ครม. อนุมัติกรอบวงเงินกว่า 9 พันล้านบาท ชำระค่าวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส พร้อมรับทราบจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์เพิ่มอีก 10 ล้านโดส คาดส่งมอบได้ในไตรมาส 4 ปีนี้
วันนี้ (17 ส.ค.) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับให้ประชาชนเพิ่มเติมอีก 20 ล้านโดส ซึ่งเป็นส่วนที่เคยลงนามไปแล้ว ซึ่งวันนี้มีการอนุมัติในกรอบวงเงินที่จะต้องนำไปชำระจำนวน 9,372 ล้านบาท แบ่งเป็นการจัดหาวัคซีนประมาณ 8,439 ล้านบาท และค่าบริการจัดการประมาณ 933 ล้านบาท ทั้งนี้ ได้รับทราบมาว่าจะส่งมอบวัคซีนได้ในไตรมาสที่ 4 ประมาณปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม 2564
ทั้งนี้ นายอนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ครม. ยังได้รับทราบการจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์เพิ่มเติมอีก 10 ล้านโดส และมอบหมายให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ลงนามกับตัวแทนบริษัทไฟเซอร์ ซึ่งจะทำให้การจัดหาวัคซีนแบบชนิด mRNA ยี่ห้อไฟเซอร์เพิ่มเติมจาก 20 ล้านโดส ซึ่งจะส่งมอบได้ในไตรมาสที่สี่ของปี 2564 ดังนั้นวัคซีนไฟเซอร์จะเข้ามาในประเทศไทยรวมประมาณ 30 ล้านโดส ในไตรมาสสุดท้ายตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป
ยกงานวิจัยเป็นเหตุสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่ม ระหว่างรอวัคซีน mRNA ในช่วงปลาย ก.ย.-ต้น ต.ค. ชี้ฉีดไขว้ได้ผลป้องกันโควิดสายพันธุ์เดลตาได้
นอกจากนี้ นายอนุชา ยังตอบคำถามสื่อมวลชนแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงเหตุผลของรัฐบาลในการสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติมอีก 12 ล้านโดส ทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่าประสิทธิภาพไม่เพียงพอว่า มีเหตุผลทางด้านการวิจัยและการเก็บข้อมูลมารองรับ เนื่องจากตั้งแต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีการอนุมัติให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 แบบไขว้ชนิด ทางประเทศไทยจึงได้เริ่มมีการฉีดวัคซีนแบบไขว้ และมีการเก็บข้อมูล
พบว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 มีภูมิต่ำกว่าการฉีดวัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 และที่สำคัญผลการเก็บข้อมูลพบว่า ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 1 และไขว้ด้วยวัคซีน AstraZeneca ในเข็มที่ 2 จะทำให้ภูมิต้านทานขึ้นมาสูงกว่า การฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ถึง 4 เท่า สามารถป้องกันเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าได้อีกด้วย
ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ประเทศไทยจะเริ่มฉีดวัคซีนสูตรไขว้ลักษณะนี้ในผู้ที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีน ระหว่างรอวัคซีนชนิด mRNA ที่จะมาถึงในช่วงปลายเดือน ก.ย. หรือ ต้น ต.ค.