เรื่องเล่าแดนประหารไต้หวัน เจ้าหน้าที่ “เหยียบหลังนักโทษ” หลังยิงเป้า เค้นลมหายใจสุดท้าย นักข่าวอาวุโสเปิดความลี้ลับ
จากกรณีนักโทษประหารชีวิต หวงหลินไค่ ถูกประหารชีวิตในวันที่ 16 มกราคม 2568 ซึ่งนับเป็นนักโทษประหารรายแรกในยุคของประธานาธิบดีไลชิงเต๋อ การประหารครั้งนี้จุดประเด็นถกเถียงในสังคมอย่างกว้างขวาง
รายงานข่าวระบุว่า มีกำหนดการประหารชีวิตในเวลา 21.00 น. แต่เกิดความล่าช้าประมาณ 1 ชั่วโมง จนกระทั่งเริ่มการประหารในเวลา 22.02 น. โดยก่อนหน้านั้นเขาถูกฉีดยา 2 เข็มจนหมดสติ แพทย์ยืนยันการเสียชีวิตในเวลา 22.23 น. และนำร่างของเขาส่งถึงสถานเก็บศพหลัง 23.00 น.
สำหรับเหตุผลที่ต้องฉีดยาถึง 2 เข็มนั้น ดร.เกา ต้าฉิง วิเคราะห์ว่า อาจเกิดจากความเครียดและความกระวนกระวายของนักโทษ จึงฉีดยาระงับประสาทก่อน 1 เข็ม ตามด้วยยาชา หรืออาจเกิดจากการที่เข็มแรกไม่ได้ฉีดเข้าเส้นเลือด จึงต้องฉีดเข็มที่สองซ้ำอีกครั้ง
อดีตเจ้าหน้าที่ศาลอาวุโส เฉินจื้อหมิง กล่าวว่า หลังการประหารเสร็จสิ้น จะมีเจ้าหน้าที่ 2-3 คนเหยียบหลังของผู้ถูกประหาร เพื่อช่วยเค้นให้ลมหายใจสุดท้ายออกมา
เฉินจื้อหมิง กล่าวในรายการ 57爆新聞 ว่า เขาเองก็สงสัยในครั้งแรกที่ไปยังลานประหารว่าทำไมต้องเหยียบหลังนักโทษ จึงถามรุ่นพี่และได้รับคำตอบว่า หากลมหายใจสุดท้ายยังไม่ออก จะส่งผลต่อเวลาที่ชีวิตสิ้นสุด หากช่วยกันเหยียบเพื่อให้ลมหายใจออก นักโทษก็จะเสียชีวิตได้อย่างราบรื่นมากขึ้น
เกี่ยวกับเรื่องเล่าที่มีการใส่เงิน 1,000 หยวน ในเหล็กตรวน เฉินจื้อหมิงอธิบายว่า ก่อนที่นักโทษประหารจะถูกนำตัวไป ยังมีการใช้ซองอั่งเปาใส่เงิน 1,000 หยวน ที่ม้วนเป็นเส้นเล็กๆ แล้วผูกกับเหล็กตรวนด้วยเชือกสีแดง หลังการประหาร เจ้าหน้าที่ผู้ช่วยจะตัดเหล็กตรวนออก และรับซองอั่งเปาไว้ ซึ่งมีความหมายว่านักโทษแสดงความขอบคุณที่ช่วยปลดปล่อยพันธนาการที่ต้องแบกรับมานานหลายสิบปี
หลินยวี่เฟิง นักข่าวอาวุโส ยังได้เล่าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการถวายของสักการะพระกษิติครรภโพธิสัตว์ (地藏王菩薩) ที่ลานประหาร โดยระบุว่าห้ามใช้เนื้อสัตว์ เช่น ไก่ เป็ด ปลา แต่ต้องเป็นอาหารเจเท่านั้น เนื่องจากมีผู้ดูแลสถานที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปี เคยมีกรณีหนึ่งที่ไม่ได้สังเกตและถวายเนื้อสัตว์ เหล่านักโทษในเรือนจำเล่าว่าวิญญาณของนักโทษประหารได้กลับมา และมีปฏิกิริยาเกิดขึ้นทั่วเรือนนอน จนกระทั่งเปลี่ยนกลับไปใช้ของสักการะเป็นอาหารเจ เรื่องลี้ลับจึงสงบลง
มีความคิดเห็นจากชาวเน็ตบางส่วนที่ระบุว่านักโทษประหาร “มีโทษทัณฑ์ที่ให้อภัยไม่ได้” และไม่จำเป็นต้องใช้ยาชาก่อนประหารชีวิต ในเรื่องนี้ ทนาย 巴毛 ได้โพสต์ใน Threads ชี้แจงว่า “การใช้ยาชาในนักโทษประหารไม่ใช่เพื่อให้นักโทษสบายตัว แต่เพื่อให้ผู้ประหารรู้สึกสบายใจมากขึ้น มีการเล่ากันว่าช่วงยุคที่ไม่ได้ใช้ยาชา บางครั้งการยิงนัดเดียวไม่สามารถปลิดชีวิตได้ นักโทษจะเลือดไหลและพยายามคลานหนีในลานประหาร ทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องรับการปรึกษาด้านจิตวิทยาหลังกลับบ้านทุกครั้ง”