พวกเขาคือทีมเก่าแก่ของยูเครน เคยคว้าแชมป์ลีก รวมทั้งเป็นไม่กี่ทีมจากไครเมีย เขตปกครองตนเองของยูเครน ที่เคยผ่านเข้าไปเล่นในยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก
อย่างไรก็ดี เรื่องราวเหล่านี้กลับต้องกลายเป็นอดีต หลังการผนวกรวมไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ที่ทำให้ทีมต้องแตกเป็นสอง
พบกับชะตากรรมอันน่าเศร้าของ ทราวิยา ซิมเฟโรปอล และวงการฟุตบอลไครเมีย ไปพร้อมกับ Main Stand
ทีมแกร่งจากแหลมไครเมีย
ใจกลางทะเลดำอันกว้างใหญ่ไพศาล บนดินแดนที่ยื่นออกมาจากแผ่นดินยูเครนที่เรียกกันว่าแหลมไครเมีย มีสโมสรที่เป็นความภาคภูมิใจของคนที่นี่ที่ชื่อว่า ทราวิยา ซิมเฟโรปอล ตั้งอยู่
พวกเขาคือสโมสรเก่าแก่ของยูเครน โดยถือกำเนิดขึ้นในปี 1958 ในชื่อ “อแวนฮาร์ด ซิมเฟโรปอล” และเปลี่ยนชื่อมาเป็น เปลี่ยนชื่อเป็น ทราวิยา ซิมเฟโรปอล ในปี 1963 ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ตอนนั้น ยูเครน เป็นหนึ่งในดินแดนของสหภาพโซเวียต ทำให้ในช่วงแรก ทราวิยา ต้องลงเล่นในลีกของโซเวียต โดยส่วนใหญ่จะวนเวียนอยู่ใน โซเวียต เฟิร์สลีก ลีกระดับสองของประเทศ แต่ก็เคยเลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นใน โซเวียต ท็อปลีก หรือลีกสูงสุดได้ในปี 1981
ทว่าหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 ก็ส่งผลมายังพวกเขาเช่นกัน เมื่อยูเครน เป็นหนึ่งในชาติที่ประกาศตัวเป็นเอกราช ทำให้ ทราวิยา ต้องย้ายจากลีกโซเวียต มาเล่นในลีกยูเครน ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น
และแค่เพียงฤดูกาลแรกพวกเขาก็สำแดงฤทธิ์ เมื่อสามารถคว้าแชมป์ยูเครนลีกสมัยแรกมาครองได้อย่างยิ่งใหญ่ หลังเอาชนะ ดินาโม เคียฟ ทีมแกร่งจากเมืองหลวงไปได้ 1-0 ในรอบเพลย์ออฟนัดชิงชนะเลิศ
แชมป์ดังกล่าวยังทำให้พวกเขาคว้าสิทธิ์ผ่านเข้าไปเล่นใน ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ที่รีแบรนด์จาก ยูโรเปียน คัพ เป็นครั้งแรกในฤดูกาล 1992-93 โดย ทราวิยา ผ่านรอบคัดเลือก เข้าไปเล่นในรอบแรก แต่น่าเสียดายที่ต้องพ่ายให้กับ ซิยง จากสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยสกอร์รวม 2-7
หลังจากนั้น ทราวิยา ก็เป็นทีมที่อยู่คู่กับลีกยูเครน และเป็นหนึ่งในไม่กี่ทีมที่ไม่เคยตกชั้นจากลีกสูงสุด พวกเขายังเคยคว้าแชมป์ ยูเครน คัพ มาครองได้อีกสมัยในฤดูกาล 2009-10 พร้อมได้ตั๋วผ่านเข้าไปเล่นในยูโรปาลีก
นอกจากนี้ พวกเขายังเป็นทีมที่มีกองเชียร์เหนียวแน่น และมีกลุ่มกองเชียร์ฮาร์ดคอร์ที่เรียกกันว่า “อุลตร้า” โดยส่วนใหญ่คือชาวเมืองซิมเฟโรปอล เมิองที่ใหญ่ที่สุดในไครเมีย ซึ่งมีประชากรอยู่ราว 330,000 คน
“ผมเป็นแฟนของทราวิยามา 30 ปี” อิกอร์ แฟนเดนตายของ ทราวิยา บอกกับ DW
อิกอร์ อยู่ในเกือบทุกช่วงเวลาที่ดีที่สุดของสโมสร รวมไปถึงตอนที่ ทราวิยา เปิดบ้านรับการมาเยือนของ ไบเออร์ เลเวอร์คูเซน ในศึกยูโรปา ลีก ครั้งแรกของสโมสร ในปี 2010 และยังจดจำบรรยากาศของเกมวันนั้นได้เป็นอย่างดี
“มีคนเป็นหมื่นมาชมเกมในสนามตอนที่ ไบเออร์ เลเวอร์คูเซน มาเยือนเมื่อปี 2010” เขาย้อนความหลัง
อย่างไรก็ดี หลังจากเดือนมีนาคม 2014 มันก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกแล้ว
วิกฤติการณ์ไครเมีย
แม้ว่าช่วงหลัง ทราวิยา อาจจะไม่ได้มีผลงานที่โดดเด่น เมื่อจบในอันดับกลางตารางเป็นส่วนใหญ่ แต่พวกเขาก็ยังคงเป็นสโมสรที่มีความมั่นคง และได้รับการสนับสนุนจากแฟนบอลอย่างเหนียวแน่น ที่ทำให้บางนัดมียอดผู้ชมสูงถึง 15,000 คน จากความจุ 19,000 คน ในโลโคโมทีฟ สเตเดียม
ทว่า ในฤดูหนาว 2014 ความหายนะก็มาเยือนพวกเขาโดยไม่ทันตั้งตัว..
มันเริ่มจากการที่ วิกเตอร์ ยานูโควิช ประธานาธิบดีของยูเครน ผู้ฝักใฝ่รัสเซีย ถูกรัฐสภาถอดถอนออกจากตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2014 หลังเขาปฏิเสธลงนามกับอียู และไปผูกสัมพันธ์กับรัสเซียแทน (การไม่ลงนามกับอียูของเขาเกิดการประท้วงที่ชื่อว่า “ยูโรไมดาน”)
การถอดถอนดังกล่าวทำให้ชาวยูเครนเชื้อสายรัสเซียในไครเมีย ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของที่นี่ (เนื่องจากดินแดนแห่งนี้เคยเป็นของรัสเซียมาก่อน แต่ยกให้ยูเครนดูแลหลังสงครามโลกครั้งที่ 2) รวมไปถึงเป็นฐานเสียงของ ยานูโควิช ไม่พอใจ และพากันออกมาประท้วงตามท้องถนน
หลังจากนั้นไม่นาน กองกำลังไม่ทราบฝ่าย (ซึ่งภายหลัง รัสเซีย ออกมายอมรับว่าเป็นฝีมือพวกเขาเอง) ได้เข้ามาควบคุมสถานการณ์ ด้วยการบุกยึดที่ทำการรัฐบาลของไครเมีย ตัดระบบการสื่อสารจากแผ่นดินยูเครน พร้อมกับแต่งตั้ง เซอกี อักเซนอฟ ซึ่งเป็นฝ่ายนิยมรัสเซีย ขึ้นมาเป็นผู้นำคนใหม่ และทำให้ไครเมีย อยู่ในความโกลาหล
กุสตาฟ สเวนสัน กองกลางทีมชาติสวีเดนของ ทราวิยา ซิมเฟโรปอล คือหนึ่งในผู้อยู่ในเหตุการณ์ในตอนนั้น เขาและเพื่อนร่วมทีมต้องหนีเอาตัวรอดกลางดึก โดยต้องโดยสารรถบัสเป็นเวลา 8 ชั่วโมงเพื่อไปขึ้นเครื่องบินออกจากยูเครน
“มันเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่น่ากลัวที่สุดในชีวิตของผม” สเวนสัน กล่าวกับ New York Times
สเวนสัน เล่าว่าในช่วงแรกเหตุการณ์เหมือนจะยังไม่มีอะไร เขายังคงลงเล่นเกมนัดอุ่นเครื่องนัดสุดท้ายหลังพักเบรกหน้าหนาวกับทีม แต่เมื่อกองกำลังมาถึงสถานการณ์ก็เปลี่ยนไป ทำให้เขาต้องออกจากที่นี่ให้เร็วที่สุด
“คุณคงไม่อยากอยู่ในสถานที่ที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 หรอกนะ คุณคงจะไม่ใจใหญ่หรอกถ้าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นมา” กองกลางชาวสวีเดนกล่าวต่อ
หลังจากนั้นไม่นาน รัสเซีย ก็เข้ายึดครองไครเมียโดยสมบูรณ์ ก่อนที่ในเดือนมีนาคม ชาวไครเมียจะลงประชามติแยกตัวออกจากยูเครน และเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากนานาชาติ
ก่อนที่มันจะเป็นจุดเริ่มต้นการล่มสลายของ ทราวิยา ซิมเฟโรปอล และฟุตบอลไครเมีย
สโมสรที่ถูกแยกออกเป็นสอง
การผนวกรวมไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ไม่เพียงแต่ทำให้นักเตะต่างชาติต้องหนีหัวซุกหัวซุนเท่านั้น แต่ยังทำให้แฟนบอลฮาร์ดคอร์ของ ทราวิยา ซิมเฟโรปอล ที่ส่วนใหญ่นิยมยูเครน ต้องลี้ภัยด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย
“เรากลัวความปลอดภัยในชีวิต” โอเล็ก โคมูเนียร์ แฟนบอลของ ทราวิยา ที่ตอนนี้ย้ายมาอยู่ในกรุงเคียฟหลังการผนวกรวมกล่าวกับ DW
“พวกเขาหลายคนเป็นผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหวไมดาน เราออกไปบนถนนด้วยธงของยูเครนและอียู ตอนที่พวกรัสเซียเข้ามา ผมถูกข่มขู่ เพื่อนของผมส่วนหนึ่งถูกลักพาตัวไป และหลายปีแล้วที่เราไม่รู้ว่าเขาไปอยู่ไหน?”
และมันก็ทำให้ทีม ทราวิยา ซิมเฟโรปอล สโมสรแห่งความภาคภูมิใจของเมือง ต้องแยกออกเป็นสองส่วน โดยมีความเชื่อทางการเมืองเป็นเส้นแบ่ง..
โดยฝั่งอุลตร้าที่นิยมยูเครน ย้ายไปอยู่ที่เมืองเบอริสลาฟ ทางตอนใต้ของยูเครน ซึ่งห่างจากพรมแดนไครเมียราวหนึ่งชั่วโมง และลงเล่นในดิวิชั่น 3 ของยูเครน โดยยังคงใช้ชื่อ กับโลโก้ แบบเดิม
“มันเป็นเรื่องที่เจ็บปวดมากที่สโมสรต้องหายไป” โอเล็คซี ครุเชอร์ อดีตกุนซือ ทราวิยา ชุดคว้าแชมป์ยูเครนลีกบอกเหตุผลกับ AFP
ในขณะที่ฝั่งฝักใฝ่รัสเซีย ได้เปลี่ยนชื่อทีมเป็น ทีเอสเค ซิมเฟโรปอล (TSK Simferopol) แต่คงโลโก้เดิมไว้ โดยเปลี่ยนแค่ตัวอักษรจากภาษายูเครนให้เป็นรัสเซีย และย้ายไปเตะในดิวิชั่น 3 ของรัสเซีย พร้อมกับอีก 2 ทีมจากไครเมีย
ดูผิวเผินมันเหมือนจะเหมือนทางออกที่ดี เพราะต่างฝ่ายต่างเตะในลีกที่ประเทศที่ตัวเองฝักใฝ่ แต่ความเป็นจริงมันไม่ง่ายขนาดนั้น
เพราะหลังจากนั้นไม่นาน สมาคมฟุตบอลยูเครน ได้ออกมาประท้วงกับสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า ว่า สมาพันธ์ฟุตบอลรัสเซีย “ขโมย” สโมสรของพวกเขา เนื่องจากแม้ว่าไครเมียจะแยกตัวออกจากยูเครนได้สำเร็จ แต่กระบวนการดังกล่าวก็ไม่ได้รับการยอมรับจากสหประชาชาติ
ทำให้ยูฟ่าต้องมาไกล่เกลี่ยในเรื่องนี้ ก่อนจะสั่งห้าม ทีเอสเค ซิมเฟโรปอล รวมถึงอีกสองทีมจากไครเมียไปเล่นในลีกหรือการแข่งขันของรัสเซียเด็ดขาด โดยจะมีการสร้างลีกไครเมียเป็นการทดแทน
“ผมไม่รู้ว่าการคว่ำบาตรส่งผลมาถึงวงการกีฬาได้อย่างไร มันโคตรไม่มีเหตุผล” เซอร์เก โบรอดคิน ประธานสโมสร ทีเอสเค ซิมเฟโรปอล กล่าวกับ The Guardian
อย่างไรก็ดี แม้ว่าไครเมียจะก่อตั้งลีกได้สำเร็จในปี 2015 โดยมี 8 ทีมร่วมชิงชัย แต่มันก็อยู่ในสถานะที่ค่อนข้างย่ำแย่ ทั้งสนามแข่งที่ไม่ได้มาตรฐาน ขาดแคลนนักเตะและผู้ตัดสินที่มีคุณภาพ รวมไปถึงการบริหารจัดการที่ค่อนข้างตามมีตามเกิด
“สำหรับ 8 สโมสร เราต้องการนักฟุตบอลอย่างน้อย 160 คน ตอนนี้ทั้งไครเมียเราน่าจะมีไม่เกิน 50 คนที่อยู่ในระดับนี้” อเล็กซานเดอร์ เกย์ดาช ผู้จัดการทั่วไปกับของ ทีเอสเค กล่าวกับ DW สมัยลีกก่อตั้งในปี 2015
นอกจากนี้ พวกเขายังประสบปัญหาในเรื่องเงินทุนและสปอนเซอร์ เนื่องมาจากนโยบายคว่ำบาตรจากประชาคมโลก ที่ทำให้บริษัทต่างประเทศถูกสั่งห้ามมาทำธุรกิจที่นี่ จนทำให้นักเตะบางคนต้องกินพิซซ่าประทังชีวิต (เนื่องจากราคาถูก)
“เราไม่มีคู่แข่งที่แข็งแกร่ง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เราอ่อนแอ และต้องใช้เวลาหลายปีที่จะไล่ตาม” โรมัน คาร์ตาชอฟ ผู้จัดการทั่วไปของ คาฟา เฟโดเรีย สโมสรในไครเมียลีกกล่าวกับ New York Times
ในขณะที่จำนวนแฟนบอลก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่พวกเขาต้องเผชิญ ซึ่งมันมีก็เป็นผลต่อเนื่องมาจากคุณภาพของลีกที่ตกต่ำ และทำให้ยอดผู้ชมหลักหมื่นตกลงมาเหลือเพียงหลักพันต้นๆ หรือบางเกมเหลือเพียงหลักร้อยเท่านั้น
“มันแค่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป คุณไปสนาม และเจอกับกองเชียร์แค่หยิบมือ มันเป็นแค่ความรู้สึกที่ว่างเปล่าและเศร้า แทนที่จะเป็นความรู้สึกแบบเดิมๆ” แฟนบอลของ ทราวิยา คนหนึ่งที่ไปดูทีมแข่งทุกนัดก่อนรัสเซียยึดครองกล่าวกับ The Guardian
“ฟุตบอลอาชีพโดยพื้นฐานได้ตายไปแล้วในไครเมีย” เซอร์เก โปร์เนียค แฟนบอลวัย 31 ปีของ ทราวิยา กล่าวเสริม
อย่างไรก็ดี การผนวกรวมกับรัสเซีย ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อ ทีเอสเค ฝ่ายเดียว เพราะ ทราวิยา ก็หนักไม่แพ้กัน การย้ายมาเล่นในลีกยูเครน ทำให้พวกเขาเสียฐานแฟนบอลเป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะมีแฟนบางส่วนตามมาเชียร์จากไครเมียก็ตาม
นอกจากนี้ พวกเขายังขาดแคลนงบประมาณในการทำทีม ในขณะที่แฟนบอลบางส่วนมองว่า ทีมที่เล่นอยู่ในยูเครน เป็นทีมที่สืบทอดทางจิตวิญญาณเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าสโมสรเดิมของพวกเขาได้ตายไปแล้วตั้งแต่ปี 2014
“การผนวกรวมของพวกมอสโกในแหลมนี้ได้ทำลาย บดขยี้ และฝังกลบสโมสรของเราจนไม่เหลือชิ้นดี” เกนนาดี มาลาคอฟ พนักงานรถไฟวัย 42 ปีกล่าวกับ AFP
“นับตั้งแต่ปี 2014 ไม่มีใครต้องการเราอีกแล้ว สโมสรยังคงมีอยู่ในทางปฏิบัติเท่านั้น”
อนาคตต่อจากนี้
“ฟุตบอลอาชีพในไครเมียกำลังจะหายสาบสูญ” อเล็คซานเดอร์ คราซิลนิคอฟ รองประธานสมาพันธ์ฟุตบอลไครเมียกล่าวกับ AFP
แม้ว่าการผนวกรวมกับรัสเซียจะส่งผลกระทบในด้านลบต่อวงการฟุตบอลไครเมียอย่างหนัก แต่ก็ไม่มีใครอยากให้มันเป็นอย่างนี้ แม้กระทั่งสมาคมฟุตบอลยูเครน ที่ถูกพรากความเป็นเจ้าของโดยพฤตินัยไปก็ตาม
ทำให้ในเดือนกันยายน 2017 ยูเครนได้ก่อตั้ง สมาคมฟุตบอลไครเมีย เป็นของตัวเอง เพื่อดูแลสโมสรจากไครเมียที่ถูกบีบให้ออกมาจากดินแดนแห่งนั้น รวมไปถึง ทราวิยา ซิมเฟโรปอล ที่มาอยู่กับพวกเขาตั้งแต่ปี 2015 เพื่อไม่ให้ฟุตบอลในไครเมียต้องล่มสลาย ในวันที่ยูเครนได้สิทธิ์คืน
ตรงกันข้ามกับชาวไครเมียเชื้อสายรัสเซีย ที่มองว่าอุปสรรคสำคัญของพวกเขาคือการคว่ำบาตรจากนานาชาติ และฟุตบอลของพวกเขาจะพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไปต่อจากนี้
“ผมเชื่อว่าไม่ช้าก็เร็ว ไครเมีย จะหลุดออกจากจุดนี้ และได้รับการยอมรับ เมื่อนั้นลีกไครเมียก็จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์ฟุตบอลรัสเซีย” โรมัน คาร์ตาชอฟ ผู้จัดการทั่วไปของ คาฟา เฟโดเรีย กล่าวกับ New York Time
“เรากำลังหาวิธีแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อสถานการณ์ในไครเมียตอนนี้ ในแง่มุมของสถานการณ์ค่อนข้างซับซ้อน เมื่อพวกเขายังคงถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติ”
เช่นกันสำหรับ เซอร์เก โบรอดคิน ประธานสโมสร ทีเอสเค ซิมเฟโรปอล สโมสรนิยมรัสเซียที่แยกมาจากทีมเก่า ที่มองว่าการยอมรับไครเมียในฐานะดินแดนหนึ่งของรัสเซีย จะทำให้วงการฟุตบอลของพวกเขาพัฒนาต่อไปได้
“ทุกคนจะชนะ รวมไปถึงประชาชนในแหลมไครเมีย หากประชาคมโลกทั้งหมด รวมไปถึงประชาคมยุโรป ยอมรับไครเมียว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย” โบรอดคินกล่าวกับ AFP
คงไม่สามารถบอกได้ว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายถูก หรือฝ่ายผิด เมื่อทั้งสองฝ่ายล้วนมีเหตุผลและนัยยะของตัวเอง ดังนั้น สิ่งที่ทำได้คงมีเพียงหวังให้ความขัดแย้งนี้จะคลี่คลายลงในเร็ววัน
เพื่อให้ฟุตบอลของไครเมียที่กำลังเดินถอยหลัง ได้ก้าวไปข้างหน้าสักที อย่างน้อยแค่ก้าวนึงก็ยังดี