ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (11 ส.ค. 64) พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ อดีตผู้บังคับการกองปราบปรามแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ต่อการบริหารจัดการผู้ชุมนุมช่วงที่ผ่านมาว่า หลังได้เห็นคลิปวิดีโอ ตำรวจกองกำลังควบคุมฝูงชน (คฝ.) กรูกันเข้ารุมกระทืบประชาชนมือเปล่าแล้วรับไม่ได้จริงๆ และ อีกคลิปที่ตะโกนสั่งด้วยอารมณ์เดือดดาลให้นักข่าวมาเก็บภาพตำรวจที่โดนยิงอ้างว่าประชาชนทำนั้นแย่มาก สื่อมวลชนทำหน้าที่ของเขาตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ ต้องไม่ก้าวก่ายกัน ถามตัวเองก่อน เราตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตามจริยธรรมตำรวจ ตามหลักสากลที่นานาอารยประเทศเขาทำกันแล้วหรือยัง
นอกจากนี้ อดีตผู้บังคับการกองปราบปราม ยังระบุว่า การชุมนุม ถือเป็นสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ และการชุมนุมที่กระทำโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ยิ่งย่อมเป็นสิทธิอันพึงมีของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ไม่มีกฎหมายใดที่จะมาห้ามการชุมนุมดังกล่าว ถึงแม้รัฐเองจะอ้าง ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ.ใดๆ ก็ตาม แต่รัฐจะต้องใช้ในการควบคุมเท่านั้นมิใช่ใช้ในการปราบปราม ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับผิดชอบ จะต้องอำนวยความสะดวก และจัดให้มีพื้นที่การชุมนุม ตามที่ผู้ชุมนุมร้องขอ จากเหตุการณ์หรือคำร้องต่างๆ ซึ่งความผิดถ้าจะมี ก็คือต้องเกิดจากการที่การชุมนุมนั้นไม่เป็นอย่างที่ขอ
“แต่ในการชุมนุม 2 ครั้งล่าสุด เรากลับพบว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้มาตรการหนัก ห้ามไม่ให้เกิดการชุมนุมโดยเด็ดขาด กองกำลังควบคุมฝูงชนของรัฐได้ใช้ยุทธวิธีตำรวจเปิดฉากปิดและยึดคืนพื้นที่จากผู้ชุมนุมด้วยเครื่องไม้เครื่องมือสารพัด ยิ่งในการสลายผู้ชุมนุม ก็มีอาวุธปืนลูกยาง ปืนยิงแก๊สน้ำตา ซึ่งใช้อย่างผิดหลักสากล มิหนำซ้ำยังเปิดฝ่ายเปิดฉากยั่วยุให้มวลชนปะทะ นี่คือความผิดพลาดอย่างยิ่งของการทำหน้าที่ตำรวจ
“เท่าที่ติดตามการชุมนุม ผมได้พบว่า ตำรวจจะทำเพียงการประกาศเตือนว่าผู้ชุมนุมได้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายและจะมีการปราบปรามจับกุม จากนั้นก็เริ่มปฏิบัติการทันที โดยที่มิได้มีการเข้าเจรจาพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุมในรูปแบบอื่น กรณีดังกล่าวนี้ ในฐานะที่เคยเป็นทั้งผู้ปฏิบัติและผู้ควบคุมฝูงชนมาก่อน ตลอดจนเคยเป็นผู้ฝึกสอนในวิชาดังกล่าวด้วย เห็นว่าเป็นการลัดขั้นตอนการปฏิบัติของชุดควบคุมฝูงชน มิได้ดำเนินการจากเบาไปสู่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง อันน่าจะขัดต่อหลักการสากล ตลอดจนในเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย”
พล.ต.ต.สุพิศาล ระบุอีกว่า การชุมนุมโดยปราศจากอาวุธคือหลักการพื้นฐานที่ทั่วทั้งโลกมีให้การรับรอง และประชาชนผู้มาชุมนุมนั้นบริสุทธิ์ เป็นผู้ทรงสิทธิ นี่คือหลักแรกที่รัฐจะต้องเข้าใจและบริการอำนวยการจัดการ หากรัฐบาลจะยังใช้อำนาจในการจัดการกับการชุมนุมที่เห็นต่างและทุกข์ร้อนจากการบริหารจัดการของรัฐ ตำรวจควรจะต้องดูแลผู้ชุมนุมเพื่อตอบสนองความต้องการในข้อเรียกร้องและมีการเจรจาเท่านั้น แต่ที่ผ่านมามิได้กระทำตามตามนั้น เช่นที่ปรากฏ ทั้ง 2 ครั้ง กลับใช้ความรุนแรงด้วยการมีอาวุธและยุทโธปกรณ์ที่เหนือกว่าเข้าปราบปรามโดยอ้างว่าชอบธรรม และเหตุเช่นนี้เองที่จะทำให้ผู้ชุมนุมซึ่งมาด้วยความบริสุทธิ์ระบายอารมณ์ และทำลายทรัพย์สินของทางราชการ ดังที่ปรากฏ เช่น ป้ายสีชื่อองค์กร การเผาตู้ยาม และอาจจะถึงการเผาสถานีตำรวจอย่างเช่นในอดีตที่ผ่านมา และอันนี้ถือได้ว่า เป็นการทำลายประเทศชาติด้วยน้ำมือของรัฐบาลเองใช่หรือไม่
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์เผาทรัพย์สินของทางราชการที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลเองโดยเฉพาะกองบัญชาการตำรวจนครบาล ควรจะดำเนินการสืบสวนให้ได้ความแน่ชัด ว่ากลุ่มผู้กระทำผิดดังกล่าวเป็นใครกันแน่ เพราะการเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ มิใช่เกิดขึ้นโดยบังเอิญอย่างแน่นอน จากประสบการณ์ที่ผ่านมา สามารถเรียนรู้ได้ว่า ผู้กระทำการที่อยู่เบื้องหลังของเหตุการณ์ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์จะให้เกิดเหตุการณ์อย่างไรเกิดขึ้น นี่ยังไม่นับการตอบโต้กลับของผู้ชุมนุมจากการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ดังที่กล่าวมาแล้ว และในการหากลุ่มผู้กระทำผิดก็ต้องแยกให้ชัดในสองเหตุนี้ด้วย
“ในฐานะอดีตข้าราชการตำรวจผู้เคยปฏิบัติงาน เห็นว่าจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ตอนนี้ ถึงเวลาแล้วที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ควรที่จะทบทวนการทำงานให้เป็นไปด้วยหลักการสากล การใช้ข้อกฏหมายระเบียบที่ชอบด้วยกฏหมาย หลักสิทธิมนุษยชนรวมถึงมนุษยธรรม โดยต้องเจรจาก่อนเป็นสำคัญ จะได้รู้ความต้องการของประชาชน อันเป็นผู้ทรงสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องบริการ
“ถึงเวลาแล้วที่ต้องปฏิรูปตำรวจขนานใหญ่ ให้เป็นตำรวจที่มีหัวใจประชาธิปไตย อำนวยความสะดวกให้ประชาชน มิใช่ขัดขวางสิทธิที่ประชาชนมี อย่างการปราบปราม จับกุม ใช้กฎหมายสารพัดจัดการเหมือนเห็นประชาชนเป็นศัตรูแบบที่ทำอยู่ในเวลานี้ เกียรติยศศักดิ์ศรีของตำรวจควรได้รับการฟื้นฟู ออกมาเดินดู มารับฟังประชาชนบ้างว่า วันนี้ ประชาชนเขามอง เขารู้สึกอย่างไรกับตำรวจ” พล.ต.ต.สุพิศาล ระบุ