“ความรุนแรงทางการเมือง” ประวัติศาสตร์ที่อาจซ้ำรอย

Home » “ความรุนแรงทางการเมือง” ประวัติศาสตร์ที่อาจซ้ำรอย
“ความรุนแรงทางการเมือง” ประวัติศาสตร์ที่อาจซ้ำรอย

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ถือว่าบรรยากาศการเมืองไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศในสภา หรือแม้กระทั่ง “นอกสภา” ที่นอกจากคนรุ่นใหม่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น แต่เมื่อย้อนดูดีๆ กลับมีเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งการข่มขู่ คุกคาม และทำร้ายร่างกายผู้ที่มีความเห็นต่างจากรัฐ และในยุคนี้ สิ่งที่นับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรง ก็คือความเห็นในโลกโซเชียล ที่มีทั้งความสะใจ ดีใจ ที่กลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมืองถูกทำร้าย รวมถึงการสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงต่อคนกลุ่มนี้ อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการเมืองลักษณะนี้ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นในปีนี้เป็นครั้งแรก แต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ทั้งในประเทศไทยเองและต่างประเทศ โดยผู้ที่ทำให้ความรุนแรงเกิดขึ้นก็ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นคนทั้งสังคม และความรุนแรงเหล่านี้ก็อาจจะกลับมาซ้ำรอยอีกครั้ง หากเราไม่เรียนรู้ที่จะจัดการ

ความรุนแรง รัฐ และประชาชน

ในทางวิชาการ ความรุนแรงทางการเมืองแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือความรุนแรงระหว่างรัฐกับรัฐ ความรุนแรงระหว่างรัฐกับประชาชน และความรุนแรงระหว่างประชาชนด้วยกันเอง ซึ่งความรุนแรงที่พบมากที่สุดในปัจจุบันคือ ความรุนแรงระหว่างรัฐกับประชาชน และความรุนแรงระหว่างประชาชน

สำหรับความรุนแรงระหว่างรัฐกับประชาชนนั้น ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายถึงสาเหตุของความรุนแรงประเภทนี้ ว่ามาจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือความพยายามที่จะไม่เปลี่ยนระบอบทางการเมือง โดยยกตัวอย่างกรณีการล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนที่เมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้

ความรุนแรงโดยรัฐมาจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือความพยายามไม่เปลี่ยนระบอบการเมือง อย่างในกรณีของเมืองกวางจู นักศึกษากำลังประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย จู่ๆ รัฐบาลก็ส่งกองกำลังพลร่มลงมาล้อม ซึ่งไม่ใช่กองกำลังธรรมดา และเริ่มทำร้ายประชาชน คนกวางจูในวันนั้นถูกปฏิบัติว่าเป็นคอมมิวนิสต์หัวรุนแรง ที่ยึดเมืองกวางจู รัฐบาลเลยสั่งปิดล้อมเมือง ไม่ให้ส่งข้าวส่งน้ำ คนกวางจูเองก็จัดการตัวเองเป็นกองกำลังประชาชนมาต่อสู้กับกองกำลังทหารของรัฐ ยิ่งรัฐใช้ความรุนแรง มวลชนก็ยิ่งใช้ความรุนแรงตอบ นี่คือเรื่องจริงและเป็นเรื่องที่คนเกาหลี โดยเฉพาะคนกวางจูเจ็บแค้นมาก”

การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และนักศึกษา ในเหตุการณ์ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ที่เมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อ พ.ศ.2523AFPการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และนักศึกษา ในเหตุการณ์ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ที่เมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อ พ.ศ.2523

ด้าน ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงระหว่างรัฐกับประชาชน คืออำนาจและผลประโยชน์ โดยเฉพาะในสังคมที่อำนาจรัฐผูกขาดอยู่ที่คนกลุ่มเดียว ผู้ที่ได้ครองอำนาจก็จะเป็นผู้ครอบครองผลประโยชน์มหาศาลด้วย ดังนั้น เมื่ออำนาจรัฐถูกสั่นคลอน รัฐก็ไม่รีรอที่จะจัดการกับผู้ที่เขย่าบัลลังก์นั้น

“สาเหตุหลักที่รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชนคือ การที่รัฐรู้สึกสั่นคลอนและสูญเสียอำนาจในการควบคุม เขากลัวว่าการต่อต้านรัฐมันจะขยายไปในวงกว้าง ก็เลยเลือกใช้วิธีการที่รุนแรงในการกำจัดคนที่มีแนวโน้มในการต่อต้านรัฐ หรือทำให้การต่อต้านรัฐขยายในวงกว้าง สังคมไหนหรือรัฐไหนที่เริ่มมีความรุนแรงปรากฏเยอะ มันสะท้อนว่ารัฐนั้นกำลังสูญเสียความชอบธรรม และสูญเสียศักยภาพในการควบคุมคนในแง่ของความคิด ก็คือคนเริ่มมีความคิด รู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากล ตั้งคำถาม และเห็นข้อมูลที่แตกต่าง รัฐก็เริ่มหวั่นไหว และขยับไปสู่วิธีการที่ดั้งเดิมที่สุด ก็คือความรุนแรง” ผศ.ดร.ประจักษ์อธิบาย

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ประจักษ์ระบุว่า โดยทั่วไป การใช้ความรุนแรงจะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่รัฐจะนำมาใช้ เนื่องจากความรุนแรงเป็นวิธีการควบคุมประชาชนที่มีต้นทุนสูง เมื่อใช้แล้วก็จะถูกจับตามองและถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยสังคมและสื่อ จึงหันมาใช้วิธีการที่ควบคุมประชาชนได้และช่วยให้ตนอยู่ในอำนาจได้นานที่สุด นั่นคือ “การควบคุมทางความคิด” ผ่านปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือที่รู้จักกันดีว่า Information Operation (IO)

การควบคุมที่มีประสิทธิภาพจริงๆ คือการควบคุมทางความคิด ให้ทุกคนรู้สึกเชื่อฟังรัฐ รัฐหรือผู้นำรัฐของเราเป็นคนดีที่สุดแล้ว จะนำประเทศให้โชติช่วงชัชวาล ทุกคนอยู่ดีมีสุข ถ้าควบคุมความคิดได้ ก็จะไม่มีใครต่อต้านรัฐเลย ดังนั้น รัฐก็ไม่ต้องใช้ความรุนแรงกับใครเลย เพราะประชาชนได้สยบยอมอย่างราบคาบแล้ว รัฐแบบนั้นในแง่หนึ่งก็เป็นรัฐที่มีประสิทธิภาพมากๆ จนถึงขั้นที่ ไม่ว่าการบริหารของรัฐจะล้มเหลวหรือผิดพลาดอย่างไร เราไม่ตั้งคำถาม เราเป็นพลเมืองที่เชื่องๆ ไม่มีความสามารถแม้กระทั่งจะมีความคิดเป็นอิสระของตนเอง” ผศ.ดร.ประจักษ์กล่าว

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์โครงการบันทึก 6 ตุลาเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ประจักษ์ยังระบุว่า เมื่อรัฐใช้ความรุนแรงและถูกวิพากษ์วิจารณ์ ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารจะทำหน้าที่ปฏิเสธว่ารัฐไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรุนแรงดังกล่าว หรือหากมีหลักฐานว่ารัฐเป็นคนทำ หรือมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารก็จะให้ความชอบธรรมต่อความรุนแรง โดยการบอกว่า ผู้ที่ถูกกระทำนั้นเป็นคนไม่ดี สมควรได้รับความรุนแรง หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ทำให้ความรุนแรงของรัฐกลายเป็นความชอบธรรม เพราะทำในนามของความสงบสุข

“เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นเหตุการณ์คลาสสิกในแง่นี้เลย คือรัฐต้องการปราบปรามขบวนการนักศึกษา ชาวนา ประชาชน ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรม ก็มีคนสูญเสียอำนาจเยอะ ทีนี้ตอนนั้นนักศึกษาก็เป็นฮีโร่มาก่อน อยู่ดีๆ ไปปราบปรามเลยมันก็ดูไม่ดี ก็ต้องเริ่มจากกระบวนการสร้างความเกลียดชังก่อน โดยการใช้สื่ออย่างวิทยุยานเกราะ หนังสือพิมพ์ดาวสยาม กว่าจะเกิดความรุนแรงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 การสร้างความเกลียดชังผ่านสื่อมันดำเนินมา 2 ปีแล้ว ฉะนั้นความรุนแรงวันนั้น มันไม่ได้อยู่ดีๆ ก็เกิดขึ้นเลยในชั่วข้ามคืน แต่กระบวนการสร้างความเกลียดชังได้สร้างบรรยากาศที่เอื้อให้คนรู้สึกว่ามันมีคนกลุ่มหนึ่งที่เลวร้ายจริงๆ และสมควรที่จะถูกจับ หรือถูกขจัดไปด้วยความรุนแรง” ผศ.ดร.ประจักษ์อธิบาย

หนังสือพิมพ์ดาวสยาม หนึ่งในสื่อที่มีเนื้อหาสร้างความเกลียดชังในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519โครงการบันทึก 6 ตุลาหนังสือพิมพ์ดาวสยาม หนึ่งในสื่อที่มีเนื้อหาสร้างความเกลียดชังในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

สำหรับความรุนแรงระหว่างประชาชนกับประชาชน ทั้ง ผศ.ดร.ประจักษ์ และ ผศ.ดร.บัณฑิต เห็นตรงกันว่า สาเหตุของความรุนแรงระหว่างประชาชน เกิดจาก “ความอยุติธรรม” ในสังคม คือการที่กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ และไม่ได้บังคับใช้กับทุกคนอย่างเสมอภาคกัน ทำให้คนไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และมองว่าการใช้ความรุนแรงคือทางออก

“เมื่อเรามองฝ่ายตรงข้ามเป็นมนุษย์ที่ไม่เท่ากับเรา ก็เกิดการจัดการ จำกัดพื้นที่ทางสังคม เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งเริ่มใช้อาวุธ อีกฝ่ายก็ใช้อาวุธตอบ ก็มีคนตายเกิดขึ้น ผลของมันก็คือ เมื่อความรุนแรงไม่ได้ถูกจัดการอย่างเหมาะสม คนที่ไปเริ่มก่อความรุนแรง ไม่ถูกลงโทษ ฝ่ายที่ถูกกระทำก็รู้สึกว่าไม่ยุติธรรม ความเป็นธรรมคือจะต้องใช้ความรุนแรงตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม” ผศ.ดร.บัณฑิตกล่าว

ประชาชนชาวฮูตูและทุตซีหลบภัยในโบสถ์ Sainte-Famille ขณะเกิดเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา เมื่อ พ.ศ. 2537AFPประชาชนชาวฮูตูและทุตซีหลบภัยในโบสถ์ Sainte-Famille ขณะเกิดเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา เมื่อ พ.ศ. 2537

จุดร่วมของความรุนแรงทั่วโลก

เมื่อมองเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์โลกหลายๆ ครั้ง จะพบว่าทุกเหตุการณ์มีจุดร่วมที่คล้ายกัน คือมี “การลดทอนความเป็นมนุษย์” (Dehumanization) คือการใช้คำพูดที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามกลายเป็นสิ่งอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่น เรียกว่าแมลงสาบ ควาย เชื้อโรค หรือวัชพืช ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ไม่สมควรมีอยู่บนโลก หรือวาทกรรม “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ที่มีผู้กล่าวไว้ในเหตุการณ์ 6 ตุลา และ “การทำให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นปีศาจ” (Demonization) ซึ่งเป็นกระบวนการที่สร้างภาพให้อีกฝ่ายดูเป็นภูตผีปีศาจ เป็นสัตว์ประหลาด เป็นคนเลว หรือเป็นทรราช ซึ่งสามารถส่งผลต่อความคิดของคนในสังคม นำไปสู่ความเกลียดชัง และบานปลายเป็นความรุนแรงครั้งใหญ่

“พอสร้างกระบวนการแบบนี้ไปเรื่อยๆ ทั้งลดทอนความเป็นมนุษย์และสร้างปีศาจ สุดท้ายมันก็ค่อยๆ ตีกรอบวิธีคิดของคน จนเราไม่เห็นคนที่อยู่ร่วมสังคมกับเรา เพียงแค่เขาเห็นต่าง แทนที่จะเห็นว่าเขาเป็นมนุษย์ที่มีสิทธิเสรีภาพเท่ากับเรา แต่เราจะถูกตีกรอบให้รู้สึกว่าไอ้นี่เป็นคนเลว เป็นคนหนักแผ่นดิน ไม่สมควรอยู่ ต่อให้มันตายไปเราก็ไม่รู้สึกเสียใจแม้แต่น้อย อาจจะดีใจหรือสะใจด้วย” ผศ.ดร.ประจักษ์ระบุ

“นึกถึงรูป 6 ตุลา ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ระหว่างที่มีคนถือเก้าอี้พับตีศพที่ถูกแขวนบนต้นไม้ คนจำนวนมากยืนยิ้ม ยืนหัวเราะอย่างสะใจ สายตาอย่างนั้น ผมคิดว่ามันปรากฏขึ้นมาอีกครั้งตอนที่จ่านิวถูกตี” ผศ.ดร.บัณฑิตกล่าวเสริม

เจ้าหน้าที่ตำรวจแสดงหลักฐานเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ที่ได้จากการจับกุมนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519โครงการบันทึก 6 ตุลาเจ้าหน้าที่ตำรวจแสดงหลักฐานเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ที่ได้จากการจับกุมนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519

แต่ในบรรดาความรุนแรงที่เกิดขึ้นเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองทั้งหมด ความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ง่ายดายที่สุด บ่อยที่สุด และดูเป็นเรื่องธรรมดาที่สุด คือการใช้คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง หรือ Hate speech โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ที่ใครๆ ก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้ไม่ยาก แต่เชื่อหรือไม่ว่า แค่การด่าทอผู้ที่เห็นต่างผ่านสื่อ ก็สามารถนำไปสู่ความรุนแรงได้เช่นกัน ซึ่ง ผศ.ดร.ประจักษ์มองว่า สังคมไทยยังระมัดระวังเรื่องนี้ไม่มากพอ จนทำให้การใช้ Hate speech กลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ยอมรับได้ ซึ่งแม้ผู้พูดจะไม่ได้ออกไปทำร้ายร่างกายใคร แต่ ผศ.ดร.ประจักษ์กลับมองว่าสิ่งเหล่านี้นี่แหละ ที่สนับสนุนให้เกิดความรุนแรงได้ในท้ายที่สุด

“กระบวนการเหล่านี้ ซึ่งบางทีเราคิดว่ามันไม่สำคัญอะไร เพราะเราไม่ได้ลุกไปฆ่าใคร เราแค่ด่ากันในโซเชียล หรือวิทยุ บอกว่าคนนี้เป็นคนชั่ว มันเป็นแค่คำพูด คนก็เลยรู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรง แต่ท้ายที่สุด การด่าทอในสื่อต่างๆ เมื่อมันยาวนาน ต่อเนื่อง ซึมลึก ถึงจุดหนึ่งมันก็นำไปสู่ความรุนแรงจริงๆ ที่คนลุกขึ้นมาฆ่ากันได้” ผศ.ดร.ประจักษ์กล่าว

ราคาที่ต้องจ่ายจากความรุนแรง

ปรากฏการณ์ที่มีคนสะใจดีใจเมื่อเพื่อนร่วมสังคมถูกทำร้ายด้วยความรุนแรง สังคมควรตระหนักได้แล้วว่ามันเป็นวิกฤตทางศีลธรรม การที่เราดีใจได้ แสดงว่ามันมีการพิพากษาไปแล้ว ว่าคนนี้เป็นคนเลว สมควรแล้ว ถ้าเราสูญเสียคุณค่าของสังคมซึ่งเป็นอารยะ มีการอยู่ร่วมกันได้โดยมีความอดทนอดกลั้นต่อความเห็นต่าง มันเรื่องใหญ่กว่าวิกฤตทางการเมืองอีก” ผศ.ดร.ประจักษ์กล่าวถึงผลกระทบจากการสนับสนุนให้เกิดความรุนแรง ที่ในที่สุดจะยิ่งทำให้สังคมแตกแยกยิ่งกว่าเดิม

“ในสังคมแบบนี้มันมีปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจ คือนอกจากคนจะรับรู้ข้อมูลข่าวสารเฉพาะในวงของตัวเอง ที่เราอยากเชื่อ อยากฟัง ที่เรียกว่า Echo Chamber แล้ว อาการหนึ่งที่มันจะเกิดขึ้นก็คือ เราจะขีดกระทั่งวงของคนที่เรารู้สึกว่าเราแคร์ เราจะมีชุมชนของคนที่เราขีดเส้นว่าอันนี้คือพวกเดียวกัน ก็กลายเป็นสังคมที่แบ่งระหว่างพวกเรากับพวกเขา อะไรที่ถ้าเป็นพวกเราทำ ก็คือถูกต้องทั้งหมด แต่อะไรที่พวกเขาทำ คือผิดทั้งหมด มันคือความรู้สึกแคร์และห่วงใยที่เรามีมันก็หดแคบลง ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นอาการที่วิกฤตที่สุด”

เมื่อถามถึงแนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรงในสังคมไทยอีกครั้ง ผศ.ดร.ประจักษ์กล่าวว่าอาจจะมีแนวโน้มได้ หากเราไม่ระมัดระวังมากพอ

“มันก็น่ากลัว ถ้าเราไม่ระมัดระวัง เพราะว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ได้ปลอดความรุนแรง เรามีความรุนแรงเกิดขึ้นตลอดในประวัติศาสตร์ แต่เรามักจะมีมายาคติว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่รักสงบ หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง คนไทยรักสามัคคีกัน ซึ่งมันทำให้เราไม่ยอมรับความจริง หรือถอดบทเรียน หรือศึกษาบทเรียนจากประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์มันก็เลยซ้ำรอยอยู่เสมอในสังคมไทย” ผศ.ดร.ประจักษ์กล่าว

ภาพภายในอนุสรณ์สถานเหตุการณ์กวางจูAFPภาพภายในอนุสรณ์สถานเหตุการณ์กวางจู

จะหยุดความรุนแรงได้อย่างไร

สำหรับการหยุดยั้งไม่ให้เกิดความรุนแรง ผศ.ดร.ประจักษ์กล่าวว่า วิธีง่ายๆ ที่สามารถทำได้ทันที คือการเสพสื่ออย่างมีสติ และรู้เท่าทันสื่อ โดยพิจารณาว่า ใครเป็นคนให้ข้อมูล ข้อมูลนี้ต่างจากข้อมูลจากแหล่งอื่นอย่างไร และใครได้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ ขณะเดียวกันก็ต้องตั้งสติก่อนที่จะแชร์ข่าวใดๆ โดยทบทวนตัวเองว่าเรากำลังจะเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็น Hate speech โดยไม่ได้กลั่นกรองก่อนหรือไม่ นอกจากนี้ ทั้งรัฐบาล สื่อ และประชาชน ก็ต้องมีส่วนร่วมในการสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลาย

“มันมีสโลแกนง่ายๆ สำหรับประเทศที่ผ่านเหตุการณ์นี้มา คือ Never Again คือเราต้องไม่ให้เกิดขึ้นอีก เราต้องหาทุกวิถีทางที่ป้องกัน ตั้งแต่การปฏิรูปตำรวจ ทหาร ปฏิรูปกลไกรัฐให้มีความเคารพสิทธิมนุษยชน ไปจนถึงการปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปสื่อ สร้างวัฒนธรรมให้คนถกเถียงกันอย่างสร้างสรรค์ได้ แม้เห็นต่างกัน แล้วไม่ว่าความรุนแรงจะเกิดขึ้นกับใคร ก็เป็นสิ่งที่ไม่สมควรและไม่ชอบธรรม คือตรงนี้มันเปลี่ยนโดยกฎหมายหรือโดยรัฐไม่ได้”

ตะกร้าดอกไม้พร้อมสโลแกน Never Again เนื่องในวันครบรอบ 25 ปี เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาAFPตะกร้าดอกไม้พร้อมสโลแกน Never Again เนื่องในวันครบรอบ 25 ปี เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา

ส่วน ผศ.ดร.บัณฑิตมองว่าความรุนแรงทางการเมืองนั้นเป็น “บทสนทนาที่ไม่รู้จบ” เพราะความรุนแรงไม่ใช่แค่การไล่ตีกัน ฝ่ายหนึ่งชนะ ฝ่ายหนึ่งแพ้ แล้วก็จบ แต่ยังมีผลที่ตามมาอีกมากมาย เพราะฉะนั้น เราจึงควรศึกษาความรุนแรงทางการเมืองในอดีต เพื่อเรียนรู้ ถอดบทเรียน และนำมาปรับใช้กับเหตุการณ์ปัจจุบัน เพื่อไม่ให้ความรุนแรงนั้นซ้ำรอยอีก

“ความรุนแรงมันไม่ได้จบเพียงแค่เอาเงินไปให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่มันต้องมีมูลนิธิ มีการศึกษา และมีการวิจัยอย่างเป็นระบบ แล้วก็ต้องมีการพูดถึงความทรงจำเหล่านี้ เพราะถ้าเราไม่เรียนรู้ มันก็จะเกิดซ้ำซาก แค่ถามคำถามพื้นๆ อย่าง สิ่งนั้นสิ่งนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้เกิดขึ้นได้เพราะอะไร ใครเป็นสาเหตุของความรุนแรง และผู้ที่เป็นต้นเหตุของความรุนแรงได้รับการลงโทษสมกับที่เขาทำกับคนร่วมสังคมหรือยัง แล้วเขาได้รับบทเรียนอะไร สังคมได้รับบทเรียนอะไร” ผศ.ดร.บัณฑิตกล่าว

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ประจักษ์ยังเสนอว่า การจะต่อสู้กับความรุนแรงทางการเมือง ต้อง “คืนความเป็นมนุษย์ให้กับตัวเองและคนอื่น”

“พอเราเห็นว่าคนอื่นต่างจากเราหรือไม่ใช่มนุษย์ที่เท่าเทียมกับเรา เราก็ไม่แคร์เขา กระทั่งสะใจ สนับสนุนให้เกิดความรุนแรง จะสู้กับสิ่งเหล่านี้เราต้องคืนความเป็นมนุษย์ ต้องเห็นความเป็นมนุษย์ของคนอื่นที่ต่างจากเรา แล้วพอเราทำแบบนั้น เราก็คืนความเป็นมนุษย์ให้ตัวเราเองด้วย เพราะส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ก็คือความเอื้ออาทร ความรู้จักที่จะเห็นใจผู้อื่นได้ รักผู้อื่นได้ การที่เราไปสะใจ ไปลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนอื่น เราก็ทำลายด้านที่เป็นมนุษย์ของเราเองด้วยโดยไม่รู้ตัว”

ด้าน ผศ.ดร.บัณฑิตเชื่อว่าในสังคมที่มีความหลากหลายอย่างประเทศไทย การถกเถียงกันด้วยเหตุผลจะช่วยลดความรุนแรงได้

“ผมว่าเราทะเลาะกันได้นะ ทะเลาะกันว่าถนนเส้นนี้ควรสร้างหรือไม่ควรสร้าง นโยบายนี้รัฐบาลดีหรือไม่ดี เราไม่ควรต้องตัดสินหรือเอาชนะกันด้วยอาวุธหรือเสียงของความรุนแรง แต่เราต้องใช้เหตุผล อันนี้จะช่วยลดความรุนแรงได้มาก และอย่าเห็นต่างทางการเมืองจนสูญเสียความเป็นมนุษย์ นี่คือประเด็นที่ใหญ่มากๆ ไม่ว่าฝ่ายตรงข้ามกับเราเขาจะมีความเห็นอย่างไร เราก็ไม่มีสิทธิ์ไปบอกว่าคุณไม่ใช่คนและฉันฆ่าคุณได้” ผศ.ดร.บัณฑิตสรุป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ