พ่อช่วยลูกเรียนออนไลน์ เจออคติทางเพศชั้นประถม สะท้อน “เรียนออนไลน์ แต่หลักสูตรไม่เปลี่ยนตาม”

Home » พ่อช่วยลูกเรียนออนไลน์ เจออคติทางเพศชั้นประถม สะท้อน “เรียนออนไลน์ แต่หลักสูตรไม่เปลี่ยนตาม”
พ่อช่วยลูกเรียนออนไลน์ เจออคติทางเพศชั้นประถม สะท้อน “เรียนออนไลน์ แต่หลักสูตรไม่เปลี่ยนตาม”

ภาพผู้ปกครองนั่งเรียนออนไลน์กับลูก ๆ กลายเป็นภาพที่ชินตาในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อหลายโรงเรียนต่างมีคำสั่งปิดโรงเรียนและเปลี่ยนให้มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์แทน แม้ภาพเหล่านั้นจะดูน่ารัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันกำลังสะท้อนภาพ “ความไม่พร้อม” ของระบบการศึกษาไทยที่กำลังจะกลายเป็น “ปัญหาเรื้อรัง” ที่จะส่งผลกระทบกับเด็กนักเรียนหลายล้านคนในอนาคตอันใกล้ หากกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาลยังไม่เร่งแก้ไข การเรียนออนไลน์สะท้อนปัญหาของระบบการศึกษาไทยได้มากมาย แต่ผู้ปกครองท่านหนึ่งก็สะท้อนผ่าน Sanook ว่า สิ่งที่เป็นปัญหาที่สุดของการศึกษาไทย คือ “หลักสูตรการเรียนการสอน”

“ข้อดีของการเรียนออนไลน์คือ ในสถานการณ์โควิด-19 เราก็ไม่สามารถออกไปข้างนอกได้มากนัก มันก็ทำให้เราได้มีโอกาสได้นั่งฟัง ได้เรียนรู้ และได้เห็นเนื้อหา แต่ในส่วนของข้อเสียคือ เราได้เห็นวิธีการสอนหรือหลักสูตรที่มันคัดลอกจากการเรียนการสอนแบบในห้อง มาสู่รูปแบบการเรียนออนไลน์เท่านั้น” เขาเริ่มบทสนทนา

แม้เขาจะเข้าใจว่าครูผู้สอนและโรงเรียนต่างมีความพยายามที่จะปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์การเรียนการสอนที่กระทรวงศึกษาธิการสั่งลงมา แต่ปัญหาสำคัญที่เขามองเห็นคือความพยายามปรับตัวของ “หลักสูตรการศึกษา” ที่มีน้อยมาก จึงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงเมื่อต้องเปลี่ยนรูปแบบจากในห้องเรียนจริงมาสู่ห้องเรียนออนไลน์

“หลักสูตรส่วนกลางมีความพยายามน้อยเกินไปที่จะช่วยเรื่องการชี้แนวทาง ให้ทิศทาง หรือทลายข้อจำกัดของคุณครู พูดง่าย ๆ คือครูต้องสอนตามหลักสูตรแบบเดิม วิธีวัดผล วิธีการประเมินแบบเดิม ดังนั้นสิ่งที่ผู้ปกครองต้องเผชิญ กลายเป็นว่าเราต้องเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าไปช่วยสอน เข้าไปเป็นครู อธิบายในความไม่เข้าใจแทนครูมากขึ้น คือมันก็เป็นหน้าที่ที่ผู้ปกครองควรทำ แต่ถ้าผู้ปกครองไม่มีเวลา หลายครอบครัวเจอสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ เขาก็อาจจะไม่มีเวลาที่จะมาช่วยดูแล ช่วยจัดการ หรือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของลูกได้” 

ในขณะที่ประเทศไทยเจอกับการระบาดของโรคโควิด-19 หลายระลอก ส่งผลให้โรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอนหลายครั้ง แต่ผู้ปกครองท่านนี้ก็ชี้ว่า ยังไม่เคยเห็นความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง มีเพียงการแก้ไขปัญหายิบย่อยซึ่งไม่ได้ช่วยเหลือตัวเด็กนักเรียน ครู หรือผู้ปกครองอย่างแท้จริง 

ไม่ใช่แค่ความไม่พร้อมของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนเท่านั้น แต่การเรียนออนไลน์ก็ยังทำให้ผู้ปกครองได้มองเห็น “ความไม่เท่าทันโลก” ของหลักสูตรการศึกษาหรือบุคลากรทางการศึกษาของไทย ซึ่งเขาระบุว่า 

“ล่าสุดแอบอ่านข้อสอบลูก ก็มาเจอเรื่องเพศ ซึ่งคำถามเป็นชุดที่ว่า เพศไหนเหมาะจะทำอะไร การกระทำแบบนี้เหมาะสมกับเพศใด คำถามแบบนี้ไม่ควรมีแล้วในปัจจุบันนี้ มันเป็นคุณค่าที่เปลี่ยนแปลงไป เคยใช้ได้ในยุคหนึ่ง แต่ในยุคปัจจุบันอาจจะต้องเปลี่ยนใหม่ เราเห็นตัวอย่างการสอนทางอื่นได้ โดยไม่ต้องสร้างบาดแผลทางร่างกาย ทางจิตใจให้กับเด็กก็ได้ แต่มันก็ทำให้เขาไปถึงจุดหมายเหมือนกัน” 

มันผิดตั้งแต่ฐานคิด เวลาจะปรับอะไรก็ปรับไม่ได้ เพราะใช้ฐานคิดแบบนี้มาตลอด จริง ๆ การเรียนออนไลน์ก็ยังมีปัญหาอื่น อย่างเช่นเรื่องเศรษฐกิจ หลาย ๆ ครอบครัวอาจมีคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์เครื่องเดียว แต่มีลูกหลายคน ก็ทำให้เขาไม่สามารถหาวิธีจัดสรรเวลาให้กับลูกได้อย่างเหมะสม แล้วการสนับสนุนของภาครัฐก็ยังไม่เห็นแนวทางที่ชัดเจน” เขากล่าว 

นอกจากนี้ หลักสูตรการศึกษาที่ถูกแช่แข็งเอาไว้ยังก่อให้เกิดปัญหาความเครียดต่อผู้เรียนและผู้สอนที่มีการวัดประเมินผลว่าต้องทำให้ผ่านมาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการ และเมื่อเปลี่ยนมาเป็นการเรียนการสอนออนไลน์ ปัญหานั้นก็ตกมาที่ผู้ปกครองอย่างปฏิเสธไม่ได้

“มันต้องทำให้ผ่านตามมาตรฐานของโรงเรียน มันก็กดดันทั้งเราเอง ไม่งั้นครูก็กดดันทางเรา เขาต้องตามงานมาที่เรา มีงานส่งตรงนี้นะคะ ในแง่หนึ่งมันดีที่เขาพยายามตามปัญหา แต่งานของคุณมันเยอะเกินไป คุณไม่ได้คิดรวมกันว่าเอาแค่นี้พอ แรงกดดันก็เลยมาอยู่ที่เรา มาอยู่ที่เด็ก” เขาชี้ 

แม้หลายภาคส่วนร่วมกันสะท้อนปัญหาการเรียนออนไลน์ให้กับทางกระทรวงและรัฐบาลได้รับทราบ แต่ผู้ปกครองท่านนี้ก็มองว่า ยังไม่เห็นความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งสำหรับเขาแล้ว การแก้ไขปัญหาการเรียนออนไลน์ที่จะมีประสิทธิภาพมากที่สุด นั่นคือการตั้งโจทย์ปรัชญาทางการศึกษาให้ถูกต้องตั้งแต่ต้น ซึ่งจะช่วยเหลือเด็กทุกระดับให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ และสามารถปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น 

“ก็อยากให้เอาเวลาตรงนี้ไประดมสมอง หารูปแบบหรืออะไรบางอย่าง เอาทุกฝ่ายมาคิด ออกแบบ ดีไซน์ หรือว่าเอาตัวอย่างดี ๆ ของต่างประเทศอื่นมาใช้ และคุณต้องตั้งโจทย์ปรัชญาทางการศึกษาให้ถูกตั้งแต่ต้นด้วย ไม่ใช่คุณใช้หลักสูตรประเมินวัดผลแบบเดิม ต้องมองใหม่ว่าหลักสูตรที่เหมาะสมเป็นแบบไหน” เขากล่าวปิดท้าย

  • ตรีนุช ยอมรับเรียนออนไลน์ไม่ดีเท่าที่โรงเรียน แต่เอามาใช้เพื่อไม่ให้การศึกษาหยุดชะงัก
  • สองพี่น้องที่บ้านไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องเดินเท้า 1 กม. เสียค่าชาร์จมือถือ 10 บาทไว้เรียนออนไลน์
  • เสียงสะท้อน “เรียนออนไลน์” และความไม่พร้อมของการศึกษาไทยช่วงโควิด-19
  • เปลือยการศึกษาไทย ทำไม “เรียนฟรี” ไม่ได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ