ศาลนัดฟังคำสั่งขอคุ้มครองชั่วคราว "คดีเพิกถอนปิดปากสื่อ" 6 ส.ค.นี้

Home » ศาลนัดฟังคำสั่งขอคุ้มครองชั่วคราว "คดีเพิกถอนปิดปากสื่อ" 6 ส.ค.นี้
ศาลนัดฟังคำสั่งขอคุ้มครองชั่วคราว "คดีเพิกถอนปิดปากสื่อ" 6 ส.ค.นี้

สรุปคำฟ้องคดีเพิกถอนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 29)

วันนี้ (2 สิงหาคม 2564) เวลา 10.00 น. ณ ศาลแพ่งรัชดา สื่อมวลชนและประชาชน นำโดย The Reporters, Voice, The Standard, The Momentum, THE MATTER, ประชาไท, Dem All, The People, way magazine, echo, PLUS SEVEN และประชาชนเบียร์ พร้อมทีมทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รวมตัวยื่นฟ้อง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เป็นคดีเลขที่ พ.3618/2564 กรณีออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ที่มีเนื้อหาห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มี “ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวเป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หลายประการ กล่าวคือ

ข้อกำหนดคลุมเครือ ขัดต่อหลัก “ไม่มีกฎหมาย ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ”

ข้อกำหนดดังกล่าวมีลักษณะคลุมเครือ ไม่ชัดเจน วิญญูชนหรือบุคคลทั่วไปไม่อาจคาดหมายได้ว่า ข้อความใด “อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” โดยบทบัญญัติที่ “คลุมเครือ” และ “มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจง” ถึงขนาดที่วิญญูชนไม่อาจรู้และเข้าใจได้ว่า ข้อความใดสามารถเผยแพร่ได้ ข้อความใดไม่อาจเผยแพร่ได้ ขัดต่อหลัก “ไม่มีกฎหมาย ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ” (No crime nor punishment without law) ทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 26 กำหนดว่า “การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม” และมาตรา 29 กำหนดว่า “บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้……”

จำกัดสิทธิเกินเหตุ ไม่จำเป็น และไม่ได้สัดส่วน ขัดเสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ

การห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มี “ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” เป็นการจำกัดสิทธิที่เกินกว่าเหตุ ไม่จำเป็นและไม่ได้สัดส่วน และขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 มาตรา 35 และมาตรา 36 ประกอบมาตรา 26 กล่าวคือ รัฐธรรมนูญ มาตรา 34 ได้รับรองไว้ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น….” “มาตรา 35 บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ” และ “มาตรา 36 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกันไม่ว่าในทางใด ๆ” การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยหลักนิติธรรม หลักความได้สัดส่วนพอสมควรแก่เหตุไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 26

ไม่มีกฎหมายให้อำนาจออกข้อกำหนด “ตัดเน็ต” หรือยับยั้งการสื่อสาร

พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 ไม่ปรากฏว่ามีข้อความใดให้อำนาจนายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดหรือประกาศให้เจ้าพนักงานสั่งระงับหรือยับยั้งการติดต่อหรือการสื่อสาร และออกข้อกำหนดสั่งให้ระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ต ข้อกำหนด ฉบับที่ 29 ข้อ 2 ซึ่งกำหนดให้สำนักงาน กสทช. แจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตให้บริการอินเตอร์เน็ตตรวจสอบ IP address และให้แจ้งสำนักงาน กสทช. ทราบ และให้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ไอพี (IP Address) นั้นทันทีจึงเป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ออกโดยไม่มีฐานทางกฎหมายให้อำนาจ ออกโดยกฎหมายแม่บทไม่ได้ให้อำนาจไว้ อีกทั้งการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่รัฐธรรมนูญรับรองต้องเป็นไปตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญโดยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะจำกัดได้ก็โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติหรือเทียบเท่า ตามมาตรา 34 และต้องเป็นไปตามมาตรา 26 การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรมไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ

นอกจากนั้น การระงับการใช้งานอินเทอร์เน็ตโดยพิจารณาเพียงหมายเลข IP Address ถือเป็นมาตรการที่ไม่เหมาะสมอาจสร้างผลกระทบได้มาก ไม่สามารถสัมฤทธิ์ผลตามที่กล่าวอ้างเป็นเหตุในการออกข้อกำหนดได้และไม่สามารถบรรลุผลได้จริงในทางปฏิบัติ ไม่ชอบด้วยหลักความได้สัดส่วนพอสมควรแก่เหตุ

ออกข้อกำหนดซ้ำซ้อน เกินความจำเป็น

สามารถใช้กฎหมายฉบับอื่นหรือกลไกอื่นที่มีอยู่แล้วดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กล่าวอ้างเป็นเหตุในการออกข้อกำหนด ฉบับที่ 29 ข้อ 2 ได้ เช่น กรณีมีการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงของปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน หรือนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมาย ก็สามารถดำเนินตามมาตรา 14 แห่งพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้ โดยไม่มีความจำเป็นใดจะต้องออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ขึ้นมาซ้ำซ้อนเกินความจำเป็น จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินสมควร

เป็นการแทรกแซงองค์กรอิสระ ขัดต่อหน้าที่รัฐตามรัฐธรรมนูญ

การกำหนดให้สำนักงาน กสทช. แจ้งผู้รับใบอนุญาตให้บริการอินเตอร์เน็ตตรวจสอบ IP Address และระงับการให้บริการนั้นเป็นการแทรกแซงองค์กรอิสระ ขัดต่อหลักนิติธรรม และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 60 วรรคสาม กำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีองค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ รวมตลอดทั้งป้องกันการกระทำที่มีผลเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้ หรือปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลหรือข่าวาสารที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของประชาชน

และป้องกันมิให้บุคคล หรือกลุ่มบุคคลใดใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของประชาชนทั่วไป ดังนั้นรัฐจึงตั้ง กสทช. ให้เป็นองค์กรอิสระไม่อยู่ใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ รวมถึงกิจการโทรคมนาคมในการให้ใบอนุญาตให้บริการอินเตอร์เน็ต ดังนั้นการกำหนดมาตรการตามข้อกำหนด ฉบับที่ 29 ข้อ 2 จึงเป็นการแทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระ และกลายเป็นรัฐที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอันขัดต่อหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญด้วย

รัฐธรรมนูญรับรอง จะปิดกั้นเสรีภาพสื่อไม่ได้

รัฐธรรมนูญ มาตรา 34 มาตรา 35 และมาตรา 36 ได้บัญญัติคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารของสื่อ รับรองไว้ด้วยว่าการสั่งปิดกิจการหรือหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้ และเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารระหว่างกันไม่ว่าในทางใด ๆ การจำกัดสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จึงต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่เกินสมควรแก่เหตุชอบด้วยหลักความได้สัดส่วน และหลักนิติธรรม รัฐจะมีอำนาจจำกัดเสรีภาพดังกล่าวหรือไม่จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดอย่างยิ่ง การปิดกั้นหรือลบข้อมูลหรือปิดกั้นการสื่อสารที่เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกหรือเสรีภาพในการสื่อสารระหว่างกัน จึงควรจำกัดได้เพียงแค่เฉพาะเนื้อหาข้อความที่เป็นความผิดหรือขัดต่อกฎหมายเป็นรายข้อความเท่านั้น

จากการใช้อำนาจในลักษณะดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการนำเสนอข่าวของสื่อ และเสรีภาพในการสื่อสารลงโดยสิ้นเชิง อันเป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐบาลสามารถมีอำนาจเด็ดขาดเหนือการควบคุมใด ๆ และสามารถจำกัดการสื่อสารของประชาชน สื่อมวลชนและประชาชนจึงรวมตัวกันฟ้องคดีนี้เพื่อให้ศาลยุติธรรมดำเนินกระบวนการพิจารณาตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร โดยมีคำสั่งเพิกถอนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ (ฉบับที่ 29) ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ทันที เพื่อให้สอดคล้องกับเจตจำนงของประชาชน ดำรงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ นิติธรรม อันเป็นหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย

โดยคดีนี้ได้ยื่นคำขอคุ้มครองชั่วคราวเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน เพื่อประโยชน์สาธารณะ และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอีกด้วย

ทั้งนี้ ศาลแพ่งรับฟ้องเป็นคดีดำที่ พ.3618/64 และไต่สวนฉุกเฉิน โดยนัดฟังคำสั่งในวันที่ 6 ส.ค. เวลา 13.30 น.

  • นายกฯ เซ็นคำสั่งจัดโครงสร้าง ศบค. ให้เลขาฯ กสทช. นั่งหัวหน้าศูนย์สื่อสารในอินเทอร์เน็ต

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ