![รู้หรือไม่? วันมาฆบูชา ถูกประกาศเป็น "วันกตัญญูแห่งชาติ" หวังล้างค่านิยมเสียตัววันวาเลนไทน์ รู้หรือไม่? วันมาฆบูชา ถูกประกาศเป็น "วันกตัญญูแห่งชาติ" หวังล้างค่านิยมเสียตัววันวาเลนไทน์](https://s.isanook.com/ns/0/ud/1944/9721010/new-thumbnail1200x720-2025-.jpg?ip/crop/w1200h700/q80/jpg)
รู้หรือไม่? วันมาฆบูชา ถูกประกาศเป็น “วันกตัญญูแห่งชาติ” ตั้งแต่ปี 2549 หวังล้างค่านิยมเสียตัววันวาเลนไทน์
วันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของประชาชนชาวไทยและเป็นวันหยุดราชการ โดยเป็นวันที่พระภิกษุ 1,250 รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย เดิมเรียกวันมาฆบูชาว่า วันมาฆปุณณมี หมายถึง วันที่พระจันทร์เพ็ญเต็มดวงในเดือนมาฆะ
ส่วน มาฆบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนมาฆะ คือ วันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งวันมาฆบูชานี้ เราทราบกันว่า เป็นวันที่พระภิกษุ 1250 รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย และมีเหตุอัศจรรย์พร้อมกัน 4 ประการ เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต การประชุมพร้อมกันด้วย องค์ 4 และในวันนี้ พระพุทธเจ้าทรงกระทำวิสุทธิอุโบสถ ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเราถือกันว่า เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา
สำหรับปีนี้ วันมาฆบูชา 2568 จะตรงกับวันพุธ ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568
วันมาฆบูชาในประเทศไทย
เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เริ่มต้นขึ้นจากภายในพระบรมมหาราชวังก่อน มีพิธีการพระราชกุศลในเวลาเช้า ส่วนเวลาค่ำเสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่อง มนัสการแล้ว พระสงฆ์สวดทำวัตรเย็นเสร็จแล้ว สวดมนต์ต่อไปมีสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ด้วย สวดมนต์จบทรงจุดเทียนรายตามราวรอบ พระอุโบสถ ๑,๒๕๐ เล่ม มีการประโคมอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงมีการเทศนา โอวาทปาติโมกข์ 1 กัณฑ์เป็นทั้งเทศนาภาษาบาลี และภาษาไทย เทศนาจบ พระสงฆ์สวดรับการประกอบพระราชกุศลเกี่ยวกับวันมาฆบูชา
ต่อมาพิธีก็ได้ขยายออกไป ให้พุทธบริษัทได้ปฏิบัติตามอย่างเป็นระบบเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน มีการบูชา ด้วยการเวียนเทียน และบำเพ็ญกุศลต่างๆ
วันกตัญญูแห่งชาติ
ในปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของวันมาฆบูชา โดยถือว่าเหตุการณ์สำคัญที่เหล่าพระสาวกทั้ง 1,250 รูป ได้กลับมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยความรักในพระองค์หลังจากได้ออกไปเผยแพร่พระศาสนาโดยมิได้นัดหมายดังกล่าวเป็นสิ่งที่แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีอันบริสุทธิ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาในปฏิทินจันทรคติในวันเพ็ญเดือนสาม มักจะตกใกล้กับช่วงเทศกาลวาเลนไทน์
ซึ่งวัยรุ่นไทยบางกลุ่มมักยึดถือคติค่านิยมวันแห่งความรักในวันวาเลนไทน์ผิด ๆ โดยนิยมยึดถือกันว่าเป็นวันแห่งความรักของคนหนุ่มสาว หรือแม้กระทั่งถือว่าเป็น “วันเสียตัวแห่งชาติ” ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่านิยมทางจริยธรรมและศีลธรรมของวัยรุ่นไทย รัฐบาลไทยในสมัยนั้นจึงได้ประกาศให้วันมาฆบูชาเป็นวันกตัญญูแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมค่านิยมที่เหมาะสมแก่วัยรุ่นไทย ให้หันมาสนใจกับความรักอันบริสุทธิ์ที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน แทนที่จะไปมัวเมากับความรักใคร่ชู้สาวหรือเรื่องฉาบฉวยทางเพศของหนุ่มสาว อันจะก่อให้เกิดปัญหาแก่สังคมตามมา
การผลักดันให้มีวันกตัญญูแห่งชาติมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2546 เคยมีการตั้งกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎรให้พิจารณากำหนดให้มีวันกตัญญูแห่งชาติ แต่ถูกปฏิเสธจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยอ้างว่า ในประเทศไทยมีวันสำคัญแห่งชาติที่เกี่ยวกับการแสดงความกตัญญูมากพอแล้ว ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 นักพูดชื่อดังหลายคน เช่น ดร.ผาณิต กันตามระ นายสุรวงศ์ วัฒนกุล ดร.อภิชาติ ดำดี นายเฉลิมชัย จารุไพบูลย์ ดร.โอภาส กิจกำแหง และนายถาวร โชติชื่น ได้ร่วมกันทำหนังสือถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติขอให้ส่งเสริมให้วันมาฆบูชาเป็นวันกตัญญูแห่งชาติอีกวันหนึ่งด้วย และได้รับการตอบรับจากผู้เกี่ยวข้อง
วันกตัญญูแห่งชาตินี้ นอกจากเพื่อแสดงออกถึงวันแห่งความรักอันบริสุทธิ์ของชาวพุทธแล้ว ยังเพื่อส่งเสริมค่านิยมให้คนไทยยึดถือความกตัญญู โดยอาจมีการพูดคุย ส่งบัตรอวยพร มอบของขวัญหรือช่อดอกไม้แก่ผู้มีพระคุณ เป็นการแสดงความระลึกถึงพระคุณด้วยความหวังดีของผู้ให้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ การแสดงออกซึ่งน้ำใจหรือคำพูดก็ตาม