นพ.นันทพล พงศ์รัตนามาน อาจารย์ที่ปรึกษา แผนกศัลยศาสตร์หลอดเลือด ร.พ.พระมงกุฎเกล้า หรือ หมอท็อป แนะวิธีสังเกตอาการเหล่านี้ว่า อาจเป็นสัญญาณอันตรายที่บอกว่า “ลำไส้” ของคุณเริ่มมีปัญหาแล้ว
สุขภาพของลำไส้เกี่ยวข้องกับระบบอื่นๆ ในร่างกายของเรามากมายกว่าที่เราคิด ทั้งฮอร์โมน กล้ามเนื้อ อารมณ์ การนอน ถ้าระบบลำไส้เริ่มรวน ทำงานผิดปกติ ก็จะส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานอื่นๆ ของร่างกายด้วย จนบางทีเราอาจมองข้ามไปว่าสาเหตุมาจากลำไส้
สาเหตุที่ลำไส้เราเริ่มมีปัญหา เริ่มมาจากอาหารการกิน ที่ส่วนใหญ่แล้วมาจากแป้ง และน้ำตาล ที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวที่มีปริมาณสูงมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้ระบบย่อยเกิดความผิดปกติ เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ และแบคทีเรียที่ดีต่อลำไส้ของเราที่มีอยู่อาจจะลดน้อยลง แบคทีเรียที่ไม่ดีต่อลำไส้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ความเครียด การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ก็ส่งผลต่อระบบลำไส้ของเราได้ด้วยเช่นกัน
5 สัญญาณอันตราย “ลำไส้” อาจกำลังมีปัญหา
- ปวดท้อง ท้องอืด เป็นๆ หายๆ
หากมีอาการปวดท้อง ท้องอืด และมีอาการแบบนี้อยู่เรื่อยๆ เป็นๆ หายๆ อาจจะนึกว่าตัวเองเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ แต่อันที่จริงแล้วอาจจะไม่ได้เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบเสมอไป อาการปวดท้อง ท้องอืด เป็นๆ หายๆ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่มาแสดงอาการที่ลำไส้ของเรา เช่น การรับประทานอาหารที่มีแป้ง น้ำตาล คาร์โบไฮเดรตสูงมากเกินไป อาหารที่มีการปรุงแต่งมากเกินไป ทำให้การย่อยอาหารผิดปกติ อาจทำให้เกิดอาการท้องอืดได้ เสี่ยงต่อภาวะกรดไหลย้อน ท้องอืดมากกว่าปกติ
ดังนั้นการรับประทานอาหารที่เป็นคาร์โบไฮเดรตให้น้อยลง หรือเลือกคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต ปรุงแต่งอาหารน้อยๆ ก็จะช่วยลดอาการปวดท้อง ท้องอืด เป็นๆ หายๆ ได้บ้าง
- น้ำหนักขึ้น-ลดลงมากผิดปกติ
น้ำหนักมากขึ้น หรือลดลงผิดปกติทั้งๆ ที่ไม่ได้กินมากหรือน้อยลงไปกว่าเดิม กิจวัตรประจำวันเหมือนเดิมทุกอย่าง อาจมีสาเหตุมาจากการพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม ในกรณีที่น้ำหนักมากขึ้นผิดปกติ อาจบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลสูงมากเกินไป การดูดซึมของลำไส้แย่ลง กินแล้วลำไส้ไม่ได้ดูดซึมสารอาหารดีๆ ไปใช้กับร่างกาย แต่ขับถ่ายออกหมด ทำให้เกิดภาวะหิวสารอาหาร และสารอาหารที่ร่างกายมักโหยหาในภาวะนี้คือคาร์โบไฮเดรต อาหารหวานๆ นั่นเอง
ในรายที่น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว อาจเกิดจากแบคทีเรียในลำไส้ผิดปกติ ทำให้การดูดซึมสารอาหารแย่ลงเช่นกัน ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะขาดสารอาหารในระยะยาวได้ จนอาจเสี่ยงโลหิตจางได้เลยทีเดียว เพราะขาดธาตุเหล็กจากการดูดซึมที่ไม่ดี
- มีปัญหาการนอน
ระบบลำไส้อาจทำให้ระบบการทำงานของฮอร์โมนบางชนิดในร่างกายผิดปกติได้ เช่น ฮอร์โมนซีโรโทนิน ที่ควบคุมเวลาในการนอนหลับของร่างกาย หากฮอร์โมนชนิดนี้มีความผิดปกติ มากไปหรือน้อยไป ก็ทำให้การนอนหลับของเรายากมากขึ้น นอนไม่ค่อยหลับ นอนหลับไม่สนิท เป็นต้น
- เกิดภาวะทนทานอาหารไม่ได้
ภาวะทนทานอาหารไม่ได้ (Food Tolerance) หมายถึงภาวะที่เราไม่สามารถรับอาหารเข้าร่างกายได้ ร่างกายไม่สามารถย่อยอาหารชนิดนั้นได้ ไม่สามารถดูดซึมสารอาหารนั้นๆ เข้าไปใช้ในร่างกายได้ มีแก๊สจากการย่อยอาหารมาก ทำให้ท้องเสียเรื้อรัง ท้องอืด มวนท้อง แน่นท้อง ไม่สบายท้อง ปวดท้อง คลื่นไส้ โดยเกิดจากในลำไส้มีแบคทีเรียที่ไม่ดีต่อร่างกายมากเกินไป แบคทีเรียที่ดีต่อร่างกายมีน้อยเกินไป ทำให้ลำไส้ไม่สามารถย่อยอาหารที่เรากินเข้าไปได้ ไม่ว่าอาหารเหล่านั้นจะดีและมีประโยชน์มากแค่ไหนก็ตาม
สามารถแก้ปัญหาได้โดยการ พยายามรับประทานอาหารที่มีพรีไบโอติกจากธรรมชาติ เช่น โยเกิร์ต กิมจิ คีเฟอร์ ถั่วหมัก ซึ่งจะช่วยเพิ่มโปรไบโอติก หรือแบคทีเรียที่ดีต่อร่างกายให้กับลำไส้
- ผิวหนังอักเสบ
เมื่อลำไส้อยู่ในภาวะอักเสบ ลำไส้จะเกิดรูเล็กๆ ที่เรามองไม่เห็น ทำให้สารอาหาร หรือโปรตีนที่เรากินเข้าไปรั่วออกมา โปรตีนที่รั่วออกมาจะไปทำปฎิกิริยากับผิวหนัง จนทำให้เกิดอาการแพ้ได้ อาจทำให้เกิดผดผื่นแดง ดังนั้นใครที่ผื่นผิวหนังบ่อยๆ อาจต้องดูด้วยว่ามีปัญหาลำไส้ร่วมด้วยหรือเปล่า
อย่างไรก็ตาม เพื่อความถูกต้องในการรักษา เมื่อมีอาการผิดปกติ ควรเข้ารับการตรวจกับแพทย์อย่างละเอียด เพื่อหาวิธีรักษาที่ตรงจุดต่อไป