่อทำหน้าที่ต่าง ๆ ในชีวิต … นั่นทำให้ต้นขาของพวกเขายาวกว่าคนทั่วไป เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยืนยันได้ว่า “สภาพแวดล้อม” สามารถปรับเปลี่ยน “ยีน” ของมนุษย์ให้แข็งแกร่งขึ้นได้ และชาว คาเลนจิน คือต้นแบบนั้น
“สภาพแวดล้อมสามารถกระตุ้นยีนบางตัวในมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพากขึ้น … มันเหมือนกับอะไรบางอย่างที่ถูกปิดผนึกเอาไว้ในตัวมนุษย์ ที่ต้องรอให้เจอกับสภาพแวดล้อมหรืออะไรบางสิ่งกระตุ้นให้ปลดปล่อยมันออกมา หรือทำงานได้แบบเต็มประสิทธิภาพ นี่คือเงื่อนไขที่เรียกว่า Epigenetics” ดร. พอล นาทาคานิโอ อาจารย์อาวุโสของ Embu University College กล่าว
ขณะที่โค้ช คิรากู ยืนยันอีกครั้งว่าเขาเชื่อเรื่องนี้สุดหัวใจ สภาพแวดล้อมทำให้ชาวเผ่า คาเลนจิน วิ่งเก่งกว่านักวิ่งจากเผ่าอื่น ๆ พวกเขาแข็งแกร่งโดยพื้นฐาน และเกิดมาเพื่อวิ่งอย่างแท้จริง
“นักวิ่งระยะกลางหรือระยะไกล มักจะเจอปัญหาเกี่ยวกับปัญหาร่างกายที่อ่อนล้าสะสม แต่ คาเลนจิน นั้นแกร่งตั้งแต่เกิดด้วยยีนของพวกเขา พวกเขาแข็งแกร่งด้านสภาพร่างกาย และปอดของพวกเขาก็สามารถเก็บอากาศได้มากขึ้นด้วย” คิรากู กล่าว
จะบอกว่านี่คือพรสวรรค์ก็คงไม่แปลกนัก แต่มันมีบางอย่างที่ช่วยส่งเสริมให้ชาว คาเลนจิน ไม่ได้แค่เกิดมาเพื่อแข็งแรงและอดทน แต่มันสามารถทำให้พวกเขากลายเป็นผู้ชนะในทุกสนามแข่งขันอีกต่างหาก
วิถีแห่ง คาเลนจิน
อย่าลืมว่าแม้ คาเลนจิน จะไม่ได้ร่ำรวย แต่ คาเลนจิน มีความอุดมสมบูรณ์มากด้านอาหาร พวกเขาไม่ได้กินแค่แป้งเท่านั้น ชาวคาเลนจิน เป็นเผ่าที่นิยมบริโภคเนื้อสัตว์และนมจากสัตว์เป็นจำนวนมากตั้งแต่ยังเด็ก นั่นทำให้พวกเขาได้พลังงานหลาย ๆ อย่างสูงเกินกว่าเด็กปกติ ทั้งคาร์โบไฮเดรต, โปรตีน และ แคลเซียม เรียกว่าสารอาหารเหล่านี้ทำให้ร่างกายที่แกร่งกว่าปกติ แกร่งขึ้นไปใหญ่
Photo : www.finedininglovers.com
ส่วนวิถีชีวิตของชาว คาเลนจิน น้้นก็เกี่ยวพันกับการออกแรงวิ่งเสมอ นอกจากการเลี้ยงสัตว์ที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว พวกเขาก็วิ่งเท้าเปล่าไปโรงเรียนเรียนตั้งแต่ยังเด็ก
เคยมีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากประเทศเดนมาร์ก ที่สงสัยในการไล่กวาดแชมป์ทั้งกระดานมาราธอนของนักวิ่งเชื้อสาย คาเลนจิน และพวกเขาเริ่มทำการสำรวจวิจัยทันที โดยไม่ได้วิจัยกับพวกนักวิ่งเลยด้วยซ้ำ พวกเจาะลึกไปถึงเด็ก ๆ ในโรงเรียนที่เคนยา เพื่อเอามาเปรียบเทียบกับเด็กรุ่นเดียวกันในประเทศ เดนมาร์ก และผลออกมาคือ กลุ่มเด็กน้อยจาก คาเลนจิน มีพันธุกรรมพิเศษ ที่เรียกกันว่า “ยีนความเร็ว”
ซึ่งเมื่อมีการไปวิจัยขยายผลกับนักวิ่งระดับแชมป์จากเคนยา ที่มีเชื้อสาย คาเลนจิน อย่าง ไมค์ บอยต์ และ ปีเตอร์ โรโน พวกเขาก็พบ “ยีนความเร็ว” เช่นเดียวกัน และเคาะออกมา สิ่งแวดล้อม, วิถีชีวิต, อาหาร และ การเลี้ยงดู ทำให้ คาเลนจิน เป็นนักวิ่งจากธรรมชาติโดยไม่ต้องปรุงแต่งอะไรเพิ่มเลย
Photo : kenyapage.net
นอกจากเรื่องสภาพร่างกายแล้ว เรื่องสภาพจิตใจก็มีผลเยอะด้วย ซึ่งตามวิถีของ คาเลนจิน นั้น มีพิธีกรรมบางอย่างที่ทำให้เด็ก ๆ ของพวกเขา โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย มีความอดทน พยายาม มุ่งมั่น และเอาจริงเอาจังมากกว่า นั่นคือเมื่อายุครบ 14 ปี เด็กผู้ชายจะต้องผ่านพิธีกรรมเพื่อเข้าสู่วัย “เป็นผู้ใหญ่” ซึ่งเป็นพิธีกรรมประจำเผ่า
เด็ก ๆ จะต้องผ่านด่านเรื่องความอดทนมากมายจากอาการบาดเจ็บ บางครั้งอาจจะมีการเสียเลือดหรือถึงขั้นสลบไปเลยก็มี ซึ่งหากผ่านพิธีกรรมตรงนี้ไปได้ กลุ่มนักวิ่งจาก คาเลนจิน ก็ยืนยันว่าอาการบาดเจ็บจากการวิ่ง อย่างรองเท้ากัด หรือเสื้อบาด หรือแม้อะไรก็ช่าง กลายเป็นเรื่องที่จิ๊บ ๆ ไปเลย
ส่งต่อให้ถูกที่
เมื่อพัฒนาและก้าวพ้นความเป็นเด็กที่ ริฟต์ วัลเลย์ แล้ว เด็กหนุ่มและเด็กสาวชาว คาเลนจิน จะต้องนำสิ่งที่ตนเองมี ไปยังสถานที่ที่ดีต่อการพัฒนาศักยภาพของพวกเขามากกว่า และไม่ไกลจาก ริฟต์ วัลเลย์ มีศูนย์ฝึกนักวิ่งในเมือง “อิเทน” ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “หมู่บ้านแห่งแชมเปียน”
อิเทน คือที่ตั้งของโรงเรียนจากกลุ่มผู้เผยแพร่ศาสนาชาวไอริชในนาม เซนต์ แพทริก เข้ามาก่อตั้งในปี 1961 และพวกเขาเริ่มสร้างศูนย์พัฒนานักวิ่งขึ้นมา ภายใต้บาทหลวงผู้ดูแลโรงเรียนที่ชื่อว่า คอล์ม โอคอนเนลล์
ที่ อิเทน มีคำขวัญที่แพร่หลายในหมู่นักวิ่งว่า “Train hard, win easy” หรือ “ยิ่งฝึกหนัก ชัยชนะก็ยิ่งเป็นเรื่องง่าย” พวกเขาเชื่ออย่างนั้น และหลายคนแทบไม่ต้องใช้ความพยายามในการทำตามคำขวัญนี้เลย เพราะแรงใจในการเอาชนะความยากจนของนักวิ่งจาก อิเทน นั้นถือว่าสูงส่งอย่างไม่น่าเชื่อ พวกเขามีพื้นที่สำหรับการซ้อม มีคนดูแล มีอาหารการกินที่เพียงพอ และที่สำคัญมีการคัดกรองอย่างดี กว่าที่ใครจะเข้ามาอยู่ในศูนย์ฝึกได้ เด็กคนนั้นจะต้องมีความปรารถนาที่สูงส่งจริง ๆ ชนิดที่ว่ายอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เป็นผู้ชนะ
หลักสูตรการฝึกที่ อิเทน ได้รับการเปิดเผยโดย 2 พี่น้อง เจค และ เซน โรเบิร์ตสัน ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากประเทศ นิวซีแลนด์ เข้าฝึกด้วย โดยยืนยันว่าจะต้องเริ่มตื่นตั้งแต่ตี 5 ไปโรงยิมออกกำลังเฉพาะส่วน จากนั้นก็เริ่มออกไปซ้อมวิ่ง นอกจากนี้ทุกอย่างต้องดูแลตัวเองทั้งหมด ทั้งการหาบน้ำจืดสัปดาห์ละ 135 ลิตร รวมถึงล้างจานซักผ้าเอง
หาก คาเลนจิน และ ริฟต์ วัลเลย์ คือบ่ออนุบาล ให้เด็ก ๆ พร้อมสำหรับการต่อยอดเพื่อไปเจอโลกว้าง อิเทน ก็คงเป็นเหมือนโรงเรียนชีวิตนักวิ่งที่จะทำให้พวกเขารู้ว่า “ชีวิตนักวิ่งระยะไกล” นั่นยากเย็นขนาดไหน มีแต่คนจริงเท่านั้นที่พร้อมจะก้าวไปข้างหน้า … เมื่อ 2 สถานที่มาผนวกกัน เราจะได้เห็นการเจอกันของ ยีนที่แข็งแกร่ง, ร่างกายที่เกินมนุษย์, การฝึกที่ตรงจุดเฉพาะทาง และการดูแลรับผิดชอบชีวิตตัวเอง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นส่วนประกอบสำหรับเหล่ายอดนักวิ่งทั้งนั้น
และสุดท้าย จนถึงตอนนี้ นับตั้งแต่โอลิมปิกที่กรุงโซล ปี 1988 กลุ่มนักวิ่งชาว คาเลนจิน และประเทศ เคนยา คือชาติที่จองเหรียญรางวัลการแข่งขันวิ่งระยะไกล โดยแทบไม่แบ่งใครเลยจนทุกวันนี้
จะโหดได้กว่านี้อีก
ที่กล่าวมานั้นยังไม่ใช่จุดสุดยอดของทีมวิ่งจากเผ่า คาเลนจิน เพราะ นักวิ่งจาก คาเลนจิน สามารถโหดได้มากกว่านี้ และมีผลผลิตนักวิ่งเยอะกว่านี้อีกมาก หากรัฐบาลเคนยาให้การสนับสนุน เพราะทุกวันนี้ การที่พวกเขาไปได้ไกลในรายการระดับโลกนั้น ส่วนใหญ่เป็นการผลักดันตัวเองของนักกีฬาทั้งสิ้น
ภาครัฐของ เคนยา ยังไม่ได้มอบความสุขสบายและการสนับสนุนพวกเขาเท่าไรนัก การเดินทางไปแข่งที่ต่าง ๆ ยังออกแนวตามมีตามเกิดตามกำลังทรัพย์ ซึ่งสำหรับนักวิ่งหรือนักกีฬาแล้ว การออกกำลังกายก่อนแข่งขันเป็นสิ่งสำคัญมาก
จอช คิรากู บอกอีกครั้งว่า แม้ทุกวันนี้ทุกคนบนโลกจะรู้จัก เคนยา ในฐานะประเทศผลิตนักวิ่ง แต่ปัญหาคือภาครัฐยังใส่ใจวัตถุดิบชั้นยอดของพวกเขาน้อยเกินไป ถ้ามีงบประมาณ เราอาจจะได้เห็นการทำลายสถิติโลกจากชาวคาเลนจินถี่ยิบกว่านี้ก็เป็นได้
“ผมไม่ได้อยากจะเปรียบเทียบ แต่คุณไปดูประเทศแคเมอรูนสิ พวกเขามีทีมฟุตบอลที่ดี และทีมฟุตบอลของพวกเขาได้รับการดูแลดีมากจากรัฐบาล เดินทางไปไหน นอนโรงแรมใดก็ได้ กินอาหารได้เต็มที่โดยไม่ต้องจ่ายเงินเอง เพราะรัฐออกให้เลยด้วยซ้ำ” คิรากู กล่าว
แคเมอรูน มีกระทรวงกีฬาที่เอาจริงเอาจังเกี่ยวกับเรื่องนี้ แตกต่างกับที่ชาวเคนยานั้น แทบไม่ได้รับการสนับสนุนอะไรเลยหากคุณยังไม่สามารถไปถึงระดับโลกได้ ซึ่งแท้จริงแล้ว สิ่งสำคัญคือการสร้างนักกีฬาตั้งแต่เด็ก สามารถพัฒนาศักยภาพได้มากกว่า การโหมกระแส ชื่นชม และมอบรางวัลให้แต่เฉพาะคนที่ไปถึงจุดสูงสุดแล้ว
“น่าเสียดาย ประเทศไหนก็ไม่มีเหมือนเรา สหราชอาณาจักร อาจจะมีทีมวิ่งที่ดี เพราะมีการดูแลและงบประมาณ แต่ที่ คาเลนจิน นั้น เรามีสิ่งอำนวยความสะดวกจากธรรมชาติ ซึ่งเอื้ออำนวยให้กับพวกเขาได้มากกว่า และสำคัญมากสำหรับนักวิ่ง” คิรากู บ่นอย่างเสียดายอีกครั้งที่กลุ่มเพชรจาก คาเลนจิน ได้รับการเจียระไนน้อยกว่าที่ควร
อะไรก็ไม่แน่ไม่นอน … ปัจจุบันการวิ่งถือเป็นเทรนด์ระดับโลก ได้รับความนิยมไปทั่วทุกชนชั้น และนั่นเท่ากับว่าจะมีสนามแข่งขันให้กับกลุ่มนักวิ่งจาก คาเลนจิน ได้พิสูจน์ตัวเองมากขึ้น ที่สุดแล้วหากพวกเขายังกวาดรางวัลทั้งกระดานอย่างไม่มีวันหยุดหย่อน สุดท้ายกระแสก็จะมาหาพวกเขาเอง จนที่สุดแล้ว รัฐบาลเองนั่นแหละอาจจะต้องมาง้อพวกเขาก็ได้
“อยากเป็นนักวิ่งระดับสตาร์ ก็มาฝึกวิ่งบนภูเขาอย่างพวกเราสิ” จอช คิรากู กล่าวทิ้งท้าย