ให้แฟนบอลเข้ามาชมเกมกันเป็นหลักหมื่นคน โดยแทบไม่เห็นใครใส่หน้ากากเลย นี่คือสัญญาณว่าประชาชนอังกฤษการ์ดตกกันหรือ?
ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งเป็นวันละหลายหมื่นคน แต่ทำไมรัฐบาลอังกฤษถึงตัดสินใจยกเลิกข้อจำกัดด้าน COVID-19 ออกไปทั้งหมดล่ะ ? เชื้อสายพันธุ์เดลต้ากำลังระบาดด้วย เดี๋ยวพรีเมียร์ลีกก็ได้เป็นโมฆะไปอีกปีหรอกแบบนี้
คุณอาจกำลังมีข้อสงสัยมากมาย กับมาตรการที่ดูท้าทายความน่ากลัวของไวรัส COVID-19 ดังนั้นในบทความนี้ Main Stand จะมาไขข้อสงสัยกันว่า อะไรคือเบื้องหลังการตัดสินใจของอังกฤษ ที่ให้แฟนบอลกลับเข้าไปชมเกมในสนามได้อีกครั้ง
ทุ่มทุนกับวัคซีน
ย้อนกลับไปช่วงที่ COVID-19 เริ่มระบาดไปทั่วโลกใหม่ ๆ อังกฤษเป็นหนึ่งในชาติที่รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงที่สุด ด้วยยอดผู้เสียชีวิตสูงสุดถึงวันละ 1,461 ราย จากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มวันละประมาณ 5,000 คน จนต้องมีมาตรการรับมือที่เข้มข้น ตั้งแต่การล็อกดาวน์ บังคับปิดกิจการ และห้ามรวมตัวกันมากกว่า 2 คน มาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2020
แต่มาตรการดังกล่าว ก็เป็นสิ่งที่ถูกใช้เพื่อแก้ขัดเป็นการชั่วคราว เพราะสุดท้ายแล้ว แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เพื่อนำพามนุษยชาติออกจากช่วงเวลาอันมืดมิดเหล่านี้ได้ ก็ไม่พ้นการมีวัคซีน ที่หลายฝ่ายแทบจะเริ่มพัฒนากันตั้งแต่แรกที่ทราบข่าวการระบาด เพื่อเพิ่มโอกาสรักษาชีวิตผู้คนให้ได้มากที่สุด
แม้จะเริ่มต้นได้ไม่สู้ดีนัก แต่อังกฤษก็สามารถตั้งหลักกลับมาได้สำเร็จ จากทั้งการสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นมูลค่าสูงถึง 65.5 ล้านปอนด์ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2020 พร้อมกับสั่งจองวัคซีนแบบไม่แทงม้าเต็ง เพราะมีการจัดซื้อทั้ง แอสตร้าเซนเนก้า (ซึ่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดร่วมพัฒนา) และ ไฟเซอร์-ไบออนเทค เข้ามาในประเทศถึง 100 ล้านโดส ที่ทั้งรวดเร็วและเพียงพอกับประชากรส่วนมาก จนทำให้สหราชอาณาจักร กลายเป็นดินแดนแรกในโลก ที่อนุมัติการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัส COVID-19 ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2020
เป้าหมายของวัคซีนนั้น ไม่ใช่ยาวิเศษที่จะเข้ามาเสกให้เชื้อไวรัสนี้หายไปจากโลก แต่เป็นการลดโอกาสป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล หรือถึงขั้นเสียชีวิตให้น้อยที่สุด จนสามารถเริ่มทยอยคลายข้อจำกัดต่าง ๆ ลงไป เพื่อให้ชีวิตและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ยังขับเคลื่อนต่อไปได้ แม้ว่า COVID-19 จะยังคงอยู่โดยทั่วไปก็ตาม
ซึ่งการจะไปให้ถึงขั้นนั้น ทางอังกฤษก็ได้วางรากฐานไว้ว่า ต้องเริ่มจากการปูพรมฉีดให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงเสียชีวิตจากการติดเชื้อสูงสุด โดยเริ่มจากเจ้าหน้าที่และผู้พักอาศัยในบ้านพักของผู้ได้รับการดูแลเป็นพิเศษ (วัยชราหรือผู้พิการ) ตามด้วยผู้มีอายุมากกว่า 80 ปี และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ก่อนจะค่อย ๆ ลดหลั่นตามช่วงวัยไปเป็น 75, 70, … จนถึง 50 ปีตามลำดับ แต่ผู้ที่มีอาการแทรกซ้อน ที่สุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ให้ได้รับวัคซีนก่อนเป็นลำดับต้น ๆ
นั่นจึงทำให้ยอดการเสียชีวิตต่อวันในอังกฤษ ลดลงมาต่ำกว่าหลักร้อยคนเป็นเวลานาน 5 เดือน ในขณะที่ยอดผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม พุ่งไปที่หลัก 47 ล้านคน หรือคิดเป็น 71.5% ของประชากรทั้งประเทศ โดยผู้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว อยู่ที่ประมาณ 41 ล้านคน หรือ 62.6% ของชาวสหราชอาณาจักรแล้วนั่นเอง
แต่ในเมื่อฉีดวัคซีนแล้วก็ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ ทำไมอังกฤษถึงยังคงเร่งให้ผู้คนเข้าไปรวมตัวกันเป็นจำนวนมากอยู่ล่ะ? ไม่กลัวประชาชนการ์ดตกกันเลยหรือ
ชีวิตต้องดำเนินต่อไป
ช่วงปีที่แล้ว เราอาจคุ้นชินกับคำว่า วิถีชีวิตปกติใหม่ หรือ New Normal ที่ถูกนำมาใช้เพื่อให้ใส่หน้ากาก ล้างมือ และรักษาระยะห่างทางสังคมกัน ซึ่งคำดังกล่าว ก็คือสิ่งที่สามารถนิยามกับสถานการณ์ในอังกฤษ กับหลายพื้นที่บนโลกได้เป็นอย่างดี
เพราะตราบใดที่ทุกคนบนโลก ยังไม่ได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วน ตัวเชื้อเองก็ยังมีโอกาสในการกลายพันธุ์ และยังระบาดจากกันถึงกันได้อยู่ดั่งเคย ดังนั้นแล้ว เป้าหมายในการฉีดวัคซีนแบบนี้ ก็คือเพื่อให้ความรุนแรงของเชื้อไวรัส อยู่ในระดับที่ไม่แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดา เพื่อให้พร้อมกลับไปใช้ชีวิต จากที่เคยถูกเว้นว่างมานานกว่าปีครึ่งได้
พรีเมียร์ลีก เคยอนุญาตให้มีแฟนบอลเข้าชมเกมได้จำนวน 2,000 คน เป็นช่วงสั้น ๆ ระหว่างเดือนธันวาคม 2020 เมื่อสถานการณ์ล็อกดาวน์ในประเทศทำให้มียอดผู้ติดเชื้อลดลง แต่เมื่อยังไม่มีวัคซีนเข้ามาในตอนนั้น กอปรกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้มาตรการดังกล่าวถูกยกเลิกไป และกลับมาอีกครั้งในช่วง 2 นัดสุดท้ายของฤดูกาล ด้วยจำนวนคนดูสูงสุดแมตช์ละ 10,000 คนเมื่อสถานการณ์เริ่มกลับมาดีขึ้น จากการปูพรมฉีดวัคซีนทั่วประเทศนั่นเอง
นอกจากพรีเมียร์ลีกแล้ว ย้อนไปในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2021 ทางรัฐบาลอังกฤษได้จัดอีเวนต์นำร่อง ที่อนุญาตให้มีคนดูกลับเข้ามาในคอนเสิร์ตและการแข่งขันกีฬาอีกครั้ง ซึ่งรวมถึง การแข่งขันเอฟเอคัพ รอบรองชนะเลิศ กับรอบชิงชนะเลิศของทั้งเอฟเอคัพและคาราบาวคัพ ที่สนามเวมบลีย์
จากทั้งผู้ชมกว่า 58,000 คน ที่ผ่านการฉีดวัคซีน หรือมีผลตรวจโควิดเป็นลบภายใน 48 ชั่วโมงก่อนการแข่งขัน ทางรัฐบาลรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อเพียงแค่ 28 รายเท่านั้น จนค่อย ๆ นำไปสู่การปลดล็อกคนดูในสนามเพิ่มขึ้นระหว่างศึกยูโร 2020 หรือการแข่งขันฟอร์มูล่า 1 ที่สนามซิลเวอร์สโตน ที่อนุญาตให้คนดูกลับเข้ามาเต็มความจุได้อีกครั้ง
16 กรกฎาคม 2021 นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ได้ออกแถลงการเพื่อผ่อนปรนมาตรการด้าน COVID-19 ลง โดยให้เหตุผลว่า “ต้องการให้ผู้คนรับทราบข่าวสาร และเลือกวิธีรับมือกับไวรัสด้วยตนเอง”
ดังนั้น เมื่อรัฐบาลเริ่มคลายมาตรการทั้งหลายลง พรีเมียร์ลีกก็เลยเดินหน้าต่อกับการอนุญาตให้มีคนดูเข้ามาเต็มสนามได้อีกครั้งในทันที
มาตรการที่ทำให้มั่นใจ
แม้จะอนุญาตให้แฟนบอลเข้ามาเกือบเต็มสนามได้ แต่ก็ไม่ใช่การปล่อยให้ใครก็ได้ที่มีเงินซื้อตั๋ว หรือเป็นเจ้าของตั๋วปีอยู่แล้ว สามารถเดินเข้าสนามไปอย่างง่ายดาย
เพราะปัจจัยสำคัญในการแพร่เชื้อนั้น มาจากผู้ติดเชื้อหนึ่งคน ที่สามารถแพร่กระจายให้กับผู้คนรอบข้างได้ ผ่านละอองในสารคัดหลั่งของร่างกาย ซึ่งการตัดไฟตั้งแต่ต้นลมของปัญหาดังกล่าว ก็คือการคัดกรองผู้เข้าสนามเสียตั้งแต่ต้นนั่นเอง
แม้จะมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไปในแต่ละสโมสร แต่โดยรวมแล้ว จะมีการขอความร่วมมือจากแฟนบอล ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงการได้รับเชื้อ หรือมีอาการคล้ายกับผู้ติดเชื้อ COVID-19 ให้งดเว้นจากการเดินทางมาชมเกม แต่บางแห่งก็จะมีการบังคับให้แสดงหลักฐานการฉีดวัคซีน หรือผลตรวจแบบ PCR หรือ Rapid Lateral Flow ที่เป็นลบ ภายใน 48 ชั่วโมงก่อนเกม (เนื่องจากยังไม่ถูกบังคับโดยข้อกฎหมายของอังกฤษ ทำให้มีเพียงบางสโมสรที่ใช้มาตรการดังกล่าว)
หลังจากนั้น ตั๋วเข้าชมเกมที่เคยถูกปรินต์เป็นกระดาษออกมา ก็ถูกเปลี่ยนให้ไปใช้ระบบ NFC หรือผ่านอุปกรณ์มือถือมากยิ่งขึ้น เพื่อลดจุดสัมผัสร่วมระหว่างเดินทางเข้าสู่สนาม ซึ่งก็เป็นปัญหาที่ทำให้บางสนามเกิดความล่าช้าในการให้คนดูเข้ามาชมเกมการแข่งขัน จากระบบที่ยังใหม่อยู่ในตอนนี้
และกับภาพของคนดูในสนาม ที่เราแทบไม่เห็นใครสวมหน้ากากกันแล้ว ก็เป็นสิ่งที่บรรดาแฟนบอลสามารถทำได้อย่างถูกกฎหมาย เพราะทุกสโมสรในพรีเมียร์ลีก ได้ขอความร่วมมือให้ใส่หน้ากากแค่เวลาอยู่ในร่ม ระหว่างต่อแถว หรือออกไปเข้าห้องน้ำเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับทั่วประเทศอังกฤษ ที่ไม่มีมาตรการบังคับให้ใส่หน้ากากกันแล้ว ยกเว้นเพียงแค่ธุรกิจอย่างห้างสรรพสินค้า หรือขนส่งสาธารณะ ที่ยังขอความร่วมมือให้ใส่หน้ากากระหว่างใช้บริการอยู่
แน่นอนแหละว่ามาตรการข้างต้นนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าแฟนบอลที่เข้าไปชมเกม จะแคล้วคลาดจากการติดเชื้อ COVID-19 ไปได้แบบ 100% แต่ก็ด้วยความเชื่อมั่นในประชาชน และการทุ่มเทจากทั้ง NHS หรือสาธารณสุขของอังกฤษกับทางรัฐบาล ที่พยายามปูพรมฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็ว เพื่อลดโอกาสในการป่วยหนักหรือเสียชีวิตลงให้เหลือน้อยที่สุด
มาตรการคนดูเต็มสนาม ก็อาจถูกปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม หากในกรณีที่ยอดผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้น โดยมีที่มาจากการเข้าชมการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว เพราะจำนวนยอดผู้ติดเชื้อทั่วทั้งสหราชอาณาจักร ก็ยังอยู่ในหลักวันละมากกว่า 20,000 คนมานานกว่า 1 เดือนแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้จำนวนผู้ติดเชื้อจะเทียบเท่ากับช่วงต้นปี 2021 แต่จำนวนผู้เสียชีวิตนั้นกลับอยู่ในช่วงไม่ถึงวันละ 100 คน ซึ่งลดลงมามากถึง 10 เท่าด้วยกัน และเป็นสิ่งที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่า วัคซีนที่ดีสามารถช่วยชีวิตคนไว้ได้อย่างไร
COVID-19 ไม่ใช่สิ่งที่จะหายไปอย่างรวดเร็วแน่นอน แต่การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับมันอย่างไร คือสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในช่วงเวลานี้ ซึ่งการรับมือของประเทศอังกฤษ อาจไม่ใช่วิธีที่ดีเลิศอะไรระดับนั้น แต่ก็แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลที่เห็นคุณค่าในชีวิตของประชาชน เขาแก้ปัญหาวิกฤตการณ์กันอย่างไร เพื่อไม่ให้มีคนตายเพิ่มเติม ทั้งจากโรคระบาดและเศรษฐกิจที่ชะงักตัวลงไป