“เพราะว่าเราไม่มีปีก ดังนั้นเราจึงพยายามหาวิธีที่จะบิน”
ปิดฉากไปเป็นที่เรียบร้อย สำหรับทีมวอลเลย์บอลชายญี่ปุ่น หลังต้านทานความแข็งแกร่งของ บราซิล เบอร์ 1 ของโลก และแชมป์เก่าไม่ไหว จอดป้ายเพียงแค่รอบ 8 ทีมสุดท้ายในโอลิมปิก โตเกียว 2020
อย่างไรก็ดี แม้ว่าญี่ปุ่นจะพ่ายไป 3 เซตรวด แต่หากได้ดูการแข่งขัน จะพบว่า “ริวจิน นิปปอน”
สู้ได้อย่างสุดใจ ต่อกรกับบราซิลโดยไม่เกรงกลัวศักดิ์ศรีแชมป์โลก ทั้ง ๆ ที่นี่คือการผ่านเข้ามาเล่นโอลิมปิกครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปีของพวกเขา
และหนึ่งในเบื้องหลังที่ทำให้พวกเขามาถึงจุดนี้ได้ก็คือ “ไฮคิว” มังงะวอลเลย์บอลยอดฮิตที่ช่วยปลุกกระแสให้กีฬาชนิดนี้กลับมาบูมอีกครั้ง
มันทำได้อย่างไร ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand
อดีตเคยแกร่ง
วอลเลย์บอลถือเป็นหนึ่งในกีฬาที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีการเล่นครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1896 และถูกนำเข้ามาสู่ญี่ปุ่นในช่วงศตวรรษที่ 19 โดย เฮียวโซะ โอโมริ ศิษย์เก่าของ YMCA International Training School หรือ วิทยาลัยสปริงฟิลด์ในปัจจุบัน
ทว่า แม้จะเป็นกีฬาจากต่างชาติ แต่มันก็ได้รับความนิยมตั้งแต่ช่วงแรกที่มาถึง ด้วยความที่มันเป็นกีฬาที่ใช้ความเร็วและความว่องไวมากกว่าพละกำลัง ซึ่งเหมาะกับคนเอเชีย ทำให้ “ไฮคิว” หรือวอลเลย์บอลในภาษาญี่ปุ่น แพร่หลายไปทั่วแดนอาทิตย์อุทัย และเป็นกิจกรรมสันทนาการยอดฮิตของคนสมัยนั้น
จนกระทั่งในปี 1964 กีฬายอดนิยมของพวกเขา ก็ได้รับการบรรจุให้เป็นกีฬาชิงเหรียญในโตเกียว 1964 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของโอลิมปิก และมันก็เป็นจุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่ของ “แม่มดแห่งตะวันออก” ทีมวอลเลย์บอลหญิงญี่ปุ่น ที่ประกาศศักดา คว้าเหรียญทองไปได้ในครั้งนั้น (และอีก 1 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดงในเวลาต่อมา)
ในขณะที่ทีมวอลเลย์บอลชายญี่ปุ่น ก็ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน พวกเขาประเดิมโอลิมปิกครั้งแรกด้วยการคว้าเหรียญทองแดงในปี 1964 และคว้าเหรียญเงินในอีก 4 ปีต่อมา ก่อนที่ในโอลิมปิก 1972 ที่มิวนิค พวกเขาจะไล่ตามทีมหญิงได้ทัน ด้วยการคว้าเหรียญทองมาคล้องคอได้สำเร็จ
แม้ว่าหลังจากนั้น ทีมวอลเลย์บอลชายญี่ปุ่น จะมีผลงานที่ตกลงไป แต่พวกเขาก็ยังอยู่แถวหน้าในวงการวอลเลย์บอลโลก ด้วยตำแหน่งรองแชมป์โลกในปี 1969 และ 1977 และอันดับ 3 ในศึกเวิลด์แชมเปี้ยนชิพในปี 1973 และ 1974 และไปได้ไกลถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายในโอลิมปิกที่บาร์เซโลนา 1992
อย่างไรก็ดี ทันทีที่ปฏิทินเปลี่ยนขึ้นปี 2000 ความยิ่งใหญ่ของทีมวอลเลย์บอลชายญี่ปุ่น ก็เป็นเหมือนตำนานปรัมปรา เมื่อในโอลิมปิก 5 ครั้งหลังสุด พวกเขาผ่านเข้าไปเล่นในรอบสุดท้ายได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ที่ปักกิ่ง 2008
มันคือยุคตกต่ำของวงการวอลเลย์บอลชายญี่ปุ่น และเกือบจะเป็นเช่นนั้นไปตลอด จนกระทั่งการมาถึงของมังงะที่ชื่อว่า “ไฮคิว”
มังงะยอดฮิต
อันที่จริงวอลเลย์บอล เป็นกีฬาที่มีการเปลี่ยนแปลงกฎอยู่หลายครั้ง เริ่มตั้งแต่อนุญาตให้ขึ้นเหนือเน็ตเพื่อบล็อกในปี 1965 ตลอดจนการเกิดตำแหน่ง ลิเบโร หรือตัวรับอิสระ ในปี 1998 ไปจนถึงการใช้ระบบ Rally point หรือฝ่ายชนะในการโต้ลูกจะได้แต้มโดยไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายเสิร์ฟในปี 1999
แน่นอนว่าแต่ละครั้งได้เปลี่ยนโฉมหน้าของกีฬาชนิดนี้ไปอย่างสิ้นเชิง และทำให้วอลเลย์บอลกลายเป็นกีฬาที่เต็มไปด้วยความว่องไวและความดุดัน จนถูกเรียกว่า “วอลเลย์บอลสมัยใหม่”
อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่วอลเลย์บอลกลายเป็นวอลเลย์บอลสมัยใหม่ ทีมชายของญี่ปุ่นก็ไม่เคยขึ้นไปอยู่ในจุดสูงสุดอีกเลย พวกเขากลายเป็นเพียงไม้ประดับในเวทีระดับโลกตลอดยุค 2000
ทว่าในขณะที่วงการวอลเลย์บอลชายของพวกเขากำลังซบเซาอย่างหนัก พวกเขาก็มามีความหวัง เมื่อมีมังงะวอลเลย์บอลเรื่องใหม่กำเนิดขึ้น ชื่อของมันคือ Haikyu!! หรือ ไฮคิว คู่ตบฟ้าประทาน ในภาษาไทย ผลงานจากปลายปากกาของ ฮารุอิจิ ฟุรุดาเตะ
มันคือเรื่องราวของ ฮินาตะ โชโย สมาชิกชมรมวอลเลย์บอลชายของคาราสุโนะ จังหวัดมิยางิ ที่แม้จะมีส่วนสูงเพียงแค่ราว 160 เซนติเมตร แต่หลงใหลในกีฬาวอลเลย์บอล หลังได้รับแรงบันดาลใจมากจาก “ยักษ์ใหญ่ตัวจิ๋ว” อดีตผู้เล่นคาราสุโนะ ที่ฮินาตะบังเอิญได้เห็นการเล่นของเขาผ่านหน้าจอทีวี
เขามีความฝันที่จะก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ของวงการนี้ เพื่อล้างแค้น คาเงยามะ โทบิโอะ อดีตคู่แข่งตอนมัธยมต้นที่ไล่อัดโรงเรียนเขาอย่างขาดลอย แต่เจ้ากรรม ทั้งสองดันมาอยู่โรงเรียนเดียวกันตอนมัธยมปลาย ทำให้ทั้งสองต้องจับคู่กัน เพื่อพาคาราสุโนะ เจ้าของฉายา “อีกาที่บินไม่ได้” กลับไปสู่ความยิ่งใหญ่เสียก่อน
“ถ้านายเป็นราชาแห่งคอร์ท ฉันก็จะล้มนายและเป็นคนสุดท้ายที่จะยืนอยู่” ฮินาตะ บอกกับ คาเงยามะ
“ถ้าอยากจะล้มฉัน ก็จงแข็งแกร่งขึ้น” คาเงยามะ ตอบกลับ
ซึ่งแน่นอนว่าอุปสรรคของฮินาตะ ก็คือเหล่าคู่แข่งที่สูงใหญ่ แม้ว่าเขาเองจะมีแรงกระโดดที่เหลือล้น และปฏิกิริยาที่ว่องไว บวกกับฝีมือการเซตระดับอัจฉริยะของคาเงยามะ ที่ทำให้พวกเขากลายเป็นเสาหลักในการโจมตีของทีม แต่ก็ยังมีกำแพงอีกมากมายที่พวกเขาต้องข้ามไป
ไฮคิว ได้รับเสียงตอบรับที่ยอดเยี่ยมตั้งแต่ปีแรกที่ตีพิมพ์ใน นิตยสารโชเน็นจัมป์ เมื่อเรื่องราวของพวกเขาเข้าไปครองใจนักอ่านอย่างจัง และมียอดขายรวมในปัจจุบันสูงถึง 50 ล้านเล่ม รวมทั้งถูกนำไปทำเป็นอนิเมะในปี 2014 จนผู้คนติดกันทั่วบ้านทั่วเมือง
แต่ที่สำคัญที่สุด มังงะเรื่องนี้ ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กับวงการวอลเลย์บอลญี่ปุ่น
ปลุกกระแส “วอลเลย์บูม”
แม้ว่าวอลเลย์บอล จะเป็นหนึ่งในกีฬายอดนิยมของชาวญี่ปุ่น แต่พวกเขาก็ประสบปัญหาจำนวน
นักวอลเลย์บอลเยาวชนลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1977 แถมเลวร้ายอย่างหนักตั้งแต่ทศวรรษที่ 2000 เมื่ออิทธิพลของ สแลมดังค์ ได้ชิงตัวเหล่าผู้เล่นตัวสูงไปอยู่ชมรมบาสเกตบอลกันหมด
ทว่าจุดเปลี่ยนสำคัญของพวกเขาก็มาถึงในปี 2012 เมื่อความนิยมของไฮคิว ได้ปลุกกระแสวอลเลย์บอลกลับมาอีกครั้ง จนทำให้ญี่ปุ่น มีจำนวนนักวอลเลย์บอลในระดับมัธยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากมังงะเรื่องนี้ตีพิมพ์
จากการรายงานของ NHK ระบุว่าจำนวนนักวอลเลย์บอลชายในระดับมัธยมปลายของพวกเขา ลดลงอย่างน่าใจหายมาพักใหญ่ แต่หลังจากปี 2012 ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากราว 37,000 คน มาเป็นราว 41,000 คนในปี 2015 และแตะหลัก 44,000 คนในปี 2016
“แม้ว่ามันจะเป็นมังงะ แต่มันก็ช่วยเพิ่มแรงบันดาลใจให้เราได้จริง ๆ” นักวอลเลย์บอลมัธยมปลายบอกเหตุผลกับ NHK
“พวกเราทั้งทีมอ่านไฮคิวกันหมด และตั้งหน้าตั้งตาคอยตอนต่อไปทุกสัปดาห์” นักกีฬาอีกคนกล่าว
นอกจากนี้ ไม่ใช่แค่นักวอลเลย์บอลระดับมัธยมเท่านั้น เพราะแม้แต่นักกีฬาอาชีพอย่าง มาซาฮิโระ ยานางิดะ วิงสไปเกอร์ (ตัวตบด้านนอก หรือ ตัวตบหัวเสา) ของ ซันโตรีซันเบิร์ดส์ ยักษ์ใหญ่แห่งวีลีก ก็ยังยอมรับว่ามีการ์ตูนเรื่องนี้เป็นแรงขับเคลื่อน
“มันเป็นความตื่นเต้นที่ได้อ่านอะไรที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรา” อดีตกัปตันทีมชาติญี่ปุ่นกล่าว ในสารคดี We became stronger with manga! ของ NHK
“ตัวเอก ฮินาตะ เขาเป็นคนมองโลกในแง่ดีจนทำให้ผมอิจฉา นั่นเป็นคุณสมบัติที่ผมไม่เคยมี”
“ผมอดไม่ได้ที่จะมองไปที่เขา แต่ผมคิดว่าเมื่อก่อน ผมเคยกระตือรือร้นกับวอลเลย์บอลขนาดนั้น มันจึงเป็นมากกว่าความสนใจ”
เช่นกันกับ อาคิฮิโน ยามาอุจิ มิดเดิลบล็อกเกอร์ (ตัวบล็อกกลาง หรือ บอลเร็ว) เจ้าของส่วนสูง 203 เซนติเมตร ของ พานาโซนิค แพนเธอร์ส และเป็นหนึ่งในสมาชิกทีมชาติญี่ปุ่นชุดลุยโอลิมปิก 2020 ก็บอกว่าเขาเองก็ได้รับอิทธิพลจากไฮคิว
“บางครั้ง ผมก็อยากจะฝึกทันทีหลังจากอ่านมังงะจบ มันอาจจะฟังดูแปลกนิดหน่อยที่มันทำให้รู้สึกตื่นเต้น มันทำให้หัวใจคนสั่นระรัว” ยามาอุจิกล่าวกับ NHK
ว่าแต่อะไร คือเสน่ห์ของมังงะเรื่องนี้?
ใส่ใจทุกรายละเอียด
ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในจุดเด่นของไฮคิว ที่ทำให้มันโดนใจผู้อ่าน คือการเป็นมังงะกีฬาที่เน้น “ความสมจริง” เพราะแม้ว่าหลายตัวละครจะมีอาวุธที่เหมือนท่าไม้ตาย แต่มันก็อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง
นั่นเป็นเพราะอาจารย์ฟุรุดาเตะ ผู้แต่งการ์ตูนเรื่องนี้เคยเล่นวอลเลย์บอลมาก่อนตอนเรียนมัธยมปลาย แถมเขายังรักในกีฬาชนิดนี้อย่างสุดหัวใจ จนทำให้เขาสามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างสมจริงและลึกซึ้ง
“ย้อนกลับไปตอนที่ผมยังเป็นนักเรียน ตอนมัธยมปลาย วอลเลย์บอลคือทุกสิ่งทุกอย่างของผม แต่ผมไม่เคยทำผลงานได้ดีที่สุดเลย และความรู้สึกที่ไม่เติมเต็มนั้นก็ไม่เคยหายไปจากตัวผม” ฟุรุดาเตะ อธิบาย
นอกจากนี้ มันยังทำให้เขาสามารถอธิบายกฎและศัพท์เทคนิคได้อย่างละเอียด และเป็นไปอย่างมีชั้นเชิงแนบเนียน จนทำให้แม้แต่คนที่ไม่เคยเล่นกีฬาชนิดนี้มาก่อน ก็สามารถทำความเข้าใจกับวอลเลย์บอลได้ไม่ยาก
เช่นกันกับตำแหน่งในสนาม ที่อาจารย์ฟุรุดาเตะ นำเสนอได้อย่างน่าสนใจผ่านคาแร็กเตอร์ของตัวละคร และทำให้รู้สึกว่าทุกตำแหน่งมีความ “เท่” แตกต่างกันไปตามบทบาทและหน้าที่ โดยไม่ได้ยึดติดเฉพาะตำแหน่งมิดเดิลบล็อกของตัวเอก หรือตัวทำแต้มหลักอย่างวิงสไปเกอร์เท่านั้น
“ผมชอบ (ยู) นิชิโนะยะ เพราะถ้ารับบอลไม่ได้ ก็จะตบไม่ได้” คาวาอิ ฮารุกิ จากโรงเรียนมัธยมปลายฮิงาชิยามะ (โตเกียว) บอกเหตุผล
“ผมชอบ (วาคาโทชิ) อุชิจิมะ เขาเต็มไปด้วยพละกำลัง และวิธีการเล่นของเขาเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกเชื่อมโยงไปถึง” คาเนโกะ กุนจิ จากโรงเรียนมัธยมปลายโอมุระ (นางาซากิ)
“ผมคิดว่าผมเหมือนกับเลฟ (ไฮบะ) เขาคิดว่าใครที่ทำแต้มได้มากที่สุดคือเอซ ผมอาจจะพูดไม่ได้ว่าผมเห็นด้วย แต่เขาเริ่มเล่นวอลเลย์บอลตอนมัธยมปลายในตำแหน่งตัวบล็อกกลางเหมือนกับผม และรูปร่างของเราก็คล้ายกัน” ยามาอุจิ พูดถึงผู้เล่นในดวงใจ
ในขณะเดียวกัน ในไฮคิวก็ยังสอดแทรกกลยุทธ์ วิธีการเล่น รวมไปถึงเทคนิคต่าง ๆ ที่ใช้ได้จริงในการแข่งขัน ที่มีตั้งแต่ จังหวะการเข้าทำ การเสิร์ฟเพื่อทำแต้ม ไปจนถึงลักษณะการตบ และลักษณะการบล็อก
ยกตัวอย่างเช่นเทคนิคการบล็อกของ เค สึคิชิมา เพื่อนร่วมทีมของฮินาตะ ที่ยามาอุจิ สนใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะวิธีเปิดช่องว่าง ก่อนจะขยับมือมาบล็อกลูกตบอย่างรวดเร็ว ที่ทำให้แม้ว่าตัวเขาเองจะสูงถึงสองเมตรก็ยังประทับใจเทคนิคนี้
“มันเหมือนกับว่าเขากำลัง ‘ปกป้อง’ พื้นที่ตรงหน้าเขา ผมคิดว่ามันเท่มาก ๆ เลย” ยามาอุจิ กล่าวกับ NHK
“การบล็อกมันเป็นอะไรที่ GAH (สุดยอดเกินจะบรรยาย) คุณพยายามเอื้อมไปข้างหน้า เพื่อบีบมุมตบให้แคบลง ยิ่งคุณบล็อกแบบ GAH ได้มากเท่าไหร่ มันจะยิ่งข่มขวัญคู่ต่อสู้ได้มากขึ้น”
แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการที่ไฮคิว พยายามนำเสนอเรื่องความเข้ากันของผู้เล่นในทีม หรือที่เรียกกันว่า “เคมี” ที่นำเป็นสู่ “ความเป็นทีม” ซึ่งน้อยมากที่มังงะกีฬาจะพูดถึงประเด็นนี้ รวมไปถึงสภาพจิตใจ ที่ต่างเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้เลยวอลเลย์บอลสมัยใหม่
“การปฏิสัมพันธ์กันในการซ้อม ทำให้เกิดความเป็นทีมขึ้น สิ่งแบบนี้เขียนไว้ได้ดีและเต็มไปด้วยรายละเอียด” ยานางิดะ กล่าวกับ NHK
“ผมสังเกตุว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นกับผมเหมือนกัน มังงะเรื่องนี้เชื่อมโยงกับผมหลายอย่าง”
มอบวิธีบิน
วอลเลย์บอลเป็นกีฬาที่ส่วนสูงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ เพราะความต่างเพียงแค่ไม่กี่เซนติเมตรก็สามารถชี้เป็นชี้ตายได้ และสิ่งนี้ก็ทำให้ ไฮคิว น่าสนใจ เพราะ ฮินาตะ โชโย ตัวเอกของเรื่องมีส่วนสูงเพียงแค่ 162 เซนติเมตร ทำให้เขาจำเป็นต้องเรียนรู้ทริค และเทคนิคมากมาย เพื่อเอาชนะคู่แข่งที่มีความสูงมากกว่าเขา
ยกตัวอย่างเช่นในการเผชิญกับตัวบล็อกที่มีส่วนสูงถึง 2 เมตร ฮินาตะก็ใช้วิธีตบหลอก ซึ่งคือการตบบอลเบา ๆ แค่ให้สัมผัสคู่แข่งแล้วกระดอนกลับมา จากนั้นค่อยมาเซ็ตเกมใหม่ หรือการใช้ลูกหยอดพลิกแพลงสถานการณ์ที่คู่ต่อสู้คิดว่าต้องตบมาเต็มแรงแน่ ๆ
ทำให้มันเป็นเหมือนกำลังใจให้กับนักวอลเลย์บอลญี่ปุ่น เพราะแม้ว่าในยุคหลังพวกเขาจะมีผู้เล่นที่มีรูปร่างสูงใหญ่ แต่โดยรวมยังถือว่าตัวเล็กเมื่อเทียบคู่แข่งในระดับโลก
อย่าง ยานางิดะ ที่มีส่วนสูง 186 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าสูงพอสมควรสำหรับชาวญี่ปุ่น แต่เมื่อเทียบกับบราซิล เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 2016 ที่ ริโอ ที่มีส่วนสูงเฉลี่ยอยู่ที่ 2 เมตร ก็ทำให้เขาตัวเล็กไปเลย เช่นกันกับรัสเซีย อันดับ 3 ของโลก ที่ต่างเต็มไปด้วยผู้เล่นร่างยักษ์ โดยเฉพาะ ดิมิทรี มูเซอร์สกี มิดเดิลบล็อกเกอร์ที่มีส่วนสูงถึง 218 เซนติเมตร
“เรามักจะเจอกำแพงอยู่เสมอ และแทบไม่เคยได้มองคู่ต่อสู้จากด้านบน เรามักจะเป็นฝ่ายโดนมองลงมามากกว่า โดยเฉพาะตอนโดนบล็อก” ยานางิดะ กล่าวกับ NHK
ไฮคิว จึงเป็นเหมือนแรงผลักดันให้ “ริวจิน นิปปอน” พยายามหาวิธีเอาชนะคู่แข่ง ที่หลายครั้งเป็นทริคเดียวกับในมังงะ เช่นการหยอดข้ามตัวบล็อก หรือการตบไปที่ท้ายคอร์ทหากคู่แข่งมาอออยู่ที่หน้าเน็ต รวมไปถึงการตั้งใจตบให้โดนมือตัวบล็อกให้บอลออก เป็นต้น
“เนื่องจากคอร์ทมีขอบเขต เราจึงต้องจดจำวิธีการเล่นพวกเขาให้ได้ และคิดเสมอว่าต้องตีอย่างไร เพื่อให้บอลลง หรือไม่ให้เสียแต้ม” ยานางิดะ อธิบายต่อ
“บางครั้งเวลาที่ผมพยายามตบผ่านบล็อกหรือทำแต้ม ถ้าดูว่าผมสามารถควบคุมบอลได้ ผมก็จะตบไปอีกด้านแทน”
“ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องรอบคอบอยู่เสมอ”
แน่นอนว่าความหวังในการข้าม “กำแพง” ที่ไฮคิวมอบให้ ไม่ได้ส่งผลต่อผู้เล่นทีมชาติเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเหล่านักวอลเลย์บอลเยาวชน ที่ใช้มังงะเรื่องนี้เป็นแรงกระตุ้น ให้กล้าเผชิญกับคู่แข่งที่มีรูปร่างสูงใหญ่
“ถึงผมจะตัวเตี้ย แต่ก็มีฮินาตะที่เหมือนผม พวกเราต่างมีความปรารถนาของเราที่จะต่อสู้กลางอากาศเหมือนกัน นั่นคือเหตุผลว่าทำไมผมถึงชอบเขา” ทาเคดะ โชโงะ จากโรงเรียนมัธยมปลายโจโตบอกกับ NHK
“แม้แต่ตอนนี้ที่เราลงแข่งได้แล้ว บางครั้งผมก็พยายามเลียนแบบท่าในมังงะ ผมคิดว่าทีมอื่นก็ทำเหมือนกัน ผมคิดว่ามีหลายทีมที่ใช้ท่าจากไฮคิว” คาโต โยชินาริ จากโรงเรียนเซโจกล่าวต่อ
สิ่งนี้ยังยืนยันได้จาก โทโมยูกิ ฮิงาสะ โค้ชของโรงเรียนมัธยมต้นฟูจิเอะ ที่พาทีมคว้าแชมป์ระดับประเทศได้ถึง 4 สมัย และมีตำแหน่งเป็นรองประธานกรรมการฝ่ายพัฒนาวอลเลย์บอลระดับมัธยมต้น ที่ยอมรับว่า “ไฮคิว” มีส่วนไม่น้อยในการให้กำลังใจนักวอลเลย์บอลเยาวชนของพวกเขา
“เขา (ฮินาตะ) เป็นคนตัวเล็ก แต่กระโดดได้ถึงดาดฟ้า และพยายามเรียนรู้เทคนิคพิลึกกึกกือ สิ่งนี้มอบความหวังให้กับเด็กที่ตัวเล็กได้จริง ๆ” โค้ชอิงาสะ กล่าว
ทว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ไฮคิวได้มอบให้คือความรู้สึก “สนุก” ในการเล่นวอลเลย์บอล และความรู้สึกอิ่มเอมใจที่ได้พบกับช่วงเวลานั้น ที่ทำให้ผู้อ่าน รวมไปถึงนักกีฬาอาชีพรู้สึกอินไปกับมังงะเรื่องนี้
“ผมคิดว่า ‘ว้าว’ ผมเข้าใจมันจริง ๆ มันไม่มีอะไรพิเศษ แต่ย้อนกลับไปสมัยประถม ตอนที่ผมตบบอลลงพื้นได้เป็นครั้งแรก ช่วงเวลานั้นก็เคยเกิดขึ้นกับผมเหมือนกัน” ยานางิดะ กล่าว
“หรือตอนที่ผมไปเล่นต่างประเทศกับทีมชาติตอนยังเป็นนักเรียน และตบทำแต้มได้เป็นครั้งแรก ผมก็รู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน”
“สำหรับวอลเลย์บอล มันอาจจะมีช่วงเวลาที่ยากลำบากอยู่เต็มไปหมด แต่ถ้ามันมีแต่ความลำบาก (โดยที่ไม่รู้สึกสนุก) มันคงเป็นเรื่องแย่สำหรับผม”
“ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือเราจะต้องหาสิ่งที่ทำให้มีความสุข เพื่อก้าวข้ามอุปสรรคมาเจอกับความสนุกนั้น”
จบเพื่อเริ่มต้นใหม่
แม้ว่าท้ายที่สุดมังงะเรื่องนี้จะไม่สามารถทำให้ทีมชาติญี่ปุ่น คว้าเหรียญในโอลิมปิกได้ หลังพ่ายต่อบราซิลแชมป์เก่า ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย แต่มันก็ทำให้เห็นว่าพวกเขาพัฒนาขึ้นมากแค่ไหน
เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นการผ่านเข้ามาเล่นในรอบรองชนะเลิศเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 30 ปีของพวกเขา แต่ “ริวจิน นิปปอน” ก็สามารถสู้กับเบอร์หนึ่งของโลกได้อย่างสมศักดิ์ศรี
ไม่ว่าจะเป็น ยูกิ อิชิคาวะ กัปตันทีม และ ยูจิ นิชิดะ ที่ต่างกระโดดตบผ่านบล็อกคู่แข่งอย่างสุดมัน ราวกับ วากาโทชิ อุชิจิมา กับ ฮินาตะ โชโย มาเอง หรือ โทโมฮิโระ ยามาโมโตะ ลิเบโรร่างเล็ก ที่ตามเก็บลูกตบของบราซิลอย่างเต็มกำลัง ที่ถอดแบบมาจาก ยู นิชิโนะยะ
มันจึงเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นแห่งความฝันที่ทีมวอลเลย์บอลชายญี่ปุ่น จะก้าวขึ้นไปอยู่ในระดับแนวหน้าของโลกอีกครั้ง โดยมีมังงะเรื่องนี้เป็นหนึ่งในแรงเสริม บนเส้นทางที่อาจจะดูเหมือนยาวไกล แต่ก็เต็มไปด้วยความหวัง
เพราะสิ่งที่ ไฮคิว มอบให้วงการวอลเลย์บอลญี่ปุ่น ไม่ได้เป็นแค่แรงกระตุ้นหรือการสร้างแรงบันดาลใจ แต่มันคือการทำให้รู้สึกว่ากีฬาชนิดนี้มัน “สนุก” จริง ๆ
“การเขียนมังงะนั้นมีส่วนที่ ‘สนุก’ อยู่แค่ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ชั่วขณะที่คุณได้เจอกับ 10 เปอร์เซ็นต์นั้น มันสุดยอดมากเลย ด้วยเหตุนี้ผมจึงเขียนสิ่งนี้ในตัวพวกเขาอีกครั้ง” อาจารย์ฟุรุดาเตะ กล่าวกับ NHK
“ผมอยากให้เหล่าเด็กผู้ชายคิดว่า ‘วอลเลย์บอลนี่มันเท่มาก”