!["กฎมัสต์แครี่ (Must Carry)" คืออะไร ทำไมเป็นเหตุให้ศาลสั่งจำคุก "พิรงรอง" 2 ปีไม่รอลงอาญา "กฎมัสต์แครี่ (Must Carry)" คืออะไร ทำไมเป็นเหตุให้ศาลสั่งจำคุก "พิรงรอง" 2 ปีไม่รอลงอาญา](https://s.isanook.com/ns/0/ud/1943/9718546/new-thumbnail1200x720.jpg?ip/crop/w1200h700/q80/jpg)
เป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนในสังคม ณ ขณะนี้ สำหรับกรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา “ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต” คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หลังออกหนังสือเตือนการโฆษณาแทรกในรายการที่เผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ “ทรูไอดี (TrueID)” ระบุให้ผู้บริการแพลตฟอร์มโทรทัศน์ปฏิิบัติตาม “กฎมัสต์แครี่ (Must Carry)“
- ประวัติ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต หญิงแกร่งใน กสทช.ผู้เคยคัดค้านการควบรวมค่ายมือถือ
แล้วกฎมัสต์แครี่ (Must Carry) ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่ในตอนนี้คืออะไร มีความสำคัญกับผู้บริโภคมากแค่ไหน Sanook ขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกฎนี้ของ กสทช. กัน
กฎมัสต์แครี่ (Must Carry) คืออะไร
กฎมัสต์แครี่ (Must Carry) ถูกกำหนดใช้หลังจากประเทศไทยเปลี่ยนการออกอากาศวิทยุโทรทัศน์จากระบบทีวีแอนะล็อกมาสู่ระบบทีวีดิจิทัล และเป็นการกำกับดูแลของ กสทช. ที่ได้ออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลได้อย่างเท่าถึง โดยกฎมัสต์แครี่ (Must Carry) มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการก็คือ “ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป พ.ศ.2555”
สาระสำคัญของกฎมัสต์แครี่คือการกำหนดให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโทรทัศน์ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. สามารถนำช่องฟรีทีวีไปออกอากาศได้ในทุกช่องทาง โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ต้องออกอากาศต่อเนื่องตามผังรายการของแต่ละสถานี ไม่มีการเกิดจอดำหรือโฆษณาในบางรายการ และไม่สามารถดัดแปลงหรือทำซ้ำได้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและเนื้อหาสำคัญได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง
อย่างไรก็ตาม แม้กฎมัสต์แครี่จะมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเนื้อหาข้อมูลที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันได้อย่างเท่าเทียม สนับสนุนความหลากหลายของสื่อ ขณะเดียวกันก็ป้องกันการผูกขาดจากผู้ให้บริการโทรทัศน์ แต่ก็มีข้อถกเถียงและมีปัญหาหลายประการในการบังคับใช้ เช่น กรณีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2565 ที่ประเทศกาตาร์ และข้อจำกัดเรื่องสัญญาณโทรทัศน์ในพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น