ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก “ดาราพิลาส” ในอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว จ.ระนอง

Home » ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก “ดาราพิลาส” ในอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว จ.ระนอง
ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก “ดาราพิลาส” ในอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว จ.ระนอง

Cute Star Flower หรือ “ดาราพิลาส” ชื่อไทยที่ตั้งตามลักษณะของดอกไม้ที่คล้ายดวงดาว ออกดอกในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. ภายในอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว อ.เมือง จ.ระนอง

ดาราพิลาส มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lasianthus ranongensis Sinbumroong & Napiroon คำระบุชนิดตั้งให้เป็นเกียรติแก่ จังหวัดระนอง ซึ่งเป็นพื้นที่แหล่งพันธุกรรมของพืชดังกล่าว และให้เกียรติแก่ผู้ค้นพบ

การค้นพบครั้งนี้ถูกตอบรับตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพด้านชีววิทยาพืช PeerJ (Section Plant biology) ของสหรัฐอเมริกา โดยส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนการวิจัยจากความร่วมมือในโครงการ Flora of Thailand พืชชนิดนี้ทำการตั้งชื่อและเขียนคำบรรยายทางพฤกษศาสตร์ ตามกฎนานาชาติของการกำหนดชื่อวิทยาศาสตร์ของพืช (ICN) โดย อ.ดร.ทิวธวัฒ นาพิรุณ อาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

โดยมี นายอรุณ สินบำรุง นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 สุราษฎร์ธานี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นผู้สำรวจและเก็บตัวอย่างต้นแบบแรกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว และนายมานพ ผู้พัฒน์ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ หอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ เป็นผู้ร่วมให้คำปรึกษาทางอนุกรมวิธาน

ดาราพิลาส เป็นหนึ่งในสมาชิกพืชสกุลกำลังเจ็ดช้างสาร วงศ์เข็มหรือวงศ์กาแฟ (Rubiaceae) หลายชนิดในสกุลนี้เป็นพืชป่าสมุนไพรที่อุดมไปด้วยสารสำคัญทางพฤกษเคมีที่มีความโดดเด่น เช่น สารสโคโปเลตินที่พบในปริมาณสูง สำหรับชนิดที่พบเป็นชนิดใหม่นี้มีลักษณะดอกสวยงามคล้ายดวงดาวที่มี 6 หรือ 7 แฉกบานเปล่งประกายอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวฝั่งอันดามันของไทย

หากพิจารณาจากจำนวนกลีบดอกตามหลักชีววิทยาของพืชหรือพฤกษศาสตร์ พืชชนิดนี้อาจดูผิดแผกจากลักษณะของจำนวนกลีบดอกที่ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ 4-5 กลีบดอก หรือเป็นทวีคูณของจำนวนดังกล่าวตามลักษณะพืชใบเลี้ยงคู่ทั่วไป ที่อาจไม่พบอยู่ในหนังสือหรือตำรา แต่ปรากฏให้เห็นอยู่ในป่าเขตร้อนของไทย

พืชชนิดใหม่นี้มีลักษณะของส่วนสืบพันธุ์ที่แตกต่างจากชนิดใกล้เคียงภายในสกุลเดียวกันอย่างชัดเจน รวมถึงส่วนประกอบอื่นๆ ของพืช เช่น ลักษณะรูปใบ สิ่งปกคลุมพื้นผิวกลีบดอกแบบขนสายสร้อยลูกปัด กลีบเลี้ยง ลักษณะรูปทรงหูใบ เป็นต้น ลักษณะเหล่านี้เป็นลักษณะที่มีการควบคุมโดยพันธุกรรม และบ่งบอกเอกลักษณ์ความเป็นชนิดได้เป็นอย่างดีในทางชีววิทยาวิวัฒนาการและพฤกษศาสตร์

ทั้งนี้ผู้ศึกษาวิจัยมีแนวคิดร่วมมือกับผู้ดูแลพื้นที่ และหน่วยงานของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในการพยายามช่วยเพิ่มจำนวน โดยอาจใช้เทคโนโลยีชีวภาพพืชเข้าไปส่งเสริม เนื่องจากพืชชนิดนี้มีขนาดกลุ่มประชากรขนาดเล็ก มีถิ่นอาศัยที่มีความจำเพาะ จึงอาจมีความเปราะบางหรือสุ่มเสี่ยงต่อการลดลงของจำนวนประชากรได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ