วันนี้ (5 ก.ย.64) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “อยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 5” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 30 – 31 สิงหาคม และ 1 – 2 กันยายน 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,317 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับประชาชนอยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 5 การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะเลือกให้เป็นผู้ว่าฯ กทม. พบว่า
อันดับ 1 ร้อยละ 27.71 ระบุว่าเป็น ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
อันดับ 2 ร้อยละ 24.60 ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ
อันดับ 3 ร้อยละ 15.49 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา
อันดับ 4 ร้อยละ 9.57 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง
อันดับ 5 ร้อยละ 5.24 ระบุว่าเป็น ผู้สมัครจากคณะก้าวหน้า หรือ พรรคก้าวไกล
อันดับ 6 ร้อยละ 4.10 ระบุว่าเป็น น.ส.รสนา โตสิตระกูล
อันดับ 7 ร้อยละ 3.27 ระบุว่าเป็น ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
อันดับ 8 ร้อยละ 2.20 ระบุว่าเป็น ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์
อันดับ 9 ร้อยละ 1.67 ระบุว่าเป็น ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
อันดับ 10 ร้อยละ 1.37 ระบุว่า ไปลงคะแนน ไม่เลือกใคร (Vote NO)
อันดับ 11 ร้อยละ 1.14 ระบุว่า จะไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
อันดับ 12 ร้อยละ 1.06 ระบุว่าเป็น ผู้สมัครจากพรรคกล้า และผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ ในสัดส่วนที่เท่ากัน
และร้อยละ 1.52 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครจากพรรคเสรีรวมไทย ผู้สมัครจากพรรคไทยภักดี ผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทย และเฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจอยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 4 เดือนกรกฎาคม 2564 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย และจะไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง มีสัดส่วนลดลง ในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้สมัครจากคณะก้าวหน้า หรือ พรรคก้าวไกล น.ส.รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครจากพรรคกล้า ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ และไปลงคะแนน ไม่เลือกใคร (Vote NO) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
- อ่านผลสำรวจฉบับเต็มได้ ที่นี่