‘อัลฟาเบต’ ใช้ลำแสงวิ่งตรงส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในอินเดีย-แอฟริกา

Home » ‘อัลฟาเบต’ ใช้ลำแสงวิ่งตรงส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในอินเดีย-แอฟริกา
‘อัลฟาเบต’ ใช้ลำแสงวิ่งตรงส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในอินเดีย-แอฟริกา

บริษัทอัลฟาเบต (Alphabet) บริษัทแม่ของกูเกิล (Google) ประสบความสำเร็จในการใช้ลำแสงส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ให้กับชุมชนต่างๆ ในอินเดียและแอฟริกา โครงการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงล่าสุดนี้ มีเป้าหมายในการให้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ตให้กับเขตชนบทและพื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึงทั่วทุกมุมโลก

ขณะนี้บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่มากมาย พยายามผลักดันการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตให้ครอบคลุมทั่วโลก อย่างบริษัทสเปซเอ็กซ์ ของอิลอน มัสก์ ใช้ดาวเทียมหลายพันดวงเพื่อให้การเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วโลก และบริษัทเฟสบุ๊ก ที่หวังกระจายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้กับชุมชนห่างไกลด้วยวิธีต่างๆ รวมทั้งการใช้ระบบของเครื่องบินให้กระจายสัญญาณอินเตอร์เน็ตลงมาบนพื้นโลกด้วย

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงจะทำผ่านระบบใยแก้วนำแสง หรือ ไฟเบอร์ออพติก (fiber-optic) ซึ่งระบบดังกล่าวจะสามารถนำส่งสัญญาณข้อมูลได้ในระยะไกลๆ และมีประสิทธิภาพสูง แต่ต้นทุนการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเตอร์เน็ตรูปแบบนี้ก็สูงมากเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยเฉพาะในเขตทุรกันดารและพื้นที่ห่างไกลการพัฒนา จึงไม่สามารถสร้างหรือวางระบบโครงข่ายอินเตอร์เน็ตแบบไฟเบอร์ออพติกหรือจากการใช้สายเคเบิ้ลได้ ทำให้ผู้คนนับล้านทั่วโลกไม่สามารถเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตด้วยเช่นกัน

แต่โครงการ Taara ระบบนำส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงจากทีมพัฒนาที่ชื่อว่า moonshot factory ของอัลฟาเบต ที่เริ่มต้นทดสอบในอินเดียและแอฟริกา จะเป็นหนทางแก้ไขปัญหาการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในเขตชนบทได้บางส่วน ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Free Space Optical Communications (FSOC) โดยลักษณะการทำงานจะคล้ายกับระบบไฟเบอร์ออพติก ที่ใช้แสงเพื่อนำส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตแต่ไม่ต้องพึ่งพาใยแก้วหรือสายเคเบิลแต่อย่างใด เพราะคลื่นแสงจะลำเลียงข้อมูลอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งด้วยอุปกรณ์รับส่งสัญญาณที่ติดอยู่กับเสาหรือโครงสร้างอาคารต่างๆ

โครงการ Taara เริ่มต้นมาจากโครงการก่อนหน้าของอัลฟาเบตที่ชื่อว่า Loon ซึ่งในตอนนั้นเป็นแนวคิดที่จะใช้บอลลูนที่ลอยขึ้นระดับสูงเพื่อส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตให้กับพื้นที่ชนบทที่อยู่เบื้องล่าง แต่หลังจากการวิจัยค้นคว้า พัฒนาและทดสอบจริง ทางอัลฟาเบตตัดสินใจยุติโครงการดังกล่าวไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่ทีมพัฒนาโครงการ Loon ก็ไม่ได้หยุดคิดค้นวิธีส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตให้เขตพื้นที่ห่างไกล โดยหยิบเทคโนโลยี FSOC ที่ใช้ในโครงการบอลลูนอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่ปิดตัวไปมาพัฒนาต่อ

โครงการ Taara ใช้ระบบ FSOC ส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่รัฐอานธรประเทศของอินเดีย และระหว่าง 2 เมืองใหญ่ในทวีปแอฟริกา คือเมืองบราซซาวิล (Brazzaville) แห่งสาธารณรัฐคองโก และเมืองกินชาซา (Kinshasa) ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

โดยการทดสอบในแอฟริกา เส้นทางจากเมืองบราซซาวิลและกินชาซาห่างกันเพียงราว 4.8 กิโลเมตร และมีแม่น้ำคองโกคั่นอยู่ แต่ต้นทุนระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงระหว่าง 2 พื้นที่นี้หากเชื่อมต่อด้วยโครงข่ายใยแก้วจะสูงกว่าถึง 5 เท่า เพราะจะต้องกินระยะทางมากกว่า 400 กิโลเมตรอ้อมแม่น้ำคองโก อย่างไรก็ตามทีมงานพบว่า การส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตนั้นสามารถทำได้ถูกกว่าหากมีจุดเชื่อมสัญญาณที่มองเห็นได้โดยตรงระหว่างอุปกรณ์รับและส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่สองฝั่งแม่น้ำนี้

โดยระบบส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงแบบ FSOC ของโครงการ Taara นี้ ยิงสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงข้ามแม่น้ำคองโก ด้วยข้อมูลเกือบ 700 เทราไบต์ ในระยะ 20 วัน และมีอินเตอร์เน็ตพร้อมใช้งานได้ถึง 99.9% ซึ่งก็เท่ากับข้อมูลที่ใช้สำหรับการชมเกมฟุตบอลโลก ด้วยความคมชัดระดับ HD ได้ถึง 270,000 ครั้งเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม การส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตรูปแบบดังกล่าว อาจได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศอยู่บ้าง เช่น ภาวะหมอกหนา หรือกรณีที่มีสัตว์ต่างๆ เข้าขวางกั้นอุปกรณ์รับส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ต แต่ทีมงานโครงการ Taara กล่าวว่าทีมงานได้ปรับระบบให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่เพื่อป้องกันสัญญาณอินเตอร์เน็ตถูกตัดขาดไปบ้างแล้ว

บาริส เอิร์กเมน หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมของโครงการ Taara ในอินเดีย ที่ประสบความสำเร็จในการทดสอบการส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตรูปแบบเดียวกันนี้ ยอมรับว่า เราอาจไม่ได้เห็นการส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่สมบูรณ์แบบ อันเนื่องมาจากปัจจัยด้านสภาพอากาศและเงื่อนไขอื่นๆ แต่ก็เชื่อมั่นว่า ระบบโครงข่ายอินเตอร์เน็ตของ Taara จะมีบทบาทสำคัญต่อการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงของประชาชน 17 ล้านคนในรัฐอานธรประเทศของอินเดียได้ไม่น้อย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ