
เมื่อไม่นานมานี้ กลุ่มนักวิจัยชาวจีนค้นพบไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ในค้างคาว ที่อาจแพร่สู่มนุษย์ได้ในลักษณะเดียวกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19
ตามรายงานของ South China Morning Post (SCMP) งานวิจัยนี้นำโดย ศาสตราจารย์สือเจิ้งลี่ (Shi Zhengli) นักไวรัสวิทยาชั้นนำของจีน ซึ่งมีฉายาว่า Bat Woman) เนื่องจากเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสโคโรนาในค้างคาวจาก สถาบันไวรัสวิทยาหวู่ฮั่น
ค้นพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่จากค้างคาว
การศึกษานี้ดำเนินการที่ ห้องปฏิบัติการกว่างโจว โดยได้รับความร่วมมือจาก สถาบันวิทยาศาสตร์กว่างโจว มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น และสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น
ทีมนักวิจัยพบว่าไวรัสใหม่นี้เป็น สาขาหนึ่งของเชื้อไวรัส HKU5 ซึ่งถูกค้นพบครั้งแรกในค้างคาวญี่ปุ่นที่ ฮ่องกง ไวรัส HKU5 จัดอยู่ในกลุ่ม Merbecovirus ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับไวรัสที่ก่อให้เกิด โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS)
ที่สำคัญ ผลการศึกษาล่าสุดพบว่า ไวรัสที่ค้นพบใหม่นี้สามารถจับกับตัวรับ ACE2 ได้ ซึ่งเป็นกลไกเดียวกับที่ไวรัส SARS-CoV-2 (โควิด-19) ใช้ในการเข้าสู่เซลล์มนุษย์
ความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด
ทีมวิจัยระบุว่า พวกเขาค้นพบและแยกเชื้อไวรัส HKU5-CoV สายพันธุ์ใหม่ (สายพันธุ์ 2) ออกมาได้ และพบว่าไวรัสนี้ สามารถใช้ตัวรับ ACE2 ไม่เพียงแต่ในค้างคาวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด
รายงานระบุว่า เมื่อแยกไวรัสนี้จากตัวอย่างค้างคาวแล้ว ไวรัสสามารถเข้าสู่เซลล์มนุษย์ได้ รวมถึงสามารถติดเชื้อใน เนื้อเยื่อสังเคราะห์ที่เลียนแบบระบบทางเดินหายใจและลำไส้ของมนุษย์
นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า ไวรัส Merbecovirus จากค้างคาวมีความเสี่ยงสูงในการแพร่เชื้อสู่มนุษย์ ผ่านการติดต่อโดยตรงหรือผ่านสัตว์ตัวกลาง
อย่างไรก็ตาม รายงานยังระบุว่า แม้ไวรัสนี้มี ศักยภาพในการก่อโรคระบาด แต่ขณะนี้ยังไม่มีเหตุให้ต้องวิตกกังวลมากนัก เนื่องจากประสิทธิภาพในการแพร่เชื้อของไวรัสนี้ ยังต่ำกว่าโควิด-19 อย่างมาก
WHO เตือนโรคปริศนาในคองโก
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับ โรคใหม่ที่ยังไม่สามารถระบุได้ ซึ่งเกิดขึ้นทางตะวันตกเฉียงเหนือของ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กำลังเผชิญกับ วิกฤตด้านสาธารณสุขและมนุษยธรรม
รายงานของ WHO ระบุว่า มีการพบกลุ่มผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคปริศนาในสองพื้นที่ทางการแพทย์ของจังหวัด Equateur ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ มีรายงานผู้ป่วย 431 ราย และผู้เสียชีวิต 45 ราย
ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยาระหว่างผู้ป่วยในสองพื้นที่ได้ WHO กำลังพิจารณาสาเหตุต่าง ๆ เช่น มาลาเรีย ไข้เลือดออกจากไวรัส การติดเชื้อจากอาหารหรือน้ำปนเปื้อน ไข้ไทฟอยด์ และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ แต่จากการตรวจวิเคราะห์พบว่า ไม่ใช่เชื้อไวรัสอีโบลาและมาร์บวร์ก