Suns & Bucks : ปรัชญาของคู่ชิง NBA ที่แสดงให้เห็นว่าการเน้นสร้างใช้ได้จริงในยุคซูเปอร์ทีม

Home » Suns & Bucks : ปรัชญาของคู่ชิง NBA ที่แสดงให้เห็นว่าการเน้นสร้างใช้ได้จริงในยุคซูเปอร์ทีม
Suns & Bucks : ปรัชญาของคู่ชิง NBA ที่แสดงให้เห็นว่าการเน้นสร้างใช้ได้จริงในยุคซูเปอร์ทีม

“เราทำได้ว่ะ เราทำมันได้แล้วว่ะพวก”  – ยานนิส อันเททูคุมโป กล่าวต่อหน้า คริส มิดเดิลตัน เพื่อนร่วมทีมที่เติบโตมาด้วยกัน ก่อนทั้งคู่จะสวมกอด หลังคว้าตำแหน่งแชมป์เอ็นบีเอประจำฤดูกาล 2021 มาได้ ด้วยชัยชนะเหนือ “ฟีนิกซ์ ซันส์” ในเกมที่ 6 และนับเป็นแชมป์ครั้งแรกของ  “มิลวอกี้ บัคส์” ในรอบ 50 ปี ตั้งแต่ ค.ศ.1971

สิ่งที่น่าตื่นเต้นสำหรับบาสเกตบอล เอ็นบีเอ รอบชิงชนะเลิศ (NBA Finals) ปีนี้คือ ทั้งซันส์และบัคส์ ต่างก็ถูกมองว่าเป็นทีมนอกสายตาสำหรับคนทั่วไปที่ติดตามบาสเกตบอล 

ยิ่งสำหรับคนที่ไม่เคยติดตามบาสเกตบอลมาก่อน อาจไม่ค่อยคุ้นชื่อของ ซันส์ และ บัคส์ สักเท่าไหร่ ? เพราะขุมกำลังของทั้งสองทีม ล้วนไม่เคยมีประสบการณ์สัมผัสกับรสชาติแห่งชัยชนะในนัดชิงชนะเลิศ NBA เลยแม้แต่คนเดียว 

เนื่องจาก สิ่งที่ซันส์และบัคส์มีเหมือนกันคือ ปรัชญาการปั้นนักบาสที่ไม่ได้มีดีกรีระดับซูเปอร์สตาร์ ไม่ได้เน้นทุ่มเงินลงทุนตามแนวทาง “ซูเปอร์ทีม” ที่หลายสังกัดบิ๊กเนมกำลังทำอยู่ อะไรที่ทำให้ทั้งสองทีมนี้ยังเชื่อในการ “สร้าง” มากกว่า “เสริม” มาร่วมหาคำตอบกับ Main Stand

1ST QUARTER – Rally in Valley 

“ฟีนิกซ์ ซันส์” เป็นทีมบาสเกตบอลที่ลงแข่งขันในโซนสายตะวันตก บริเวณเขตทะเลแปซิฟิก ร่วมกับทีมดังอย่าง “โกลเดน สเตท วอร์ริเออร์ส”, “ลอสแอนเจลิส คลิปเปอส์”, “ลอสแอนเจลิส เลเกอร์ส” และ “ซาคราเมนโต้ คิงส์” 

ความแตกต่างของซันส์คือ พวกเขาเป็นทีมเดียวที่ไม่ได้มาจากรัฐแคลิฟอร์เนีย เนื่องจากถูกเพิ่มเข้ามาภายหลัง (Expansion Team) ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปี 1968 โดยจากการร่วมทุนของนักลงทุนชาวอเมริกันหลายคน ประกอบด้วย คาร์ล เอลเลอร์, ดอน พิตต์, ดอน ไดม่อนด์,​ บาวิค ดาจี้, มาร์วิน เมเยอร์ และ ริชาร์ด บลอช ซึ่งถิ่นฐานที่ตั้งของ ซันส์ อยู่ที่เมืองฟีนิกซ์  รัฐแอริโซนา ที่ไม่เคยมีทีมกีฬาอาชีพจากรัฐนี้มาก่อนเลย 

1เดิมทีคนจากแอริโซนาในทศวรรษ 1960s จะนิยมอเมริกันฟุตบอลมากกว่า แม้ว่าตอนนั้นเมืองของตัวเองยังไม่มีทีมอเมริกันฟุตบอลให้เชียร์ก็ตาม 

ในช่วงแรก กระแสบาสเกตบอลอาชีพในเมืองฟีนิกซ์ยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก ถึงขนาดที่ ริชาร์ด บลอช หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ไปเสนอไอเดียการสร้างทีมบาสเกตบอล แก่ วอลเตอร์ เคนเนดี้ ผู้บริหารสูงสุดของเอ็นบีเอในปี 1968 นั้น เคนเนดี้ถึงกับระเบิดเสียงหัวเราะออกมาแบบเก็บอาการไม่อยู่ 

“ฟีนิกซ์เนี่ยนะ ? นายต้องบ้าไปแล้วแน่ ๆ คนฟีนิกซ์ไม่มีทางสนับสนุนบาสเกตบอลอาชีพหรอก” 

ไม่เพียง เคนเนดี้ แต่คนอื่น ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการบริหารเอ็นบีเอ ต่างก็ไม่มีใครเชื่อว่าการสร้างทีมใหม่ที่มาจากรัฐแอริโซนาจะประสบความสำเร็จได้ ฟีนิกซ์ ถูกมองว่าเป็นเมืองที่ร้อนเกินไป เล็กเกินไป และห่างไกลเกินไปอีกต่างหาก 

ในทางกลับกัน บลอช กลับมองว่าทีมกีฬาจากฟีนิกซ์นี่แหละที่มีโอกาสจะเติบโตได้ เป็นที่น่าแปลกใจว่าหลังจากนั้นที่ เคนเนดี้ ได้เข้ามาที่เมืองฟีนิกซ์และสนทนากับชาวเมืองทั่วไป เขาค่อนข้างประหลาดใจทีเดียวที่หลายคนรู้จักบาสเกตบอลมากกว่าที่เขาคิด ตั้งแต่เด็กขัดรองเท้าไปจนถึงคนขับแท็กซี่ เขาจึงเชื่ออย่างสนิทใจว่าฟีนิกซ์นั้นพร้อมแล้วสำหรับบาสเกตบอล

หลังจากก่อตั้งทีมขึ้นในปี 1968 ด้วยเงินลงทุนเป็นจำนวน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ ในตอนแรก ทีมจากฟีนิกซ์ยังไม่มีชื่อเรียก ก่อนที่จะมาลงเอยกับคำว่า “ซันส์” ในเวลาต่อมา จากชื่อที่ถูกเสนอเข้าประกวดมากว่า 25,000 ชื่อ ในวันที่ 25 เมษายน 1968 จากการให้ประชาชนในรัฐหลายคนช่วยกันโหวตผ่าน “ดิ แอริโซนา รีพับลิก” หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นประจำรัฐ

เจอร์รี่ โคลันเจโล่ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการทีมฟีนิกส์ ซันส์ ในวัย 28 ปี เขาถือเป็นผู้จัดการที่มีอายุน้อยที่สุดในขณะนั้น แต่มีประสบการณ์จากการที่เคยเป็นหัวหน้าผู้ตระเวนหานักบาสให้กับชิคาโก้ บูลส์ มาก่อน 

วิธีการของเขานั้นง่ายมาก นั่นคือการเน้นสร้างผู้เล่น ให้โอกาสนักกีฬาอายุน้อย ซึ่งกลายเป็นรากฐานและปรัชญาของสโมสรในยุคต่อ ๆ มา  

“เราควรเอาจริงเอาจังกับเหล่าเยาวชนผู้มีพรสวรรค์ แน่ล่ะ ถ้าจะให้ดีที่สุดมันก็ต้องผสมกันระหว่างคนมีประสบการณ์กับพวกเลือดใหม่ แต่ถ้าต้องเลือกแล้วล่ะก็ แน่นอนว่าต้องเป็นพวกเลือดใหม่อยู่แล้ว” 

2ซันส์ เริ่มต้นการสร้างทีมด้วยการให้ “จอห์นนี่ ‘เรด’ เคอร์” อดีตผู้เล่นและโค้ชของชิคาโก้ บูลส์ มาเป็นโค้ชในการฝึกซ้อม พร้อมเปิดตัวทีมผู้เล่นชุดแรกที่โดดเด่น ประกอบไปด้วย “ดิค แวน อาส์เดล” ที่ย้ายมาจากนิวยอร์ก นิกส์ “เกล กู๊ดริช” จากลอสแอนเจลิส เลเกอร์ส “นีล จอห์นสัน” จากนิวยอร์ก นิกส์ “เดวิด ลัตติน” จากโกลเด้น สเตท วอร์ริเออร์ส ซึ่งในขณะนั้นยังเป็น “ซานฟรานซิสโก วอร์ริเออร์ส” อยู่ 

ผู้เล่นแต่ละคนที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของฟีนิกซ์ ซันส์ แม้ว่าจะเคยเล่นให้กับทีมอื่นมาแล้ว แต่เวลาโดยเฉลี่ยก็อยู่ที่ประมาณ 4 ปี ซึ่งถ้าเทียบกันกับเรื่องประสบการณ์ 4 ปีในวงการบาสเกตบอลอาชีพก็ยังไม่ถือเป็นว่าเป็นคนที่เจนจัดในฝีมือเท่าไรนัก 

อย่างไรก็ตาม ซันส์ที่ถือคติเน้นสร้าง ได้เปิดตัวผลงานในฤดูกาลแรกได้ค่อนข้างดี พวกเขาเอาชนะ ซีแอตเทิล ซูเปอร์โซนิคส์ (ปัจจุบันคือ โอกลาโฮม่า ซิตี้ ธันเดอร์) ไปได้ในเกมแรกด้วยสกอร์ 116-107 ในฤดูกาลปกติ และยืนอยู่บนตารางการแข่งขันในฐานะทีมที่ทำคะแนนได้มากที่สุดจากฝั่งตะวันตกเป็นอันดับที่ 7 ทั้ง ๆ ที่เพิ่งก่อตั้งทีมมาได้ไม่นาน

ในระหว่างที่ดวงอาทิตย์จากแอริโซนาในฝั่งตะวันตกกำลังขึ้นจากขอบฟ้า ค่อย ๆ ส่องแสงมาอย่างร้อนแรง ในปีเดียวกันนี้เอง ทางฟากตะวันออกก็มีกวางดุอยู่ตัวหนึ่งในรัฐวิสคอนซินที่ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกัน

2ND QUARTER – Fear the Deer 

กวางดุตัวนั้นที่เราจะเขียนถึงคือ “มิลวอกี้ บัคส์” สโมสรที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 1968 ปีเดียวกันกับ ฟินิกซ์ ซันส์  ในฐานะทีมที่เพิ่มขึ้นมาที่ลงแข่งขันในเขตกลางฝั่งภาคตะวันออกที่ประกอบไปด้วย “ชิคาโก้ บูลส์”, “คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์”, ดีทรอยต์ พิสตันส์” และ “อินเดียน่า เพเซอส์”

มิลวอกี้ บัคส์ ก่อตั้งโดยนักลงทุนที่ชื่อ “เวสลีย์ ดี. พาวาลอน” และ “มาวิน แอล. ฟิชแมน” เจ้าของบริษัท “มิลวอกี้ โปรเฟสชันแนล สปอร์ต แอนด์ เซอร์วิส” (Milwaukee Profesionnal Sports and Services, Inc.,) ที่ได้ร่วมกันสร้างทีมบาสเกตบอลอาชีพกันขึ้นมา 

3โดยชื่อเล่น บัคส์ นั้นได้มาจากการที่ให้แฟนๆ ช่วยกันเลือกเช่นเดียวกับซันส์ คำว่า “บัคส์” มาจากสัตว์ป่าประจำเมือง นั่นคือกวางหางขาว ที่เป็นตัวแทนของความกระฉับกระเฉง ร่าเริง และว่องไว 

น่าเสียดายที่ มิลวอกี้ บัคส์ เปิดตัวในฤดูกาลแรกได้ไม่ดีเหมือนกับฟีนิกซ์ ซันส์ เพราะเกมนัดเปิดตัวทีม พวกเขาต้องเจอเข้ากับของแข็งอย่างชิคาโก้ บูลส์

กว่าที่บัคส์จะคว้าชัยชนะแรกได้ก็ปาเข้าไปในเกมที่ 6 หลังจากเอาชนะ ดีทรอยต์ พิสตัน ไปได้ ด้วยคะแนน 134-116 อย่างไรก็ตามเมื่อจบฤดูกาล บัคส์ เป็นทีมที่ทำคะแนนได้มากที่สุดในอันดับ 7 จากฝั่งตะวันออก เช่นเดียวกันกับซันส์ในฝั่งตะวันตก 

หากมองอย่างผิวเผินแล้ว ซันส์และบัคส์ ทำผลงานได้ไม่แย่ในฐานะทีมที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม หากสำรวจสภาพแวดล้อมในวงการ ณ ขณะนั้น ทั้งสองทีมก็ยังไม่ได้รับการจดจำเท่ากับบอสตัน เซลติกส์,  ชิคาโก้ บูลส์ หรือ ลอสแอนเจลิส เลเกอร์ส 

ผู้เล่นออลสตาร์ส่วนใหญ่ก็มักจะอยู่ในทีมดังเหล่านี้ อาทิ “บิล รัสเซลล์” จาก บอสตัน เซลติกส์, “ดิค บาร์เนตต์” จาก นิวยอร์ก นิกส์, “เจอร์รี่ เวสต์” จาก ลอสแอนเจลิส เลเกอร์ส เรียกได้ว่า เหล่าตัวท็อปทั้งหลายไม่ได้เข้ามาเจียดพื้นที่อยู่ในทีมเล็ก ๆ อย่างสองทีมนี้แต่อย่างใด 

โค้ชคนแรกที่เข้ามาดูแลทีมของบัคส์ ได้แก่ “แลร์รี่ คอสเทลโล่” อดีตผู้เล่นแห่ง ฟิลาเดเฟีย เซเว่นตี้ซิกเซอร์ส เขาคือโค้ชที่สามารถทำให้มิลวอกี้ บัคส์ เข้าไปคว้าแชมป์ประจำฤดูกาลในเอ็นบีเอรอบชิงชนะเลิศได้ในปี 1971 ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับวงการ เพราะบัคส์เพิ่งก่อตั้งทีมมาได้เพียง 3 ฤดูกาลเท่านั้น นอกจากนี้ บัคส์ยังเป็นทีมแรกที่สามารถคว้าตำแหน่งแชมป์ไปได้ ในฐานะทีมที่ถูกเพิ่มขึ้นมาทีหลังอีกต่างหาก 

4ผู้เล่นในทีมชุดนั้นของบัคส์ประกอบไปด้วย “ลูเชียส อัลเลน” ที่ย้ายมาอยู่บัคส์หลังจากเล่นให้ ซีแอตเทิล ซูเปอร์โซนิคส์ ได้เพียง 1 ปี, หน้าใหม่อย่าง “บ็อบ แดนดริดจ์”, “บ็อบ เกรียเซน” และ “คารีม อับดุล-จับบาร์” ดราฟต์เบอร์ 1 ดาวรุ่งที่บัคส์สามารถช่วงชิงมาได้จากซันส์ ตัวแปรสำคัญที่ทำให้มิลวอกี้พุ่งทะยานสุดตัวในฤดูกาลที่สามจนคว้าแชมป์มาได้ 

ในขณะที่ซันส์ก็เดินทางในแบบเดียวกัน จนเคยเข้าไปลุ้นในรอบชิงชนะเลิศในปี 1976 กับ บอสตัน เซลติกส์ มาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นเวลาไล่เลี่ยกันหลังจากบัคส์เพียงไม่กี่ฤดูกาล และถึงแม้จะไม่ได้รับชัยชนะกลับบ้านไป แต่ก็ต้องยอมรับว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วนี้ มีประสิทธิภาพพอที่จะได้รับความสนใจจากรอบวงการ 

ทั้งสองทีมได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แม้ไม่มีดาวรุ่ง พวกเขาก็พุ่งไปหาสิ่งที่ดีได้เหมือนกันและสิ่งเหล่านี้ก็กำลังเกิดขึ้นอีกครั้งในยุคสมัยใหม่

3RD QUARTER – เคล็ดลับฉบับอันเดอร์ด็อก 

การแข่งขันบาสเกตบอลในลีกเอ็นบีเอฤดูกาลหนึ่ง จะแบ่งออกเป็นสองช่วง ช่วงแรกคือฤดูกาลปกติ (Regular Season) หรือการแข่งขันเก็บแต้มไปเรื่อย ๆ แยกกันแข่งระหว่างทีมจากฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก  ช่วงที่สองจะเรียกว่า เพลย์ออฟ (Playoff) คือการนำทีมที่มีคะแนนที่ดีที่สุดของแต่ละสายจากการแข่งขันตลอดฤดูกาลปกติมาแข่งกัน เพื่อที่จะได้แชมป์ประจำฤดูกาลไป

5โดยปกติแล้ว ทีมที่ได้เข้าไปเล่นในเพลย์ออฟ มักจะเป็นทีมที่มีฝีไม้ลายมือโดดเด่น ประกอบไปด้วยผู้เล่นมากฝีมือที่ได้รับการจับตามอง รายชื่อที่โดดเด่นในซีซั่น 2020-21 นี้ ได้แก่ เลอบรอน เจมส์ จาก ลอสแอนเจลิส เลเกอร์ส, เจสัน เททั่ม จากบอสตัน เซลติกส์​

หรือจะเป็นซูเปอร์ทีมตัวเต็งแชมป์ประจำปี อย่าง บรูคลิน เน็ตส์ จากการรวมตัวกันของผู้เล่นอย่าง เควิน ดูแรนท์, เจมส์ ฮาร์เดน และ ไครี เออร์วิ่ง ที่ถูกกล่าวขานว่าเป็นการรวมสุดยอดตัวโหดแห่งวงการประจำซีซั่นนี้ไว้ที่เดียวกัน จนแทบจะนอนรอแชมป์ได้เลย 

สิ่งนี้เปลี่ยนแปลงไปเมื่อการแข่งขันบาสเกตบอลเอ็นบีเอ เพลย์ออฟ ประจำฤดูกาล 2020-21 เริ่มต้นขึ้น เมื่อทีมส่วนมากที่เข้ามาประจันหน้ากัน เต็มไปด้วยทีมที่ไม่เคยได้แชมป์ประจำฤดูกาลมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น ยูท่าห์  แจ๊ซ, ลอสแอนเจลิส คลิปเปอร์ส, เดนเวอร์ นักเก็ตส์ และเป็นที่น่าตกใจว่าทีมโหดอย่าง ลอสแอนเจลิส เลเกอร์ส, บอสตัน เซลติกส์ หรือแม้กระทั้งทีมซูเปอร์สตาร์อย่าง บรูคลิน เน็ตส์ ต่างก็ตกรอบกันตั้งแต่รอบต้น ๆ 

เรียกได้ว่าการแข่งขันในฤดูกาลนี้คือการงัดกันระหว่างอันเดอร์ด็อกแห่งวงการอย่างแท้จริง ไม่จำเป็นต้องพึ่งซูเปอร์สตาร์ดาวรุ่งในทีมแต่อย่างใด 

ซันส์และบัคส์ เป็นทีมที่ให้ความสำคัญกับผู้เล่นของตนเองอย่างชัดเจน ผู้เล่นหลายคนจากซันส์ เป็นคนที่ถูกดราฟต์เข้ามาในทีมตั้งแต่แรก อาทิ เดวิน บุ๊คเกอร์​ ชูตติ้งการ์ด วัย 24 ที่เริ่มเข้ามาสู่ทีมตั้งแต่ปี 2015 ปัจจุบัน เขายังคงเล่นให้กับซันส์ โดยที่ยังไม่เคยเปลี่ยนทีมเลยแม้แต่ครั้งเดียว อีกทั้งยังเคยได้ไปเล่นใน ลีก “รวมดาว” (All-Star) ถึงสองสมัย 

นอกจากนี้ยังมี “ดีนเดรย์ เอย์ตัน”, “มิคาล บริดเจส” ที่ถูกดราฟต์เข้ามาในปี 2018 หรือรายล่าสุดอย่าง “คาเมร่อน จอห์นสัน” ที่ดราฟต์เข้ามาในปี 2019 ผู้เล่นเหล่านี้ไม่เคยเข้าไปเล่นเพลย์ออฟมาก่อน แต่นี่คือรายชื่อผู้เล่นชุดล่าสุดที่พาทีมเข้ามาสู้อย่างสมศักดิ์ศรีได้ถึงรอบชิงชนะเลิศ 

6อีกหนึ่งคนที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือ คริส พอล นักบาสวัย 36 ปี ที่เพิ่งมาอยู่ซันส์ได้แค่ปีเดียว ก่อนหน้านี้เขาเคยเล่นให้กับ ลอสแอนเจลิส คลิปเปอร์ส, โอกลาโฮม่า ซิตี้ ธันเดอร์, ฮูสตัน ร็อคเก็ตส์ และแม้กระทั่งเคยเกือบจะได้ไปอยู่ ลอสแอนเจลิส เลเกอร์ส เคียงคู่กับ “โคบี้ ไบรอั้น” มาแล้วในปี 2011 แต่โดนระงับการเทรดไว้เสียก่อน 

จริง ๆ แล้วหากว่ากันตามประสบการณ์ พอล ถือเป็นผู้เล่นอีกคนที่เก๋าเกมทีเดียว แต่เขาก็ยังไม่เคยได้แหวนแชมป์จากการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศเลยสักครั้ง อย่างไรก็ดีการมีอยู่ของพอลในทีม เรียกได้ว่าเป็นการยกระดับซันส์ขึ้นไปอีกขั้น ภายใต้การเล่นประสานกันระหว่างผู้เล่นเลือดใหม่ ทำให้ซันส์ในฤดูกาลนี้โดดเด่นเป็นพิเศษ 

การเทรดซูเปอร์สตาร์สักคนเข้ามาในทีม จำเป็นที่จะต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ซึ่งการที่พวกเขาไม่สนใจจะทำเช่นนั้น นอกจากจะช่วยประหยัดเงินแล้ว ยังทำให้พวกเขาต้องพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ให้ดีกว่าเดิม จุดนี้เองยิ่งทำให้เพื่อนร่วมทีมแต่ละคนรู้มือกันมากขึ้น ทำให้พวกเขาเติบโตขึ้นมาด้วยกันได้อย่างต่อเนื่อง กุญแจสำคัญของพวกเขา คือการให้การสนับสนุนและเชื่อใจกัน โดยยึดมั่นในสิ่งเดียวกันว่าพวกเขาจะต้องไปคว้าชัยชนะมาให้ได้ 

“ทุกคนสบายใจและยอมรับบทบาทของตัวเอง เรื่องพวกนี้อยู่ดี ๆ มันก็เกิดขึ้นเอง พอคุณเริ่มยอมรับ ทุก ๆ อย่างมันก็เริ่มพัฒนา ขนาดทีมคุณก็ยังเปลี่ยนไปในระหว่างที่เล่นรอบเพลย์ออฟได้เลย” คริส พอล กล่าวถึงทีมของเขา 

7บุ๊คเกอร์ยังคงให้เครดิตรุ่นพี่อย่างพอลด้วยว่า พอลเป็นคนที่ยกระดับการเล่นของเขาให้ดียิ่งขึ้น เพราะสำหรับเขาแล้วนี่ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ เขาดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมนี้และร่วมวิเคราะห์เกมไปพร้อมกับทุกคน เขาเชื่อว่าทีมที่ดีจะต้องรู้จักปรับตัวและในเมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว เขาก็ต้องปรับตัวเช่นกัน 

ฟีนิกซ์ ซันส์ เคยได้ขึ้นชื่อว่าเป็นทีมที่ห่วยที่สุดในห้าฤดูกาลที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พวกเขากลายเป็นทีมที่เข้าไปในรอบชิงชนะเลิศได้และเล่นได้อย่างสมศักดิ์ศรีไปถึง 6 เกม จนมาถึงจุดนี้ 

สิ่งที่โค้ชอย่าง มอนตี้ วิลเลียมส์ จะสามารถมอบให้กับลูกทีมเขาได้ คือความเชื่อใจในเลือดใหม่พวกนี้เช่นกัน “ผมก็แค่บอกพวกเขาให้ไปชู้ตบาส” มอนตี้ กล่าว  

สถานการณ์ของมิลวอกี้ บัคส์ ก็ไม่ต่างไปจากฟีนิกซ์ ซันส์ เท่าไรนัก ทีมของพวกเขาเต็มไปด้วยผู้เล่นที่ยังไม่เคยสัมผัสกับชัยชนะ ไม่มีใครเคยได้แหวนแชมป์มาก่อน

“เราโดนพวกเขาถล่มมา เราอับอายมาก หลายคนคิดว่าฤดูกาลนี้มันจบไปแล้วสำหรับพวกเรา” 

คริส มิดเดิลตัน เปิดเผยหลังจากที่บัคส์พ่ายแพ้ให้กับ บรูคลิน เน็ตส์ ในเกมที่ 2 ระหว่างการแข่งขันในรอบเพลย์ออฟ ก่อนที่สถานการณ์จะพลิกให้พวกเขาเอาชนะเน็ตส์ เข้ามาถึงรอบชิง และกลายเป็นแชมป์ฤดูกาลไปได้ 

บัคส์เองแทบจะไม่ต่างจากซันส์ในฐานะทีมที่ไม่ค่อยมีใครเหลียวมอง พวกเขาเคยโดนสบประมาทไว้มากมาย ตั้งแต่การดราฟต์เด็กหนุ่มร่างผอม ตำแหน่งฟอร์เวิร์ด จากประเทศกรีซที่ชื่อ “ยานนิส อันเททูคุมโป” เข้ามาไว้ในทีมเมื่อปี 2013 ปีเดียวกันกับที่บัคส์ได้เทรด “คริส มิดเดิลตัน” เข้ามาสู่ทีม ซึ่งในตอนนั้นทั้งยานนิสและคริสต่างก็เป็นผู้เล่นที่ยังไม่มีชื่อเสียงทั้งคู่ 

8นอกจากยานนิสและคริส บัคส์ประกอบไปด้วยผู้เล่นอย่าง “จรู ฮอลิเดย์”, “บรูค โลเปซ”, “บ๊อบบี้ พอร์ติส”, “แพต คอนนอตัน” และ “พี.เจ. ทัคเกอร์” ที่คนส่วนมากจะไม่ค่อยคุ้นหน้าคุ้นตา แม้ว่าผู้เล่นอย่างทัคเกอร์และโลเปซจะเคยผ่านทีมใหญ่มาบ้าง แต่รัศมี ชื่อเสียงของพวกเขาก็ยังไม่ได้รับการจดจำเท่าที่ควร

ด้วยความที่พวกเขาเคลื่อนตัวใต้เรดาร์ การแสดงฟอร์มร่างทองของพวกเขาจึงน่าจดจำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นโลเปซที่ทำคะแนนไปกว่า 33 แต้ม ในเกมที่ 5 ระหว่างที่แข่งขันกับซันส์ พอร์ติสที่ช่วยกันกับโลเปซ เก็บไปได้ 22 แต้ม หรือฮอลิเดย์ ที่เข้ามามีส่วนช่วยในการวางสมดุลให้กับเกมและตัวยานนิสมากขึ้น

“ไมค์ บูเดนโฮลเซอร์” โค้ชคนปัจจุบันของ มิลวอกี้ บัคส์ เคยออกมาให้ความเห็นต่อลูกทีมของเขาเอาไว้เอาครั้งหนึ่งว่า

“พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ดี ทุกคนมีความเป็นตัวของตัวเองสูง เต็มไปด้วยความสามารถ ผู้เล่นหลายคนมีความหลากหลายในตนเองทางด้านกายภาพ พวกเขาเป็นทีมที่ดีและมีคาแร็กเตอร์ที่ดีด้วย ผมให้เครดิตพวกเขาเลย พวกเขาสามารถรับมือได้กับทุกอย่างและยืดหยุ่นมาก นั่นคือส่วนสำคัญที่สุดในสิ่งที่เราเป็น” 

ยานนิส, มิดเดิลตัน และ ฮอลิเดย์ ได้กลายมาเป็น “The Big 3” แห่งมิลวอกี้ บัคส์ ด้วยเคมีที่เข้ากันอย่างน่าเหลือเชื่อ พวกเขาได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การฝึกฝน สมาธิ และความเชื่อใจต่อเพื่อนร่วมทีม สามารถนำมาซึ่งชัยชนะได้ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยฝีมือจากผู้เล่นคนใดมากเป็นพิเศษ และสิ่งเหล่านี้ก็ตอบแทนพวกเขาแล้ว

“ผมสามารถย้ายไปซูเปอร์ทีมและทำหน้าที่ในส่วนของผมจนชนะแชมเปี้ยนชิพได้นะ แต่ทางนี้มันยากกว่าและพวกเราเองก็ทำได้แล้ว” ยานนิสทิ้งท้าย หลังจากที่ มิลวอกี้ บัคส์ คว้าตำแหน่งแหน่งรางวัลแชมป์เอ็นบีเอประจำฤดูกาล 2021

4TH QUARTER – ศักราชใหม่? 

ทั้งซันส์และบัคส์ต่างเป็นทีมที่แข็งแกร่ง ทั้งในแง่ของกายภาพและจิตใจ สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาหลังจากที่พวกเขาได้ไปฟาดฟันกันในรอบชิง ภาพสะท้อนที่ใหญ่กว่าเรื่องนี้อาจหมายถึงสมดุลที่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงของเอ็นบีเอในฤดูกาลต่อ ๆ ไป 

9นอกจาก ฟีนิกซ์ ซันส์ และ มิลวอกี้ บัคส์ การแข่งขันรอบเพลย์ออฟในปีนี้เต็มไปด้วยทีมที่ยังไม่เคยได้แชมป์ประจำฤดูกาลและผู้เล่นหน้าใหม่ที่อันตรายอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น แอตแลนตา ฮอกส์, ลอสแอนเจลิส คลิปเปอร์ส​ หรือ ยูท่าห์ แจ๊ซ สิ่งนี้อาจหมายถึงสัญญาณการมาของเหล่าอันเดอร์ด็อกในอนาคต มาตรฐานที่ทีมเหล่านี้สร้างไว้ อาจเป็นหมุดหมายใหม่สำหรับวงการบาสเกตบอลเอ็นบีเอว่า บางครั้งการทุ่มทุนสร้าง “ซูเปอร์ทีม” อาจไม่ใช่แนวทางที่ตอบโจทย์เสมอไป 

จริงอยู่ที่การสร้างซูเปอร์ทีมยังคงสร้างความน่าตื่นเต้นให้กับวงการ แต่อะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ เหมือนสถานการณ์สุดพลิกล็อกที่เกิดขึ้นกับ บรูคลิน เน็ตส์ ในปีนี้ 

บางทีเราอาจจะต้องจับตามองผู้เล่นไฟแรงที่อยู่ในทีมที่มีการจัดการวางแผนที่ดี มากกว่าการมองซูเปอร์สตาร์ในทีมดังสำหรับการแข่งขันครั้งต่อ ๆ ไป 

เพราะสิ่งนี้เองก็เป็นเสน่ห์ของกีฬาที่หลายคนใฝ่หา ความตื่นเต้นแบบคาดการณ์ไม่ได้ล่วงหน้าที่หาชมได้ในมวยคู่รองเช่น ซันส์ และ บัคส์ ใครจะรู้ว่าในปีถัดไปเราอาจได้เห็นอะไรเช่นนี้อีก แบบที่ไม่ต้องคาดหวังว่าจะได้เห็นชื่อทีมใหญ่ในรอบชิงชนะเลิศอีกต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ