ร่างกายของเราอาจอยู่ได้นานหลายวันหากขาดอาหาร รองลงมาคือน้ำที่สำคัญกว่าอาหารทั่วไป แต่ที่ร่างกายจะขาดไม่ได้เลยแม้เพียงไม่กี่นาที คือ “อากาศ” หากเราไม่หายใจภายในไม่กี่นาที เราจะเสียชีวิตทันที
แต่ในบางครั้งเราอาจเกิดอาการหายใจไม่ออก แม้จะอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศตามปกติ โดยสาเหตุมาจากความผิดปกติของร่างกายของเราเอง
“หายใจไม่ออก” เกิดขึ้นได้อย่างไร?
สาเหตุที่ทำให้เราเกิดอาการหายใจไม่ออกมีด้วยกันหลายอย่าง เช่น
- มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปอุดกั้นทางเดินหายใจ เช่น อาหารติดคอ หรือการสำลักอะไรสักอย่างที่เข้าไปในร่างกาย อาจจะผ่านปาก หรือจมูก และอื่นๆ
- โรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด หลอดลมอักเสบ ปอดบวม ปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจอื่นๆ รวมถึงโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ความเครียด อาการตื่นตระหนก (แพนิค) อาจทำให้รู้สึกหายใจไม่ออกกะทันหันได้เช่นกัน ร่วมกับอาการหัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก เป็นต้น
- สาเหตุอื่นๆ เช่น อาการปวดอื่นๆ หรือโรคอ้วน และภาวะโลหิตจาง บางครั้งก็ก่อให้เกิดอาการหายใจไม่ออกได้เช่นกัน
อาการหายใจไม่ออก
เมื่อผู้ป่วยมีอาการหายใจไม่ออก อาจมีปัญหาในการพูดสื่อสารอาการกับเรา เราสามารถสังเกตอาการของเขาได้ ดังนี้
- เสียงแหบ
- หายใจมีเสียงหวีด
- หายใจเฮือก ปีกจมูกบาน หน้าอกบุ๋ม
- แน่นจมูก แน่นหน้าอก
- ตัวเขียวจากการขาดออกซิเจน
- ริมฝีปากและปลายนิ้วเปลี่ยนเป็นสีม่วงคล้ำ
วิธีปฐมพยาบาล เมื่อพบผู้ป่วยหายใจไม่ออก
อันดับแรก รีบติดต่อสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เบอร์ 1669 โดยเร็วที่สุด
ระหว่างที่รอเจ้าหน้าที่ หากผู้ป่วยยังหายใจได้ แต่หายใจไม่ปกติ หายใจเฮือก หายใจลำบาก จับผู้ป่วยนอนราบบนพื้นแข็ง แขนสองข้ามเหยียดข้างลำตัว รอรับการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่
หากผู้ป่วยเริ่มหมดสติ ไม่ไอ ไม่หายใจ ไม่ขยับร่างกายส่วนใดเลย ต้องเริ่มกดหน้าอกทันที ให้หาตำแหน่งการวางมือที่ครึ่งล่างของกระดูกหน้าอกเพื่อกดหน้าอก โดยใช้ส้นมือข้างหนึ่งวางบนบริเวณครึ่งล่างกระดูกหน้าอก แล้วเอามืออีกข้างหนึ่งวางทาบหรือปะสานไปบนมือแรก กดหน้าอกแล้วปล่อย กดแล้วปล่อย ทำติดต่อกันไป 30 ครั้งให้ได้ความถี่ของการกด 100-120 ครั้งต่อนาที ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้ป่วยจะกลับมารู้สึกตัว หรือจนกว่าเจ้าหน้าที่จะมา