ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 31 ) ระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไป เป็นคราวที่ 13 จนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2564 นั้น
โดยที่ได้มีการออกข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 29) ลงวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2564 แต่ต่อมา ศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้ระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) เห็นว่า แม้จะเป็นคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามคำขอในเหตุฉุกเฉินซึ่งศาล ยังไม่ได้กำหนดวันนัดเพื่อส่งหมายเรียก และสำเนาคำฟ้องให้คู่ความ เพราะอยู่ระหว่างการแพร่ระบาดของโรคซึ่งทวีความรุนแรงขึ้น และคู่ความอาจยื่นคำขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งนั้นได้ตามมาตรา 267 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่เมื่อปรากฎว่าในทางปฏิบัติยังไม่ได้บังคับใช้ข้อกำหนดนั้นแก่กรณีใดและเจ้าหน้าที่อาจนำมาตรการทางกฎหมายอื่นมาบังคับใช้ได้ตามที่ศาลกล่าวถึง
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดให้ยกเลิกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) ลงวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป