ประโยชน์จาก "ปลากระป๋อง" กินอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ

Home » ประโยชน์จาก "ปลากระป๋อง" กินอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ
ประโยชน์จาก "ปลากระป๋อง" กินอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ

อาหารกระป๋องไม่ได้มีแต่โทษต่อร่างกายอย่างเดียวเสมอไป หากกินให้ถูกวิธี เราก็ได้รับประโยชน์ดีๆ จากปลากระป๋องได้เหมือนกัน

อาหารกระป๋องส่วนใหญ่จะถูกมองว่าไม่ค่อยมีคุณค่าทางสารอาหาร แต่อันที่จริงแล้วสำหรับ “ปลากระป๋อง” คุณค่าทางสารอาหารที่มีอยู่ในเนื้อปลายังคงอยู่ และถือเป็นหนึ่งในอาหารที่มอบสารอาหารให้กับร่างกายได้ดีในยามฉุกเฉิน

แต่ปลากระป๋องก็มีทั้งประโยชน์และโทษในตัวของมันเอง ดังนั้น หากเราเลือกกินอย่างถูกวิธี เราก็จะเลือกส่วนที่เป็นประโยชน์มาใช้กับร่างกายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ส่วนประกอบของปลากระป๋อง

  • ปลาทะเล เช่น ปลาทูน่า ปลาโอ ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล
  • ซอสมะเขือเทศ
  • น้ำมันปลา
  • น้ำเกลือ

เป็นต้น

คุณค่าทางสารอาหารของปลากระป๋อง

  • โปรตีน 

เนื้อปลากระป๋องเป็นโปรตีนที่ย่อยง่าย ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และบำรุงร่างกายในส่วนที่สึกหรอ

  • โอเมก้า-3

จากปลาทะเล บำรุงสมอง ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ

  • ทอรีน 

ช่วยในการทำงานของระบบประสาท กล้ามเนื้อ และเกล็ดเลือด หากเด็กได้รับทอรีนไม่เพียงพอ  อาจจะมีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองได้ โดยเฉพาะเด็กที่ดื่มนมวัว

นอกจากนี้ ทอรีนยังช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด ช่วยขับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีออกจากร่างกาย ช่วยป้องกันตับอักเสบ ช่วยควบคุมน้ำตาลในรายที่เป็นเบาหวาน ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้คล่อง และช่วยป้องกันอาการซึมเศร้า

  • กรดลิโนเลอิก 

ลดการเกิดไขมันอุดตันในเส้นเลือด บำรุงสมอง ป้องกันหัวใจเต้นผิดจังหวะ

นอกจากนี้ยังมีสารอาหารอย่าง ไขมัน แคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม สังกะสีทองแดง แมงกานีส วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี วิตามินเค วิตามินบี 6 วิตามินบี 9 และ วิตามินบี 12 โดยสารอาหารหลายๆ อย่างนี้ช่วยบำรุงกระดูก

และการที่ปลากระป๋อง เป็นปลาที่เราสามารถได้ทั้งกระดูก ทำให้ได้รับสารอาหารมากกว่าการกินเนื้อปลาเพียงอย่างเดียวอีกด้วย

  • ไลโคปีน 

จากซอสมะเขือเทศที่ผ่านความร้อน ต้านอนุมูลอิสระ และลดการอักเสบในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งของโรคกระดูกพรุน

อันตรายจากปลากระป๋อง

แม้ว่าปลากระป๋องจะมีสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพไม่ใช่น้อย แต่พบว่าการปรุงรสในปลากระป๋องทำให้มีปริมาณโซเดียมสูง โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าปลากระป๋องขนาด 85 กรัม 1 กระป๋อง มีโซเดียมสูงถึง 300 มิลลิกรัม หรือคิดเป็น 1 ใน 7 ของปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน ถ้ากินมากเกินไปนี่ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงโรคไตและโรคเรื้อรังหลายอย่าง

นอกจากนี้ยังอาจมีอันตรายจาก “ฮีสทามีน” ที่เกิดขึ้นจากแบคทีเรียย่อยกรดอะมิโนในตัวปลา ระหว่างการขนส่งและจัดเก็บปลาทะเล ซึ่งบางครั้งความเย็นอาจไม่มากพอ โดยพบบ่อยในปลาทูน่า ปลาโอแถบ ปลาซาร์ดีน และปลาแมคเคอเรล ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของปลากระป๋อง

วิไลลักษณ์ ศรีสุระ นักโภชนาการชำนาญพิเศษ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย ระบุว่า การรับประทานเนื้อปลาที่มีปริมาณฮีสทามีนสูงกว่า 200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทำให้เกิดผลกระทบกับสุขภาพได้ โดยเฉพาะกับผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเสี่ยง

“คนที่ควรระวัง คือ คนที่แพ้อาการทะเล ผู้สูงอายุ และเด็ก ซึ่งวัยนี้ไม่มีความจำเป็นที่ต้องกินปลากระป๋อง รวมทั้งคนที่เป็นภูมิแพ้อาหารทะเลบางอย่างก็ต้องระวัง ส่วนอาการแพ้ก็ขึ้นอยู่กับการบริโภคมากๆ มีทั้งผื่นขึ้น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายท้องร่วมด้วย”

กินปลากระป๋องอย่างไรให้ได้ประโยชน์ และปลอดภัย

  1. ไม่กินมากหรือบ่อยครั้งจนเกินไป ควรเลือกเป็นโปรตีนในยามที่จำเป็น โดยไม่ควรรับประทานเกิน 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์
  2. ไม่เลือกกินปลาชนิดเดียวกันซ้ำๆ ควรเปลี่ยนชนิดของปลาบ้าง
  3. ไม่ปรุงรสเค็มเพิ่มมากจนเกินไป หรือไม่ต้องปรุงเค็มเพิ่ม เพราะมีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูงอยู่แล้ว
  4. เพิ่มผักอื่นๆ เพื่อเพิ่มคุณค่าทางสารอาหารในการปรุงเพิ่มได้
  5. เลือกกระป๋องของปลากระป๋องที่มีสภาพสมบูรณ์ ไม่บุบ เบี้ยว ไม่มีรูรั่ว หรือมีสนิมขึ้น และสังเกตวันหมดอายุก่อนรับประทาน
  6. หากรู้สึกว่ารสชาติ สี กลิ่น ไม่เหมือนปกติ ไม่ควรรับประทาน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ