การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายคนสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก หรือสมาชิกในครอบครัวอย่างกะทันหัน ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจอย่างมาก ดังนั้นจึงต้องปรับมุมมองและแง่คิดในการใช้ชีวิต เพื่อให้สามารถก้าวผ่านช่วงวิกฤติไปให้ได้
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ดูเหมือนว่าจะส่งผลให้ความสูญเสียกลายเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ การสูญเสียคนรักจากเหตุการณ์อย่างกะทันหันอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว ไม่ทันได้สั่งเสีย ไม่ทันได้ร่ำลา นอกจากจะสร้างความเศร้าโศกเสียใจ ความเจ็บปวด บอบช้ำแล้ว ยังเป็นเรื่องที่ผู้สูญเสียยากที่จะทำใจยอมรับได้ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่คนเราต้องทำเหมือนกัน คือการทำให้ตนเองสามารถผ่านพ้นจากช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตตระหนักถึงปัญหาของประเทศไทยในขณะนี้ ที่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนมากขึ้นแล้ว ยังมีแนวโน้มที่จำนวนผู้เสียชีวิตจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ประชาชนส่วนหนึ่งต้องสูญเสียบุคคลที่ตนเองรักหรือสมาชิกในครอบครัวไป ความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อสุภาพจิตใจได้อย่างมากและอาจเกิดผลกระทบทางด้านสุขภาพจิตในระยะยาวได้
จากข้อมูลพบว่าเมื่อในครอบครัวมีผู้ป่วยจากโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่ก็จะพบว่ามีสมาชิกในครอบครัวที่ป่วยพร้อมกัน หรือไม่ก็มีคนในครอบครัวบางคนเสียชีวิตจากโควิด ทำให้ผู้ที่ยังอยู่รู้สึกติดค้าง เหมือนจากไปโดยไม่ได้ร่ำลา ไม่ได้ไปส่ง ซึ่งเป็นเพราะเงื่อนไขการจัดงานศพให้กับผู้เสียชีวิต
“เมื่อต้องสูญเสียคนที่รักนั้น วิธีการดูแลใจหรือการรับมือกับการสูญเสีย ไม่มีวิธีการใดที่ตายตัว เพราะคนเราต่างก็มีรูปแบบการแสดงออก ระดับความรุนแรง และระยะเวลาที่แสดงถึงความโศกเศร้าที่แตกต่างกัน แต่ละปัจจัยนั้นย่อมมีผลทั้งสิ้น แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่คนเราต้องทำเหมือนกันคือการทำให้ตนเองสามารถผ่านพ้นจากช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้ จึงอยากให้คิดเสียว่าตนเองยังเป็นที่รักและยังสามารถทำกิจกรรมอื่นๆ หรือเมื่อหายป่วยแล้วยังสามารถกลับไปทำพิธีต่างๆ ให้กับผู้เสียชีวิตเมื่อภายหลังได้”
ส่วนวิธีดูแลใจและการรับมือเมื่อต้องสูญเสียคนรักจากโรคโควิด-19 การเดินออกจากความเจ็บปวดในชีวิต อาจเริ่มจากการเผชิญหน้าและยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น จากนั้นสำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตัวเราทั้งด้านบวกและด้านลบ และสุดท้ายหาทางแก้ไข เรียนรู้หรืออยู่ร่วมกับผลกระทบนั้น
อธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบาย พร้อมทั้งแนะนำวิธีดูแลใจและการรับมือเมื่อต้องสูญเสียที่คนรักจากโรคโควิด-19 ว่า
- ต้องเริ่มจากตั้งสติและทำใจยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นซึ่งการทำใจยอมรับแบบ 100% นั้น อาจจะยังไม่สามารถทำได้ในทันที ไม่ต้องกังวล ค่อยๆ ให้เวลาตนเอง ยอมรับความรู้สึกที่เกิดขึ้น หลังจากการสูญเสีย ยอมให้ตนเองแสดงอารมณ์ออกมาได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น อารมณ์เศร้า โกรธ เสียใจ ร้องไห้ ฯลฯ ให้เวลากับการแสดงออกนี้อย่างเต็มที่ ไม่จำกัดหรือกดดันตนเอง
- ระบายความคิด ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับคนที่ไว้ใจ การพูดคุย ระบายออกจะช่วยทำให้สิ่งที่ติดค้างในใจเบาลงนอกจากได้ระบายแล้วเรายังจะได้กำลังใจหรือมุมมองแนวคิดดีๆ มาช่วยเสริมให้เราคลายโศกเศร้า
- สังเกตผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตนเอง หากมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจนรบกวนการใช้ชีวิต รบกวนการทำงาน เช่นนอนไม่หลับ ฝันร้าย กระวนกระวาย ร้องไห้ไม่หยุด อาจลางานสักพักหรือหยุดสิ่งที่ทำอยู่เพื่อให้ตนเองได้มีเวลารักษาความรู้สึกนี้ และปรับตัวกับอะไรใหม่ๆ หลังการสูญเสีย เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้
- หยุดโทษตนเองหรือคิดว่าตนเองต้องรับผิดชอบต่อการสูญเสียนั้นให้ลองค่อยๆ คิดถึงสาเหตุที่แท้จริง คิดในหลายๆ มุม เพื่อให้เห็นความจริงในหลากหลายมิติ
- ดูแลตนเองทั้งร่างกายและจิตใจ หลายครั้งพบว่าเมื่อคนเราพบกับความโศกเศร้ามักจะลืมสนใจ ใส่ใจดูแลตนเอง ทำให้ร่างกายเกิดความตึงเครียด ไม่สบาย ส่งผลกระทบต่อจิตใจที่กำลังตึงเครียดอยู่แล้ว ให้เพิ่มความตึงเครียดเข้าไปอีก
- การดูแลทางร่างกาย เช่น การนอนให้เต็มอิ่ม การทานอาหารที่มีประโยชน์ พยายามหากิจกรรมต่างๆ ทำ เช่นการทำบุญ การสวดมนต์ สวดภาวนา การบริจาคสิ่งของ การปลูกต้นไม้หรืออื่นๆ เพื่อเป็นการแสดงการระลึกถึงผู้เสียชีวิต การทบทวนเรื่องราวต่างๆ ที่ดีๆ ที่ได้ทำร่วมกันมา เพื่อให้ตนเองไม่อยู่นิ่งและจมกับความโศกเศร้า ซึ่งจะมีส่วนช่วยทำให้อารมณ์เราดีขึ้น ให้กำลังใจผู้อื่นที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน จะช่วยทำให้รู้สึกดีขึ้น การแบ่งปันเรื่องราวของกันและกันก็ช่วยทำให้รู้สึกสบายใจขึ้นได้
โดยปกติแล้วความโศกเศร้าต้องคลี่คลายเมื่อเวลาผ่านไป 3-6 เดือน แต่ถ้าได้พยายามทุกวิธีการแล้ว อาการโศกเศร้าไม่หายไป มีความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน อาจต้องพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาหรือโทรฯ ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิตที่เบอร์ 1323 หรือ Line @1323 FORTHAI ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ขอเชิญชวนให้ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 หรือกำลังแยกกักตัว หรือสูญเสียคนที่รัก ทำการประเมินสุขภาพจิตของตนเองด้วยแพลตฟอร์ม Mental Health Check In เพื่อให้ทราบว่าท่านกำลังมีความเสี่ยงต่อปัญหาความเครียด ซึมเศร้าหรือฆ่าตัวตายในระดับใด เพื่อเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาด้านสุขภาพจิตได้อย่างรวดเร็วต่อไป