ภาพจริงหรือปลอม ไขปริศนาครอบครัว “คนคอยาว” ที่สุดในประวัติศาสตร์ อยู่ป่าอเมซอนจริงหรือ?
กลับมาเป็นประเด็นในโลกออนไลน์อีกครั้ง สำหรับภาพ “ชนเผ่าที่คอยาวที่สุดในประวัติศาสตร์” โดยอ้างว่าเป็นครอบครัวที่อาศัยอยู่ในป่า อย่างไรก็ดี หลังจากการตรวจสอบจากสื่อระดับโลก และผู้เชี่ยวชาญ ต่างยืนยันตรงกันว่า เป็นภาพปลอมที่ถูกสร้างขึ้นจาก AI
ในเรื่องนี้ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์อธิบายผ่านทางเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ช่วยยืนยันอย่างชัดเจนว่า “อันนี้มีนักข่าวไลน์ถามมาตั้งแต่หลายวันก่อนแล้ว และก็ตอบไปสั้นๆ ว่า ภาพปลอมจาก AI ปัญญาประดิษฐ์แน่นอนครับ ไม่มีหรอกคนที่คอยาวแบบนี้ ดูปุ๊บก็รู้ปั๊บ (แต่ก็ดันมีคนเชื่อเยอะเหมือนกันเฮะ)”
- อ.เจษฎ์ โพสต์ปม พระพุทธรูปแปลก มีตุ่มขึ้นเต็มองค์ ที่ทำชาวบ้านฮือฮา จุดธูปขอเลขเด็ด
- คนแห่ซูม ช่างสักถ่ายติดภาพหลอน หน้าคนโผล่บนหน้าอกสาว เชื่อเผลอรับ “พี่ชาย” มาจากเกาะ
พร้อมยกข้อมูลจากบทความที่เขียนโดย: Pasika KHERNAMNUOY, AFP ประเทศไทย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่ามนุษย์ที่มีลำคอยาวที่สุดในโลกเป็นหญิงชนเผ่าปาดองในประเทศเมียนมา ตรงกันข้ามกับโพสต์เท็จที่แชร์ภาพการค้นพบครอบครัวที่คอยาวที่สุดในป่าแอมะซอน ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระบุเช่นกันว่า ภาพที่ถูกแชร์หลายหมื่นครั้งบนโลกออนไลน์มีองค์ประกอบหลายจุดที่เป็นเบาะแสว่าภาพถูกสร้างด้วยเอไอ
“การค้นพบอันน่าทึ่งในป่าฝนอเมซอน!” เพจเฟซบุ๊กโพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 “พบโครงกระดูกยักษ์คอยาวที่สุดในโลก นับเป็นการเปิดเผยประวัติศาสตร์ครั้งใหม่” โพสต์ดังกล่าวซึ่งได้รับการกดถูกใจมากกว่า 120,000 ครั้งและถูกแชร์ถึง 5,500 ครั้ง แสดงภาพครอบครัวหนึ่งที่มีลำคอยาวผิดปกติและภาพของโครงกระดูกมนุษย์ที่มีกระดูกคอหลายสิบชิ้นในฟิลเตอร์ภาพสีซีเปีย
รูปภาพเหล่านี้ถูกแชร์พร้อมกับคำกล่าวอ้างลักษณะเดียวกันในโพสต์ภาษาไทยอื่นๆ รวมถึงภาษาอารบิก อังกฤษ ฮินดี ญี่ปุ่น และสวาฮีลี ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่างติ๊กตอก เธรดส์ และ X นอกจากนี้ บางโพสต์ได้แชร์ภาพของผู้หญิงสวมห่วงที่คอสองคนโดยตรงกลางเป็นผู้ชายในเครื่องแบบทหาร พร้อมระบุว่าเป็นภาพถ่ายจากปี 2403 ขณะที่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์บางส่วนสังเกตได้ว่านี่ไม่ใช่ภาพจริง แต่ก็มีผู้ที่เชื่อคำกล่าวอ้างเท็จนี้ “บนโลกใบนี้.คงมีอะไรที่เรายังไม่รู้อีกมากมายซินะ” ความคิดเห็นหนึ่งระบุ “โลกยิ่งพัฒนาแต่ความจริงมันก็เปิดเผยขึ้นในเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ” อีกความคิดเห็นปรากฏในโพสต์เดียวกัน
AFP ได้ตรวจสอบคำกล่างอ้างเท็จจำนวนมากที่อ้างว่ารูปจากปัญญาประดิษฐ์นั้นมาจากเหตุการณ์จริง ไม่ว่าจะเป็นฟุตเทจคลื่นโหมกระหน่ำที่อ้างว่าเป็นภาพของพายุเฮอร์ริเคนมิลตันในสหรัฐฯ ไปจนถึงวิดีโอปลอมที่อ้างว่าบิลล์ เกตส์ สนับสนุนอดีตนายกฯ อิมราน ข่าน ของปากีสถานหลังข่านถูกตัดสินจำคุก อย่างไรก็ตาม โพสต์เท็จต่าง ๆ นั้นแชร์ภาพถ่ายจริงเพียงภาพเดียว ส่วนภาพที่เหลือถูกสร้างด้วยเอไอ
การค้นหาภาพย้อนหลังบนกูเกิลพบภาพของผู้หญิงสวมห่วงทองเหลืองที่คอจากหนังสือชื่อ “Scenes From Every Land” หนังสือรวมภาพถ่ายนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2450 และมีกิลเบิร์ต โกรส์เวเนอร์ หัวหน้าสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟิกเป็นบรรณาธิการ คำบรรยายระบุว่าเป็นภาพนี้เป็นภาพของผู้หญิงในบริเวณเทือกเขาของรัฐฉานในเมียนมา และเป็นภาพถ่ายโดยอัลเฟรด เจ สมิธ บันทึกสถิติโลกกินเนสส์ (Guinness World Records) ปี 2561 ระบุว่า ผู้หญิงจากกลุ่มชาติพันธุ์ปาดองเป็นมนุษย์ที่มีลำคอยาวที่สุดในโลก โดยกลุ่มชาติพันธุ์นี้อาศัยอยู่บริเวณเทือกเขาทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของไทยและภาคตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนมา บันทึกดังกล่าววัดความยาวของลำคอของพวกเธอได้ถึง 19.7 เซนติเมตร โดยเป็นผลจากการสวมใส่ห่วงทองเหลืองมาเป็นระยะเวลานาน
การค้นหาภาพย้อนหลังและการค้นหาคำสำคัญอื่น ๆ พบภาพเดียวกันกับในโพสต์เท็จอีกสามภาพปรากฏในโพสต์ติ๊กตอกเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 คำบรรยายภาพระบุว่า “ภาพหลุดครั้งประวัติศาสตร์จากปี 2403 ของครอบครัวที่คอยาวที่สุดในโลกจำนวนสามครอบครัว” ภาพเหล่านี้ถูกเผยแพร่บนติ๊กตอกของบัญชีผู้ใช้งานชื่อ “FunnyAI” ซึ่งระบุที่หน้าโปรไฟล์ของตัวเองว่าเป็นผู้ผลิต “งานศิลปะแปลก ๆ ตลก ๆ จากเอไอ” ถึงแม้ว่า AFP จะไม่สามารถยืนยันแหล่งที่มาของภาพโครงกระดูกยักษ์ได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอยืนยันว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพที่ผ่านการดัดแปลง
ฉู่ หู หัวหน้าห้องปฏิบัติการการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) และการสืบค้นหลักฐานสื่อ มหาวิทยาลัยเพอร์ดู กล่าวว่า ภาพต่าง ๆ มีองค์ประกอบภาพที่ผิดปกติอยู่หลายจุด เช่น ใบหน้าคนที่บิดเบี้ยว ดวงตาของชายในภาพแรกไม่มีลูกตาดำ เส้นของไม้บนกำแพงบ้านขาดความต่อเนื่อง ศีรษะของคนในภาพหายไป รวมถึงชิ้นส่วนกระดูกคอและนิ้วมือที่มีจำนวนมากเกินความเป็นจริง “ภาพจากเอไอเหล่านี้เป็นแหล่งกำเนิดของการเผยแพร่ข้อมูลเท็จได้อย่างง่ายดาย” ฉู่ หู แสดงความเห็นกับ AFP การตรวจสอบภาพด้วย vera.ai เครื่องมือตรวจสอบองค์ประกอบภาพจากโครงการที่ AFP ร่วมเป็นพันธมิตร ระบุผลตรงกันว่ามีแนวโน้มสูงมากที่ภาพเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นด้วยเอไอ