แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) เรียกร้องให้รัฐสภาไทยเร่งออกกฎหมายป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและอุ้มหาย ที่ขณะนี้พบว่าล่าช้าอย่างต่อเนื่อง เพราะกฎหมายดังกล่าวสำคัญต่อการนำอาชญากรมาลงโทษและให้ความยุติธรรมต่อเหยื่อ
- ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ผ่านวาระแรก! ส.ส. เห็นด้วย 368 เสียง ไร้ค้าน
นอกจากนี้ แอมเนสตี้และ ICJ ยังเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศและอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ ที่ไทยลงนามและให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้สัตยาบันไปแล้ว
สิ่งที่แอมเนสตี้และ ICJ กังวลเกี่ยวกับเนื้อหาของกฎหมายของไทยมีดังนี้
-
นิยามของอาชญากรรมการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย รวมทั้งคำศัพท์สำคัญอื่นๆ ที่ยังไม่สมบูรณ์หรือไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ
-
การขาดบทบัญญัติเกี่ยวกับการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี
-
การขาดบทบัญญัติที่เหมาะสมเกี่ยวกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินคดี
-
การขาดบทบัญญัติที่เหมาะสมเกี่ยวกับการไม่รับฟังคำให้การหรือข้อมูลใดที่ได้มาจากการกระทำการทรมาน การประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีหรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี
-
การขาดบทบัญญัติที่เหมาะสมเกี่ยวกับรูปแบบความรับผิดบางประการสำหรับอาชญากรรมที่บัญญัติในร่างพระราชบัญญัติ ฯ
-
การขาดบทบัญญัติที่เหมาะสมเกี่ยวกับหลักประกันเพื่อป้องกันการทรมาน การประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย และ
-
การขาดบทบัญญัติเกี่ยวกับลักษณะที่ต่อเนื่องของอาชญากรรมการกระทำให้บุคคลสูญหาย และอายุความของความผิดฐานกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย