ปี 2567 กำลังจะผ่านพ้นไปอีกปี ซึ่งปีนี้เป็นอีกหนึ่งปีที่มีข่าวใหญ่เกิดขึ้นมากมายให้ได้ติดตามและตามติด ซึ่งในหลายๆ เหตุการณ์ก็ทำให้ดาวที่เคยจรัสแสง โด่งดัง มีชื่อเสียง มีตำแหน่ง กลับชะตาพลิกผันกลายมาเป็น “ดาวหรี่แสง” ลงไป บางคนที่ชีวิตตกต่ำ บางคนหายเงียบไปจากการมองเห็นของคนในสังคม และวันนี้ Sanook News จะขอพาทุกท่านไปสำรวจกันหน่อยว่า ในปี 2567 มีใครกันบ้างที่กลายมาเป็น “ดาวหรี่แสง” ประจำปี
เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี
จากนักธุรกิจสู่นายกรัฐมนตรี เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองไทย แต่อายุการนั่งเก้าอี้นั้นแสนสั้นไม่ถึงหนึ่งปี หรือถ้าจะนับให้ดีก็คือ เป็นนายกรัฐมนตรีได้เพียง 358 วัน ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียง วินิจฉัยให้ พ้นจากตำแหน่ง จากการแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้ ครม.ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ
จากตำแหน่งผู้นำประเทศ ขยับตัวทำอะไรก็มีคนพูดถึง สูงสุดคืนสู่สามัญส่งต่อ “แสง” ไปยังนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แพทองธาร ชินวัตร หลังหมดหน้าที่ชื่อของ เศรษฐา ทวีสิน ก็ไม่ได้เคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเมืองมากนัก ทำให้เขาค่อยๆ เงียบหายไปจากความสนใจของคนในสังคมไปโดยปริยาย
กันต์ กันตถาวร
กลายเป็นคดีดังที่สะเทือนไปทั้งวงการบันเทิง สำหรับ “ดิ ไอคอนกรุ๊ป” บริษัทขายตรงชื่อดัง ก่อตั้งโดย วรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือ บอสพอล ที่ใช้ดารานักแสดงที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ และชักชวนให้ประชาชนมาร่วมลงทุน แต่สุดท้ายกลับไม่ดำเนินการและได้ผลตอบแทนตามที่ตกลงไว้
หนึ่งในผู้บริหารคนสำคัญ ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด ที่พ่วงตำแหน่งพรีเซนเตอร์ และอื่นๆ เรียกว่าเป็นทุกอย่างให้เธอ(บอส)แล้ว นั่นก็คือ กันต์ กันตถาวร พิธีกรชื่อดัง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในบรรดา “บอสดารา” กันต์คือคนที่ออกหน้าโปรโมตดิไอคอนกรุ๊ปมากที่สุด
วันที่ 16 ตุลาคม ตำรวจ ปคบ. ได้นำพยานหลักฐานขออำนาจศาลอาญาออกหมายจับผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องในคดีดิไอคอนกรุ๊ปทั้งหมด 18 คน ซึ่งกันต์ กันตถาวร ก็เป็นหนึ่งในนั้น และปัจจุบันยังคงถูกควบคุมตัวในเรือนจำ กลายเป็นดาวที่หรี่แสงลงแทบจะดับลงไป ในขณะที่งานด้านพิธีกร โดยเฉพาะรายการดังอย่าง “ร้องข้ามกำแพง” ก็ได้พระเอกมากความสามารถอย่าง ซี ศิวัฒน์ มารับหน้าที่แทน ซึ่งได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลามเลยทีเดียว
บิ๊กโจ๊ก สุรเชชษฐ์
นับตั้งแต่ตำรวจชุดคอมมานโดบุกบ้านของ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในเดือน ก.ย. 2566 ขณะที่เขามีสถานะเป็นแคนดิเดต ผบ.ตร. คนที่ 14 และเป็นการบุกค้นที่เกิดขึ้นก่อนการประชุมของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เพื่อลงมติแต่งตั้ง ผบ.ตร. เพียง 2 วัน เรื่องราวความวุ่นวายในวงการสีกากี ก็เหมือนกลายเป็นมหากาพย์ ที่แม้แต่แมวเก้าชีวิตอย่าง “บิ๊กโจ๊ก” ก็ยังต้องอับแสงลงอีกครั้ง
18 เม.ย. 67 พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลงนามคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล พร้อมลูกน้องอีก 4 นาย ออกจากราชการไว้ก่อน หลังจากถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง และศาลอนุมัติหมายจับคดีฟอกเงินเว็บพนันออนไลน์ นับเป็นความพลิกผันในชีวิตราชการอีกครั้ง หลังจากกลับเข้ามารับราชการอีกครั้งเมื่อ 3 ปีที่แล้ว
ล่าสุด 16 ธ.ค.67 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยกคำร้องที่ “บิ๊กโจ๊ก” ขอทุเลาคำสั่ง ตร.ให้ออกจากราชการไว้ก่อน โดยศาลชี้ว่า ผบ.ตร. มีอำนาจโยกย้าย ให้ออกราชการไว้ก่อนได้
ต้องยอมรับว่า แสงของบิ๊กโจ๊กค่อยๆ หรี่ลงตั้งแต่ถูกให้ออกจากราชการ แต่กลับสาดส่องไปทาง ดร.ศิรินัดดา หักพาล ผู้เป็นภรรยา ที่กำลังมีข้อพิพาท กรณีอดีตอาจารย์พิเศษสาวโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพรานแจ้งความให้ดำเนินคดี ข้อหาลักทรัพย์ในเคหสถานและบุกรุกเคหสถาน โดยอ้างว่า “ภรรยาบิ๊กตำรวจ” ก่อเหตุลักเงินสดและทองคำมูลค่าเกือบ 6 ล้านที่จะใช้ไว้เป็นสินสอดในงานแต่งงาน ขณะเดียวกันนางศิรินัดดา แจ้งความกลับคู่กรณีแจ้งความเท็จกลั่นแกล้งผู้อื่นให้รับโทษทางอาญา
ทนายตั้ม ษิทรา เบี้ยบังเกิด
เรียกว่าชีวิตพลิกแบบตีลังกาลงเหว สำหรับ ทนายตั้ม ษิทรา จากคนที่ก่อตั้ง มูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ ที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือคนที่ไม่รู้กฎหมาย มีคดีดังผ่านมือมาแล้วมากมาย ชื่อเสียงเลื่องลือว่าเป็นทนายขาลุย พร้อมชนกับผู้มีอิทธิพล อยู่ๆ กลับกลายมาเป็นผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงยาวเป็นหางว่าว มีคู่กรณีในอดีตออกมาแฉวีรกรรมกันมากมาย ซึ่งปัจจุบันเจ้าตัวยังถูกควบคุมอยู่ในเรือนจำ
จุดเปลี่ยนชีวิตของทนายตั้ม น.ส.จตุพร อุบลเลิศ หรือ มาดามอ้อย เศรษฐีนีซึ่งอาศัยอยู่ฝรั่งเศส แจ้งความ ทนายตั้ม เรื่องเงิน 71 ล้าน ซึ่งทนายตั้มชี้แจงว่าเงินจำนวนนี้ได้มาโดยเสน่หา ส่วนมาดามอ้อยปฏิเสธและยืนยันว่าไม่เคยให้เงินโดยเสน่หา แต่เงินที่ให้ไปเป็นการโอนเพื่อการลงทุนในแพลตฟอร์มลอตเตอรี่ออนไลน์ เมื่อทนายตั้มทำแอปไม่เสร็จ ฝั่งมาดามอ้อยจึงยกเลิกสัญญา และทวงเงิน 71 ล้านบาทคืน แต่สุดท้ายทนายตั้มก็ไม่คืน และไม่ยอมติดต่อกลับมาอีกเลย
นอกจากเงิน 71 ล้าน ที่จ้างทำแพลทฟอร์มหวยออนไลน์ แต่ไม่ได้งานและไม่ได้เงินคืน มาดามอ้อย ยังแฉอีกหลายคดี
- คดีที่ 2 ทนายตั้ม อ้างกับพี่อ้อยว่า เพราะไปทำธุรกรรมให้ ในกระเป๋าเงินดิจิตอล ทำให้ตัวเองถูกระงับบัญชี และไม่สามารถเปิดได้อีกเลย พี่อ้อยหลงเชื่อ จึงโอนเงินชดใช้ให้ 39 ล้านบาท
- คดีที่ 3 พี่อ้อยให้เงินไป 13 ล้านบาท เพื่อซื้อรถเบนซ์ แต่สุดท้ายรถไม่ได้เสียที ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีข่าวว่า ทนายตั้มหักส่วนแบ่งไว้ 1.5 ล้านบาทอีกด้วย
- คดีที่ 4 ว่าจ้างทนายตั้มออกแบบโรงแรมมูลค่ารวม 9 ล้านบาท ทั้งๆ ที่มูลค่าจริงเพียงแค่ 3.5 ล้านบาทเท่านั้น