นักวิชาการดังจุฬาฯ ไม่เชื่อว่า พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดฯ จะมีความจำเป็นในเวลานี้ ระบุหากประกาศใช้จริง อาจไม่เข้าเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172
เมื่อคืนนี้ (9 ส.ค.) ผศ.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นในเชิงข้อกฎหมายเกี่ยวกับกระแสข่าวที่ภาครัฐเตรียมออกพระราชกำหนดจำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
“ในความเห็นของผม แน่นอนว่า นอกจาก ข้อ 7 ซึ่งสามารถสะท้อนให้ได้ว่า ผู้เสนอร่างกฎหมาย “มีเจตนาเช่นไร” แล้ว ร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้ หากมีการประกาศใช้จริง อาจมีประเด็นของการไม่เข้าเกณฑ์ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ม.172 ด้วย
กล่าวคือ ม.172 กำหนดเงื่อนไขสำหรับ ครม. ในการออก พ.ร.ก.ไว้โดยสรุปอย่างน้อย 2 ประการได้แก่
1. ต้องเป็นกรณีจำเป็นฉุกเฉินเร่งด่วนและหลีกเลี่ยงไม่ได้
“และ”
2. เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ
คำถามคือ ร่าง พ.ร.ก. ที่กำลังจะนำเสนอฉบันนี้เข้าเกณฑ์ทั้ง 2 ข้อหรือไม่ หากถามผมๆ เห็นว่าไม่เข้าเกณฑ์ครับ เพราะไม่ใช่กรณีที่มีความจำเป็นฉุกเฉินถึงขนาดหลีกเลี่ยงไม่ได้ขนาดนั้น และ เนื้อหาสาระของ ร่าง พ.ร.ก. ฉบับนี้ (ทุกข้อ รวมถึงข้อ 7 ด้วย) ก็ไม่ได้ชี้ให้เห็นได้ถึงขนาดว่าออกมาเพื่อรักษาความปลอดภัยสาธารณะอย่างชัดเจน
ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลที่จะเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ในรูปแบบของ พ.ร.ก. เพราะเป็นการไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้ พ.ร.ก. เป็นเครื่องมือ (กฎหมาย) ของรัฐบาลที่จะใช้ในกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนมากจริงๆ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว ผมเห็นว่า ขณะนี้รัฐบาลเองก็มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใช้อยู่แล้ว ซึ่งก็มีโครงสร้างของบทคุ้มครองความผิดเจ้าหน้าที่ๆ ปฏิบัติทำนองเดียวกัน เหตุใดถึงต้องเสนอกฎหมายฉบับนี้?
อย่างไรก็ดี หากยังคงยืนยันว่าต้องการออกกฎหมายฉบับนี้จริง รัฐบาลก็พึงต้องเสนออยู่ในรูปแบบของกฎหมายปกติอย่าง พ.ร.บ. ที่ต้องผ่านการพิจารณาตรวจสอบของรัฐสภาตามกระบวนการต่อไปครับ
อนึ่ง ขอย้ำอีกครั้งว่าโดยส่วนตัว ไม่เห็นถึงความจำเป็นในการออกกฎหมายฉบับนี้ครับ”
ทั้งนี้ การแสดงความคิดเห็นของนักวิชาการด้านกฎหมายจากจุฬาฯ ดังกล่าว เป็นหนึ่งในเสียงสะท้อนจากอีกหลายๆ เสียงที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะออก พ.ร.ก. จำกัดความรับผิดฯ เนื่องจากไม่เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วน รวมทั้งขณะนี้ยังอยู่ในช่วงเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญซึ่งสามารถนำร่างกฎหมายฉบับนี้ไปพิจารณาในรูปแบบ พ.ร.บ. ได้
ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง บุคคลที่เกี่ยวข้องในภาครัฐต่างออกมากล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าการออก พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไม่ให้ต้องมากังวลกับการจะถูกฟ้องร้องในอนาคต
- สธ.ยันออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดฯ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้บุคลากรแพทย์
- “อนุทิน” โต้ปมนิรโทษฯ แค่สร้างความมั่นใจให้หมอ แต่ไม่ตอบเรื่องป้ายมอบ “ไฟเซอร์”