ชายวัย 42 ลดน้ำหนักด้วยการ “งดแป้ง” แต่กลับอ้วนขึ้น หมอดูเมนูแล้วยังส่ายหัว พร้อมเผยเคล็ดลับ กินอิ่มแถมลดได้ 8 กก.
หลายคนมองแป้งเป็นศัตรูตัวร้ายในการลดน้ำหนัก กลัวว่าจะลดไม่สำเร็จ จึงตัดแป้งออกจากชีวิตเพื่อหวังผลลัพธ์ที่รวดเร็ว แต่สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน การกินแป้งน้อยเกินไปอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่สมดุล มีอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด และส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกาย หากรุนแรงอาจถึงขั้นหมดสติได้
นอกจากนี้ การรับประทานอาหารที่คาร์โบไฮเดรตต่ำมาก อาจทำให้ตับสร้างคีโตนมาใช้เป็นพลังงานแทน ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะคีโตแอซิโดซิสที่อันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานที่มีประวัติยาวนานและการหลั่งอินซูลินลดลงอย่างมาก ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงยิ่งขึ้น
งดคาร์โบไฮเดรตหวังลดน้ำหนัก แต่กลับอ้วนขึ้นและน้ำตาลในเลือดไม่คงที่
แพทย์หญิงหยางจื้อเหวิน เล่าประสบการณ์ว่า มีผู้ป่วยชายวัย 42 ปี เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 มาหลายปีและควบคุมไม่ได้ดี ระดับน้ำตาลสะสม (HbA1c) อยู่ที่ 9 ส่วนสูง 170 ซม. น้ำหนัก 90 กก. เขาตัดสินใจควบคุมน้ำตาลและลดน้ำหนักอย่างจริงจัง โดยปรับเปลี่ยนการกินและเริ่มฝึกเวทเทรนนิ่ง
ช่วง 2 สัปดาห์แรก น้ำหนักลดลง 3 กก. แต่หลังจากนั้นกลับหยุดนิ่งและค่อยๆ เพิ่มขึ้นอีก เขายังรู้สึกเหนื่อยง่ายขึ้นระหว่างออกกำลังกาย และต้องพักฟื้นนานกว่าเดิม แม้จะฝึกหนักมานาน 1-2 ปี แต่กล้ามเนื้อก็ยังเพิ่มขึ้นน้อย และน้ำตาลในเลือดยังคงแกว่งตัวไม่สม่ำเสมอ
เมื่อสอบถามจึงได้รู้ว่า เขาตัดแป้งออกจากอาหารทั้งหมดเพื่อหวังลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว มื้อเช้ากินแค่ไข่ต้มกับผักลวก มื้อกลางวันเป็นอกไก่จากร้านสะดวกซื้อคู่กับสลัด ส่วนมื้อเย็นกินเต้าหู้เย็นกับปลานึ่ง แม้ดูเหมือนเมนูจะเบาและไร้ภาระ แต่กลับขาดคาร์โบไฮเดรตโดยสิ้นเชิง
เลือกแป้งที่มีคุณภาพ ช่วยลดไขมัน เพิ่มกล้ามเนื้อ และรักษาระดับน้ำตาลให้คงที่
แพทย์หญิงหยางจื้อเหวิน แนะนำว่า แป้งไม่ใช่สิ่งที่ต้องงดทั้งหมด ควรปรับสมดุลอาหารตามหลัก “2:1:1” (ผัก 2 ส่วน, โปรตีนคุณภาพ 1 ส่วน, และแป้งคุณภาพ 1 ส่วน) นอกจากนี้ ยังสามารถใช้กลยุทธ์คาร์บไซคลิง เพื่อเสริมสมรรถภาพการออกกำลังกาย ช่วยสร้างกล้ามเนื้อ และลดไขมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พร้อมอธิบายว่า กลยุทธ์คาร์บไซคลิงเน้นการเติมไกลโคเจนในกล้ามเนื้อเพื่อเป็นพลังงานสำรอง หากรับคาร์โบไฮเดรตไม่เพียงพอ ไกลโคเจนจะลดลง ทำให้ออกกำลังกายเหนื่อยง่าย การกินคาร์โบไฮเดรตหลังออกกำลังกายนอกจากช่วยเติมไกลโคเจน ยังช่วยกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน ทำให้กล้ามเนื้อดูดซึมกรดอะมิโนได้ดีขึ้น ส่งผลให้กล้ามเนื้อฟื้นตัวและเจริญเติบโตเร็วขึ้น อีกทั้งกล้ามเนื้อที่เพียงพอยังมีส่วนสำคัญในการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหารให้คงที่
หลังปรับการกินและออกกำลังกายเป็นเวลา 2 เดือน เขาสามารถลดน้ำหนักได้ถึง 8 กิโลกรัม และมวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นอีก 1.5 กิโลกรัม แม้ตอนนี้จะกลับมากินแป้ง แต่ระดับน้ำตาลในเลือดกลับคงที่ยิ่งกว่าที่เคย