เทียบโมเดลตระกูลการเมืองเขมรกับ “ชินวัตร” ในยุคของ “อุ๊งอิ๊ง-ฮุน มาเนต”
หลังนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกฯ คนใหม่ วีโอเอไทยคุยกับบรรณาธิการอาวุโสของวีโอเอภาคภาษาเขมร ว่าด้วยเส้นทางการเมืองรุ่นลูกของสองตระกูลการเมืองใหญ่ และอนาคตมิตรภาพไทย-กัมพูชา ในวันที่สัมพันธ์ครอบครัวและอำนาจการปกครองกลับมาทาบทับกัน
พลันที่เสียงรับรองในรัฐสภาเมื่อวันศุกร์เสร็จสิ้น นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ก็ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของประเทศ
เมื่อปีที่แล้ว เรื่องราวเดียวกันเกิดขึ้นที่ประเทศกัมพูชา เมื่อฮุน เซน นายกรัฐมนตรีผู้ครองอำนาจเกือบ 40 ปี ส่งต่อตำแหน่งนายกฯ ให้กับฮุน มาเนต ผู้เป็นบุตรชาย หลังพรรคประชาชนกัมพูชาชนะเลือกตั้งถล่มทลายแบบที่ไม่มีพรรคฝ่ายค้านลงเลือกตั้งต่อกร
แม้จะต่างด้วยเส้นทางและเงื่อนไขทางการเมือง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็บอกเล่าเรื่องราวในวันที่ตระกูลการเมืองใหญ่ของไทยและกัมพูชาที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน ได้ส่งมอบบทบาทและอำนาจทางการเมืองให้กับทายาทรุ่นลูก
ในวันเดียวกันกับการลงคะแนนรับรองนายกฯ คนใหม่ ฮุน มาเนต ส่งสารแสดงความยินดีไปยังแพทองธาร และระบุว่า “ในการนี้ ข้าพเจ้ารอคอยที่จะขยายความสัมพันธ์และความร่วมมือเพื่อประโยชน์ร่วมกันของประเทศและประชาชนของเราในด้านสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคและที่อื่น ๆ”
กิมเส่ง เม็น บรรณาธิการ (บ.ก.) อาวุโสของวีโอเอภาคภาษาเขมร ให้ความเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชา น่าจะเข้มแข็งขึ้นในช่วงการนำของบุตรวัย 46 ปีแห่งตระกูลฮุน และธิดาวัยย่าง 38 ปีแห่งตระกูลชินวัตร พิจารณาจากสายสัมพันธ์ยาวนานตั้งแต่สมัยพ่อที่ต่างฝ่ายต่างเรียกกันว่าเป็นพี่เป็นน้อง
“ความสัมพันธ์ของสองครอบครัวนั้นมากกว่าการเมืองกลายเป็นเรื่องการเมืองและความสัมพันธ์ของครอบครัว ผมเชื่อว่าผู้นำรุ่นหนุ่มสาวจะพยายามสร้างความสัมพันธ์อันดี ที่จะสร้างประโยชน์ให้กับทั้งสองประเทศ”
สื่อพนมเปญโพสท์ของกัมพูชา รายงานว่าความสัมพันธ์ระหว่างทักษิณและฮุน เซนมีความเป็นมายาวนานตั้งแต่ปี 2535 ตั้งแต่สมัยทักษิณทำธุรกิจที่กัมพูชา
ความสัมพันธ์นี้ยาวนานมาจนถึงสมัยที่ทักษิณขึ้นสู่การเมือง และทานทนต่อวิกฤตการณ์การเมืองทั้งในและนอกประเทศสารพัด ทั้งการบุกสถานทูตไทยในกัมพูชาเมื่อปี 2546 การรัฐประหารรัฐบาลไทยรักไทยและเพื่อไทย และความขัดแย้งกรณีเขาพระวิหาร
ในช่วงเวลาเหล่านี้ กัมพูชาไม่เพียงแต่เป็นที่รับรองการมาเยือนของทักษิณและสมาชิกตระกูลชินวัตรที่มาเยี่ยมเยือนฮุน เซน เป็นระยะ แต่ผู้นำกัมพูชายังเคยตั้งทักษิณที่ลี้ภัยจากไทยให้เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ และปฏิเสธคำขอส่งตัวทักษิณในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทยร้องขอเมื่อปี 2552 ด้วย
สมาชิกของสองตระกูลยังคงไปมาหาสู่กันทั้งในวาระส่วนตัวและในวาระทางการเมือง เห็นได้จากการเยือนบ้านจันทร์ส่องหล้าของฮุน เซนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังทักษิณกลับประเทศไทย ตามมาด้วยการเนือนกัมพูชาของแพทองธารและทีมงานพรรคเพื่อไทยในเดือนถัดมา และได้เข้าพบทั้งฮุน เซน ฮุน มาเนต และบุคคลระดับผู้นำอีกหลายคน
ทายาทการเมือง “อุ๊งอิ๊ง-ฮุน มาเนต”
ทายาทการเมืองของสองตระกูลเดินทางมาถึงจุดที่เป็นผู้นำด้วยเส้นทางที่ต่างกัน โดยฮุน มาเนต มีพื้นฐานทางด้านการเมืองมามากกว่าแพทองธารที่มีพื้นเพการทำงานมาจากวงการธุรกิจ
แพทองธารมีวุฒิด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทด้านการบริหารการโรงแรมนานาชาติ จากมหาวิทยาลัย Surrey สหราชอาณาจักร
ก่อนที่จะขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เธอเคยเป็นประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมของพรรคเพื่อไทย และรับตำแหน่งหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย หนึ่งในโครงการทางการเมืองของพรรคในช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2566
ก่อนหน้านั้น เธอเคยรับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารในกลุ่มธุรกิจโรงแรม บ.เรนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด และกรรมการบริษัทของเครือโรงแรมโรสวูด โรงแรม เทมส์ วัลลีย์ และสนามกอล์ฟอัลไพน์ โรงแรมเอสซี ปาร์ค
ด้านฮุน มาเนต จบการศึกษาจากวิทยาลัยกองทัพบกสหรัฐฯ ที่เมืองเวสต์พอยต์ รัฐนิวยอร์ก เมื่อปี 2542 ก่อนจะไปศึกษาในระดับปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบริสตอล ประเทศอังกฤษ
ส่วนเส้นทางทางการเมือง ฮุน มาเนต ถูกจัดวางให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพบกและรองผู้บัญชาการกองกำลังกัมพูชา และเคยถูกพ่อส่งไปบัญชาการรบในสมรภูมิเขาพระวิหารที่มีข้อพิพาทกับไทยเมื่อปี 2551 และปี 2553 ด้วย ตามการรายงานของสื่อเรดิโอ ฟรี เอเชีย ที่เป็นองค์กรในสังกัดเดียวกันกับวีโอเอ
บ.ก.อาวุโสของวีโอเอแขมร์ กล่าวว่าฮุน เซน พยายามปั้นบุตรชายคนนี้ให้เป็นผู้นำมานานแล้ว โดยนอกจากเรื่องการศึกษาและหน้าที่ทางทหาร เขายังพาฮุน มาเนต ร่วมเข้าพบกับผู้นำประเทศ ทั้งจีน เวียดนาม ญี่ปุ่น รวมถึงไทย ตั้งแต่ก่อนที่จะส่งต่ออำนาจ
สำหรับไทย บทบาทของทักษิณนับจากนี้จะเป็นอย่างไร และจะมีอิทธิพลต่อการทำงานของแพทองธารหรือไม่ เป็นเรื่องที่ยังคงต้องจับตามองกันต่อไป
แต่ในกรณีของกัมพูชา ฮุน เซน ในวัย 72 ปี ที่ควบตำแหน่งประธานวุฒิสภาและประธานองคมนตรี ยังไม่มีทีท่าจะวางมือจากการสั่งการไปยังกลไกบริหาร กิมเส็ง ยกตัวอย่างการจับกุมนักเคลื่อนไหวที่วิจารณ์โครงการร่วมมือเศรษฐกิจกัมพูชา-ลาว-เวียดนามเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ฮุน เซน พูดเองว่าเป็นคนสั่งให้จับกุม
“สำหรับผม ยุคนี้เป็นยุคแห่งความเคลื่อนไหว ยุคแห่งประชาชนและของผู้ลงคะแนนเสียงรุ่นใหม่ ถ้าพวกเขา (ฮุน มาเนต และแพทองธาร) มีไอเดีย และสามารถเป็นผู้นำได้ตามศักดิ์และสิทธิ์ของตนตามที่ได้รับเลือกตั้งมา ก็ดีสำหรับประเทศ”
“แต่ถ้ามีนักการเมืองอาวุโส โดยเฉพาะจากในครอบครัวของตัวเอง พ่อของพวกเขา ชักใยอยู่เบื้องหลัง พวกเขาก็จะไม่มีอำนาจในการตัดสินใจที่มากพอ” กิมเส็งกล่าว