ในช่วงโควิด-19 ระบาดใหม่ๆ หลายคนอาจจะทราบดีว่ายังไม่มีข้อแนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับเด็กและวัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เพราะในระยะแรกๆ ข้อมูลหรือผลการศึกษาการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ยังมีไม่มาก และยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลและสถานการณ์ในปัจจุบัน ศ.พญ.ธนินี สหกิจรุ่งเรือง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้คำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กและวัยรุ่นเอาไว้ ดังนี้
เด็ก-วัยรุ่น กับข้อควรระวังก่อนฉีดวัคซีน “โควิด-19”
- ปัจจุบันแนะนำให้ฉีดวัคซีนเฉพาะในเด็กและวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงซึ่งมีโรคเรื้อรัง ได้แก่
– โรคอ้วน
– โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง
– โรคหอบหืด
– โรคหัวใจและหลอดเลือด
– โรคหลอดเลือดสมอง
– โรคไตวายเรื้อรัง
– โรคมะเร็ง และภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
– โรคเบาหวาน
– กลุ่มโรคพันธุกรรม
– กลุ่มอาการดาวน์เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง
– เด็กที่มีพัฒนาการช้า
โดยยังไม่แนะนำการฉีดวัคซีนสำหรับเด็กทั่วไป
- ไม่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 พร้อมกับวัคซีนชนิดอื่น ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 14 วัน ยกเว้นการฉีดวัคซีนที่มีความจำเป็นเช่น วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเมื่อเด็กถูกสัตว์กัด
- เด็กและวัยรุ่นหญิงที่มีประจำเดือน อยู่ในระยะหลังคลอด หรือให้นมบุตร สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้
- เด็กและวัยรุ่นที่หายจากโควิด-19 หรือโรคแทรกซ้อนจากโรคโควิด-19 และโรคคาวาซากิ (MIS-A หรือ MIS-C) ควรเว้นระยะการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ห่างจากวันที่ตรวจพบเชื้อ 1-3 เดือน โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการรักษาด้วยพลาสมา ควรได้รับวัคซีนทันทีเมื่อครบกำหนด 90 วัน
ข้อควรระวัง
- เด็กและวัยรุ่นที่มีอาการแพ้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างรุนแรงภายหลังจากการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 หรือแพ้สารที่เป็นส่วนประกอบของวัคซีนอย่างรุนแรง ควรรับคำแนะนำจากแพทย์เพื่อพิจารณาเลื่อนหรือเปลี่ยนชนิดวัคซีนในเข็มที่ 2
- หากเด็กและวัยรุ่นมีประวัติสัมผัสเสี่ยงใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปจนกว่าเด็กจะได้รับการตรวจยืนยันว่าไม่ติดเชื้อโรคโควิด-19
- วัยรุ่นหญิงที่ตั้งครรภ์ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเมื่อมีอายุครรภ์มากกว่า 3 เดือนขึ้นไป