Penthrox : ยาแก้ปวดรุ่นใหม่ที่ช่วยบรรเทาความเจ็บจากเคส “ฮาร์วี่ย์ เอลเลียตต์”

Home » Penthrox : ยาแก้ปวดรุ่นใหม่ที่ช่วยบรรเทาความเจ็บจากเคส “ฮาร์วี่ย์ เอลเลียตต์”
Penthrox : ยาแก้ปวดรุ่นใหม่ที่ช่วยบรรเทาความเจ็บจากเคส “ฮาร์วี่ย์ เอลเลียตต์”

ฮาร์วี่ย์ เอลเลียตต์ ต้องพบกับฝันร้าย หลังได้รับบาดเจ็บข้อเท้าหลุด ในเกมพบกับ ลีดส์ ยูไนเต็ด ที่ทำให้เขาร้องตะโกนด้วยความเจ็บปวดในวินาทีที่พยายามฝืนลุกขึ้นมาเล่นหลังโดนปะทะ

แต่หลังจากถูกนำขึ้นเปลออกจากสนาม กองกลางดาวรุ่งของลิเวอร์พูล ดูมีอาการที่ไม่รุนแรงมากเท่าตอนแรก แถมยังสามารถปรบมือให้กับแฟนบอลทั้งสองฝั่งได้อีกด้วย

อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่เขาอยู่บนเปล หลายคนก็สังเกตว่านักเตะรายนี้กำลังคาบอะไรบางอย่างอยู่ และนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ได้เห็นนักฟุตบอลคาบวัตถุสีเขียวไว้ในปาก เพราะในรายของ ฮาคิม ซิเยค, เจมส์ แม็คคาร์ธี่ และนักกีฬาที่ได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงในยุคหลังต่างใช้อุปกรณ์ดังกล่าวกันจนเป็นปกติแล้ว

 

วัตถุดังกล่าวคืออะไร และมีความสำคัญต่อการช่วยนักกีฬาที่ประสบอาการบาดเจ็บหนักได้มากน้อยเพียงไหน ร่วมไขคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand

แค่สูดก็บรรเทาความเจ็บปวด 

เมื่อเกิดอาการบาดเจ็บอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นขาหัก บิดผิดรูป หรือไหล่หลุดระหว่างการแข่งขัน นอกจากจะเกิดภาพที่ไม่ชวนดูแล้ว ยังสร้างความเจ็บปวดเป็นอย่างมากให้กับผู้เล่นเคราะห์ร้ายรายนั้นอีกด้วย

ทำให้นอกจากการเข้าปฐมพยาบาลเบื้องต้น เช่น การดามกระดูก หรือช่วยล็อกบริเวณที่บาดเจ็บเพื่อจำกัดการเคลื่อนที่ของร่างกายแล้ว ในปัจจุบันเรามักเห็นนักเตะที่ประสบอาการบาดเจ็บหนัก สูดกระบอกสีเขียวบางอย่างเข้าไปทางปาก ระหว่างถูกนำตัวออกจากสนาม แท้จริงแล้ว มันคืออะไรกันแน่ ?


Photo : sports.stackexchange.com

 

เจ้าอุปกรณ์สีเขียว ๆ ดังกล่าว มีชื่อเรียกว่า Penthrox หรือมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Methoxyflurane มันเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดระดับปานกลาง-รุนแรง ให้ทุเลาลงได้ ซึ่งก่อนหน้านี้มักถูกใช้กับผู้ป่วยก่อน หรือระหว่างการผ่าตัด

“ตัว Methoxyflurane เป็น Fluorinated Hydrocarbons Group เหมือนกับตัว ไอโซฟลูเรน (Isoflurane) และ ซีโวฟลูเรน (Sevoflurane) ซึ่งใช้ในห้องผ่าตัดที่แพทย์วิสัญญีใช้” อ.พญ.กษมณฑ์ อร่ามวาณิชย์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน  (Emergency Physician) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ Pain Control in Prehospital Care ของภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล 

“ตัวยาตัวนี้ดูดซึมจากที่ปอด แล้วก็จะกระจายไปตามกระแสเลือด ตัวยาจะถูกเผาผลาญที่ตับ โดยไซโตโครม P450 (Cytochrome P450) และขับออกทางปัสสาวะ ในรูปของออแกนิก ฟลูออรีน (Organic Fluorine) และกรดออกซาลิก (Oxalic Acid)”

“กลไกของมัน สำหรับตัวที่จะควบคุมอาการบาดเจ็บเพื่อมาลดปวดเนี่ย คือตัวยาจะไปลดและยับยั้งตัว NMDA (N-Methyl-D-aspartate) Receptor (เป็นตัวรับสัญญาณที่กระจายอยู่ในระบบประสาทส่วนกลาง ใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาท 2 เซลล์) และเพิ่มการทำงานของตัว GABA A Receptor (เป็นตัวรับสัญญาณกาบา ที่ช่วยลดการตื่นตัวเกินเหตุในสมอง) และตัวไกลซีน (Glycine) ซึ่งทั้งสองอันนี้จะอยู่ที่บริเวณตัว Dorsal horn ก่อนที่จะมีการส่งสัญญาณประสาทมา ตรงนี้จะทำให้ความเจ็บปวด (Pain) ลดลงได้”


Photo : twitter.com/murray_kinsella

 

สรุปในรูปแบบที่เข้าใจง่ายก็คือ อุปกรณ์ดังกล่าวเมื่อสูดเข้าไปในร่างกายแล้ว จะมีตัวยาที่ถูกดูดซึมเข้าไปในปอด และทำให้เกิดกลไกช่วยลดการส่งสัญญาณประสาทด้านความเจ็บปวดลง พร้อมกับกระตุ้นให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย ลดการวิตกกังวลลงมาได้นั่นเอง

แล้วสำหรับ ฮาร์วี่ย์ เอลเลียตต์ พวกเขามีขั้นตอนการเข้าดูแลนักเตะรายนี้อย่างไร จึงช่วยให้อาการเจ็บป่วยดังกล่าวบรรเทาลงได้อย่างแทบจะทันที

การตัดสินใจที่ทันท่วงที 

ในช่วงนาทีที่ 60 ของการแข่งขัน ขณะที่ ฮาร์วี่ย์ เอลเลียตต์ กำลังวิ่งไล่บอลที่เคลื่อนไปในแดนหน้า ปาสกาล สเตราค์ ได้พยายามเข้าสกัดจากด้านหลัง จนไปเกี่ยวข้อเท้าซ้ายของมิดฟิลด์ดาวรุ่งรายนี้ให้ล้มลง

จากภาพรีเพลย์ จะเห็นได้ว่าข้อเท้าของ เอลเลียตต์ ถูกพลิกให้หมุนเปลี่ยนทิศทางไปจากธรรมชาติ ในทันทีที่ร่างกายของเจ้าตัวเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยแรงเฉื่อย แต่ดันถูกขาของ สเตราค์ รั้งส่วนข้อเท้าไว้อยู่ด้านหลัง จนกลายเป็นภาพที่ไม่ถูกนำมาฉายซ้ำในระหว่างการถ่ายทอดสดอีกเลย

 

โมฮาเหม็ด ซาลาห์ ปีกขวาของลิเวอร์พูล เป็นผู้เล่นที่อยู่ใกล้กับเหตุการณ์มากที่สุด ได้เร่งเรียกให้ทีมแพทย์ของสโมสรวิ่งเข้ามาในสนามทันที โดยไม่ต้องรอสัญญาณหยุดเกมจากผู้ตัดสิน ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่บ่งชี้ความรุนแรงของอาการบาดเจ็บดังกล่าวได้ไม่น้อย

อ.นพ.ธาริน ธรรมพงษา อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน Trauma Surgeon ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมจากกรณีนี้ว่า

“ก็เห็นสภาพเลย (การที่เอลเลียตต์โดนเข้าสกัด) พอเสียบปุ๊ป ไม่รู้ข้อเท้าหลุดหรือพลิกหรือหักอย่างไร แต่ว่าปวดมาก ดิ้นอย่างนี้เลย สักพักหนึ่ง พอทีมแพทย์ประเมินว่าเป็นเจ็บปานกลาง-รุนแรง พวกการแตกหักของระบบกล้ามเนื้อและกระดูก ยังไงก็เจ็บปวดมากอยู่แล้ว”

“กรณีนี้ เราไม่มีทางที่จะเปิดอะไรได้เลย ส่วนใหญ่ที่ต่างประเทศเขาจะใช้ตัวนี้ (Penthrox) ในระหว่างส่งตัวไปโรงพยาบาล ให้นักฟุตบอลสูดดมได้เลย”

 

ด้านตัวยานั้น จะเป็นแบบน้ำ 3 มิลลิลิตร ที่ต้องเติมเข้าไปในฐานของกระบอก Penthrox จากนั้นจึงนำไปให้ตัวนักฟุตบอลคล้องไว้กับแขนของตนเอง โดยต้องค่อย ๆ สูดเข้าไปใน 2-3 ครั้งแรก ก่อนจะหายใจได้ตามปกติผ่านกระบอกของ Penthrox เลย


Photo : twitter.com/ashbrownett

อ.นพ.ธาริน ได้เสริมต่อว่า “พอสูดดมเข้าไปเสร็จ จะเห็นว่าไม่กี่นาที ที่ขายังมีตัวยึดไว้อยู่เลย ยังสามารถเปิดมาดูฟุตบอลได้ ยังถ่ายรูปเซลฟี่ลงอินสตาแกรมหรือเฟซบุ๊กได้อยู่เลย ยาตัวนี้จากประสบการณ์ที่ผมใช้จริง ๆ กับเรื่องความเจ็บปวด มันดีมากจริง ๆ”

จริงอยู่ที่เจ้าอุปกรณ์ Penthrox นี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเกิดขึ้นมาได้ เช่น อาการมึน ที่พบได้บ่อย แต่ก็ยังเป็นเพียง 10% ของเคสเท่านั้น หรืออย่าง คลื่นไส้ ไอแห้ง ปวดหัว หรืออาการติดยาก็มีโอกาสเพียงแค่ 1-10% เท่านั้น และมักพบกับผู้สูงอายุมากกว่าในเด็กที่มีอายุน้อยเช่นในกรณีของ ฮาร์วี่ย์ เอลเลียตต์ นั่นเอง

นอกจากนี้ ในประเทศไทยก็ยังมีการอนุมัติการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวกับผู้ป่วยฉุกเฉิน เพื่อช่วยลดอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

 

“อาการปวดมีผลต่อสัญญาณชีพ ไม่ว่าจะเป็น ความดัน อัตราการเต้นของหัวใจ การหายใจ หรืออื่น ๆ ที่เป็นสัญญาณชีพต่าง ๆ ที่ทำให้คนไข้มีการเปลี่ยนแปลงของสัญญาณชีพได้ รวมไปถึงพวก Morbid Mortality อาการพิการ ไปจนถึงเสียชีวิต ก็มีผล” นฉพ. พลวัฒน์ กานต์ชยาวงศ์ นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ กล่าวในงานสัมนา

“เพราะฉะนั้นเราจึงต้องระลึกถึงอาการปวดของคนไข้ ไม่ควรปล่อยผ่าน”

เมื่อผนวกรวมกับวิวัฒนาการทางการแพทย์ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับสุขภาพของนักฟุตบอลในสนาม เราจึงได้เห็นภาพการเข้าช่วยเหลือนักเตะจากอันตรายต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุเล็กน้อย จนถึงขั้นกระดูกหัก หรือระดับที่หัวใจหยุดเต้นอย่างในกรณีของ คริสเตียน อีริคเซ่น มาแล้ว

จากหน้ากากออกซิเจน ที่ใช้เพื่อช่วยลดอาการตกใจในสมัยก่อน มาสู่อุปกรณ์อย่าง Penthrox ที่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ระหว่างหน้างาน ก็เป็นอีกครั้งที่วิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาช่วยให้นักกีฬาเหล่านี้ผ่านพ้นช่วงที่ยากลำบากได้อย่างราบรื่นขึ้น และเตรียมพร้อมกลับมาลงเล่นอีกครั้งได้ในเร็ววัน



แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ