เผยสาเหตุ ทำไมไม่ฟ้อง บอสมิน-บอสแซม แต่ บอสกันต์ไม่รอด ต่างกันที่ตรงไหน

Home » เผยสาเหตุ ทำไมไม่ฟ้อง บอสมิน-บอสแซม แต่ บอสกันต์ไม่รอด ต่างกันที่ตรงไหน
เผยสาเหตุ ทำไมไม่ฟ้อง บอสมิน-บอสแซม แต่ บอสกันต์ไม่รอด ต่างกันที่ตรงไหน

สำนักงานอัยการสูงสุด นัดฟังคำสั่งคดีของ 18 บอส ดิ ไอคอน กรุ๊ป ที่ DSI มีความเห็นสั่งฟ้องใน 5 ข้อหา คือ ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือ แชร์ลูกโซ่ ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่าย โดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่าย ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวงนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

ซึ่งวันนี้ (8 ม.ค.68) ครบกำหนดฝากขัง 7 ผัด หรือครบ 84 วัน ที่ขออำนาจศาลฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 17 คนแล้ว ส่วนบอสพอลจะครบกำหนดฝากขังพรุ่งนี้ (9 ม.ค.68) หากวันนี้อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง หรือยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ บอสทั้ง 18 คน จะถูกปล่อยตัวจากเรือนจำทันที

 ล่าสุด อัยการคดีพิเศษสั่งไม่ฟ้อง บอสมิน พีชญา และ บอส แซม ยุรนันท์ โดยอัยการสูงสุด มีคำสั่งฟ้อง บอสพอล และ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กับพวก เป็นผู้ต้องหารวม 19 ราย 

เมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้อง ทำให้ บอสมิน และบอสแซม จะถูกปล่อยตัวทันที และจะส่งสำนวนคดีกลับมาที่ DSI เพื่อให้อธิบดี DSI ลงความเห็นว่าจะฟ้อง หรือไม่ฟ้อง ถ้าไม่ฟ้องคดีจะจบ แต่ถ้าเห็นแย้งว่าควรฟ้อง อธิบดี DSI ต้องทำความเห็นกลับไปอัยการสูงสุดอีกครั้ง และให้อัยการสูงสุดพิจารณาชี้ขาดว่าจะเห็นพ้องตามอัยการคดีพิเศษ หรือเห็นพ้องตามอธิบดี DSI  

  • ด่วน! สคบ.สั่งเพิกถอนทะเบียน “ดิไอคอน กรุ๊ป” หลังจากนี้ถ้าขายสินค้า = ผิดกฎหมาย

รายงานข่าวแจ้งว่า สาเหตุที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง บอสมิน กับบอสแซม ในข้อหาที่ DSI ตั้งมาคือ “ตัวการร่วมกระทำความผิด” เคยมีการท้วงติงในที่ประชุมร่วมพนักงานสอบสวน DSI และอัยการ เพราะคำให้การของผู้เกี่ยวข้องและพยานหลักฐานที่ได้มา เชื่อได้ว่า บอสแซม ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นว่ามีการกระทำผิด ตามกฎหมายแชร์ลูกโซ่ เนื่องจากมีหลักฐานการทำสัญญาเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับดิไอคอนกรุ๊ป ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2566

เช่นเดียวกับ บอสมิน ที่ทำสัญญาว่าจ้างเป็นพรีเซ็นเตอร์ ในเดือนเมษายน พ.ศ.2566 ทว่าบริษัทดิไอคอนกรุ๊ป เริ่มจดทะเบียนก่อตั้งกิจการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 อีกทั้งยังไม่มีข้อบ่งชี้หรือพยานหลักฐานอื่น พิสูจน์ได้ว่ามีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการกระทำผิดเกี่ยวกับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต” ซึ่ง ต่างจากกรณีของ บอสกันต์ ที่มีพยานหลักฐานชัดเจนว่ามีส่วนรู้เห็นตั้งแต่ช่วงก่อตั้งบริษัทดิไอคอนกรุ๊ป

สำหรับข้อกล่าวหา ของ บอสแซม ยุรนันท์ และ บอสมิน พีชญา คือ ข้อหา

  1. ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน
  2. ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน
  3. ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
  4. ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรง ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงดำเนินกิจการในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจโดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าว ซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้นโดยผ่าฝืนต่อกฎหมาย
  5. ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต

ตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 มาตรา 3, 19, 20, 38, 46, 47, 54, พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560 มาตรา 3, 6, 18, 23 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 341, 343 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 3, 4, 5, 9, 11/1, 12, 15

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2534 มาตรา 3 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการ กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 มาตรา 3, 4, 5 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล พ.ศ.2560 พระราชบัญญัติวาด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 8

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ